ปั้นคนให้เป็นเงิน

อินเด็กซ์ ขยายธุรกิจสู่ Personal Branding นอกเหนือจากการเป็นอีเวนต์ เอเยนซี่ ตามรอยโมเดลต่างประเทศ เพราะเชื่อว่าสร้างคนให้เป็นแบรนด์ได้ และจากแบรนด์ (ที่ดี) ก็นำไปสู่ขุมทรัพย์มหาศาลที่พร้อมให้ตักตวงอย่างไม่รู้จบ

เมฆ-หมอก หรือ เกรียงไกร-เกรียงกานต์ กาญจนะโภคิณ 2 CEO บริษัท อินเด็กซ์ อีเว้นท์ เอเจนซี่ จำกัด (มหาชน) จึงจับมือกับดี้-นิติพงษ์ ห่อนาค มารับบท Creator ใน “ยังดี” Business Unit ใหม่ล่าสุดของอินเด็กซ์

ปัจจุบัน นิติพงษ์ เป็นกรรมการบริหาร จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ซึ่งเขาบอกขอบเขตงานสั้นๆ เชิงประชดประชันตามสไตล์ของเขาว่า “ก็บริหารร่างกายไป” ก่อนจะบอกถึงอีกเหตุผลหนึ่งกับการตัดสินใจ “ออกรบ” ว่า “มาช่วยเก็บเบี้ยใต้ถุนร้าน แกรมมี่งานเยอะ มีคอนเสิร์ตแทบทุกวีค”

ยังดี เขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า Young Dee หรือ ยังดี้ นั่นเอง เกิดขึ้นภายใต้แนวคิด “เอาคนเบื้องหลังมาทำ Branding เพิ่ม Value ขยายผลให้เกิดเม็ดเงินให้ได้”

ต้นแบบความสำเร็จของคนดังระดับโลกอย่าง มาร์ธา สจ๊วต, โดนัลด์ ทรัมป์, ริชาร์ด แบรนสัน และโอปราห์ วินฟรีย์ ล้วนเป็นบุคคลที่ผ่านการทำ Personal Branding และประสบความสำเร็จมาแล้วทั้งสิ้น ขณะที่คนไทยที่เขามองว่าน่าปั้นคือ ตัน ภาสกรนที หรือ ตัน โออิชิ ซึ่งมีคาแร็กเตอร์ชัดเจนสามารถต่อยอดได้หลากหลาย โดยยังดีจะโฟกัสคนที่ไม่ได้อยู่ในธุรกิจบันเทิงมาก่อน

เมฆ-หมอก บอกว่า นอกเหนือจากการเป็นนักแต่งเพลง ซึ่งเป็นบทบาทที่ทุกคนรู้จักกันดี แต่แบรนด์ “ดี้” ยังสามารถต่อยอดเป็นเงินเป็นทองได้อีกหลากหลายทาง อาทิ นักเขียน ทำรายการโทรทัศน์ เป็น Guest Speaker ตามสถาบันต่างๆ โดยเฉพาะการนำ Asset ของดี้ที่มีบทเพลงกว่า 350 เพลงมาเป็นจุดขายสำคัญในการทำ Musical ซึ่งเป็นโมเดลเดียวกับวงควีนที่มีละครเพลง We will rock you รวมถึง Mamia ที่นำเพลงของ Abba มาร้อยเรียงทั้งเรื่อง เป็นต้น

ซีอีโอแฝด อธิบายเพิ่มเติมว่า Personal Branding เกิดมาเพื่อขจัดปัญหา เหมือนทนายความ แต่มีข้อแม้ว่าโปรดักส์หรือคนที่จะปั้นจะต้องสนุก ทำอะไรได้เต็มที่ และที่สำคัญ เขาย้ำอยู่เสมอว่านี่ไม่ใช่การทำประชาสัมพันธ์ส่วนตัว สร้างภาพแบบที่นิยมทำกัน ดังนั้นที่มาที่ไปของคนที่จะมาเป็นลูกค้าก็ต้องคัดสรรกันพอควร โดยที่ Celebrity มีโอกาสสร้างแบรนด์ได้ง่ายที่สุด

นอกจากนี้จะต้องมี “ของติดตัว” มาบ้าง เพราะถ้ามาตัวเปล่าก็เหนื่อยเอาการ

แน่นอนว่านิติพงษ์ถูกวางเป็น Pioneer Brand ของยังดี ดังนั้นก่อนจะสร้างแบรนด์ให้คนอื่น นิติพงษ์จึงต้องถูกปั้นแต่งเพื่อเป็น Showcase ที่น่าจะการันตีความสำเร็จได้แบบไม่พลาดเป้า ตัวเลขคะแนนเสียงเป็นอันดับที่ 2 เมื่อครั้งสมัคร ส.ว. กรุงเทพมหานคร เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้นิติพงษ์เลือกที่จะไม่บริหารร่างกายเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป

สำหรับนิติพงษ์แล้ว รายได้ที่หดหายไปเกินครึ่งในยุคที่นอกจากเทปผีซีดีเถื่อนและเทปพี่ซีดีเพื่อน กอปรกับที่ถูกสื่อดิจิตอลรุกรานอย่างบ้าคลั่งนั้น จะถูกทดแทนด้วยส่วนแบ่งที่ไม่เปิดเผยจากตัวเลขประมาณการรายได้จากคอนเสิร์ตแรก “Nitipong on the hill concert” ที่คาดว่าจะเป็นเงินขวัญถุงประมาณ 20 ล้านบาท

นั่นก็คงจะเพียงพอที่ทำให้คนเบื้องหลังคนอื่นๆ เห็นช่องทางทำกินที่ไม่ต้องยึดติดกับกฎกติกาเดิมๆ อีกต่อไป

กระนั้น เมฆ-หมอก ยอมรับว่า นี่เป็นรูปแบบหนึ่งของ Artist Management ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ใครๆ ก็ทำกัน แต่มันไม่หมูเอาเสียเลย เพราะอย่างที่รู้กันอยู่ว่านักร้องทุกวันนี้เกิดง่าย ตายง่ายกันเป็นเบือ

สีฟ้า และภูษิต ไล้ทอง รวมทั้งผองเพื่อนที่มาให้กำลังใจดี้ อาจเป็น “ลูกค้า” รายต่อๆ ไปของ “ยังดี” ก็เป็นได้

แต่ที่แน่ๆ พวกเขาเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า จากนี้ไป “ทุกลายเซ็น ทุกลายมือของพี่ดี้จะแพงขึ้นแน่นอน”

Did you know?

คำว่า Personal Branding ถูกใช้เป็นครั้งแรกเมื่อปี 1997 โดย Tom Peters ในบทความเรื่อง The Brand Called You ในนิตยสาร FAST COMPANY