GL กำไร Q4/59 ทุบสถิติทำนิวไฮ เตรียมขยายอาณาจักรสู่บริษัทระดับโลก

บมจ.กรุ๊ปลีส ผู้นำธุรกิจดิจิทัลไฟแนนซ์ในภูมิภาคเอเชีย รายงานกำไรสุทธิในไตรมาส 4/59 อยู่ที่ 324.4 ล้านบาท ทำสถิติสูงสุดใหม่ต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 9ทำให้กำไรทั้งปี 2559 พุ่งขึ้นถึง 1,062.8 ล้านบาท หรือมากกว่า 82% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งกำไรสุทธิดังกล่าวยังสูงกว่าเป้าหมาย 1,000 ล้านบาท ที่ฝ่ายบริหารได้กำหนดไว้ก่อนหน้า

นายมิทซึจิ โคโนชิตะ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กรุ๊ปลีส จำกัด (มหาชน) หรือ GL ผู้นำธุรกิจดิจิทัลไฟแนนซ์ในภูมิภาคเอเชียกล่าวชี้แจงว่า ผลประกอบการในรอบปีที่ผ่านมาสะท้อนถึงพัฒนาการที่ดีขึ้นในทุกตลาดที่ GLดำเนินธุรกิจอยู่ และกำไรสุทธิในไตรมาส 4/59 ยังได้เริ่มผนวกส่วนแบ่งกำไรจากบริษัท Commercial Credit and Finance PLC (CCF) ซึ่ง GL เข้าถือหุ้น29.99% ช่วงปลายปีที่ผ่านมา และถึงแม้ว่ากำไรสุทธิในปี 2559 สามารถสร้างสถิติใหม่ก็ตาม นายมิทซึจิยังกล่าวแสดงความมั่นใจว่าผลประกอบการสำหรับปี 2560 นี้ จะแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้นจากการขยายตัวของธุรกิจปกติ (organic growth) และจากการควบรวมกิจการใหม่ (M&A) โดย GL จะได้รับส่วนแบ่งกำไรเต็มทั้งปีจากการถือหุ้นใน CCF ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ประเทศศรีลังกา โดยคาดว่าผลประกอบการของ CCF ในปีนี้จะมีกำไรสุทธิ 32 ล้านเหรียญสหรัฐหรือมากกว่าที่ตั้งเป้าไว้เดิม 30 ล้านเหรียญสหรัฐ

นอกเหนือจากเงินลงทุนในประเทศศรีลังกา ธุรกิจของ GL ในเมียนมาร์จะเดินหน้าเต็มสูบในปีนี้หลังจากที่ GL ได้เข้าซื้อกิจการทั้งหมดของบริษัท BG Microfinance Myanmar (BGMM) และได้ทำข้อตกลงพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์กับนาย Aung Moe Kyaw ผู้นำธุรกิจสุราในเมียนมาร์ซึ่งเป็นเจ้าของบริษัท Century Finance โดยได้รับใบอนุญาตจากธนาคารกลางของเมียนมาร์ในการประกอบธุรกิจไฟแนนซ์

นายมิทซึจิ กล่าวชี้แจงว่า บริษัท BGMM ซึ่งขณะนี้มีสาขากว่า 30 แห่งทั่วประเทศได้ตั้งเป้าปล่อยเงินกู้รายย่อยยอดเงินรวมประมาณ 50 ล้านเหรียญสหรัฐในปีนี้ ในขณะที่บริษัทร่วมทุนอีกแห่งหนึ่งระหว่าง GL กับ Century Finance ซึ่งทำธุรกิจบริหารจัดการส่งผ่านลูกค้าสินเชื่อประเภทต่างๆ ให้กับ Century Finance คาดว่าจะสามารถขยายพอร์ตโฟลิโอได้ถึง 50 ล้านเหรียญสหรัฐเช่นกัน ซึ่งหากสามารถทำได้ตามเป้าของทั้ง 2 แห่ง ยอดสินเชื่อทั้งสิ้นในประเทศเมียนมาร์ในปีนี้จะมีมูลค่ารวม 100 ล้านเหรียญสหรัฐ

ในขณะเดียวกัน GL Finance Indonesia (GLFI) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนในอินโดนีเซียก็เดินหน้าขยายธุรกิจอย่างแข็งแกร่ง โดยนายมิทซึจิคาดว่าพอร์ตสินเชื่อในอินโดนีเซียปีนี้จะมีมูลค่าประมาณ 200 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งประกอบด้วยสินเชื่อเพื่อการบริโภคและไมโครไฟแนนซ์รูปแบบต่างๆ โดยกลุ่ม GL ตั้งเป้าว่าบริษัทGLFI สามารถสร้างผลตอบแทนในแง่ของผลกำไรอย่างมีนัยสำคัญในระยะยาว เนื่องจากตลาดอินโดนีเซียเป็นตลาดใหญ่ที่สุดในอาเซียนโดยมีประชากรมากกว่า250 ล้านคน

สำหรับธุรกิจในกัมพูชาซึ่งสามารถสร้างผลกำไรแซงหน้าประเทศไทยและกลายเป็นตลาดที่สร้างผลกำไรสูงสุดให้กับกลุ่ม GL นั้น นายมิทซึจิคาดว่า บริษัท GL Finance (GLF) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยถือหุ้นโดย GL จะสามารถเพิ่มพอร์ตสินเชื่อได้ประมาณ 1 เท่าตัวในปีนี้ หรือเพิ่มขึ้นเป็น 400 ล้านเหรียญสหรัฐภายในสิ้นปี สำหรับธุรกิจในกัมพูชานั้นถือว่าเป็นต้นแบบของความสำเร็จ โดยฝ่ายไอทีของ GL สามารถพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลไฟแนนซ์ที่มีประสิทธิภาพสูงและต้นทุนต่ำ โดยใช้ระบบไอทีและเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเข้าเสริมประสิทธิภาพการให้บริการลูกค้าทุกขั้นตอน ตั้งแต่การประเมินและอนุมัติเงินกู้ไปจนถึงการชำระค่างวดรายเดือนของลูกค้า ซึ่งGL ได้นำแพลตฟอร์มดิจิทัลไฟแนนซ์ดังกล่าวขยายไปใช้ในทุกตลาดที่ GL ดำเนินธุรกิจอยู่

นายมิทซึจิกล่าวชี้แจงว่า แพลตฟอร์มดิจิทัลไฟแนนซ์มีส่วนสำคัญมากในการช่วยให้ GL สามารถขยายไปสู่ตลาดใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพสูง ซึ่ง GL ขณะนี้มีธุรกิจอยู่ใน 7 ประเทศ ประกอบด้วย ประเทศไทย สิงคโปร์ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมาร์ อินโดนีเซียและศรีลังกา โดย GL ได้ตั้งเป้าว่าจะขยายไปสู่ตลาดใหม่อีก 13 ประเทศในทวีปแอฟริกาและยุโรปตะวันออกภายในปีนี้ ทำให้อาณาจักรธุรกิจครอบคลุมรวม 20 ประทศ ทั้งนี้ถือเป็นแผนยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการขยายมุ่งสู่บริษัทชั้นนำระดับโลก