ศุภชัย เจียรวนนท์ เจน 3 เจ้าสัวน้อย CP ต่อยอดธุรกิจ 4.0

เริ่มต้นธุรกิจในทรู ในวัย 25 ปี มาวันนี้ ในวัย 49 ย่าง 50 ปี ศุภชัย เจียรวนนท์ มาถึงจุดเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในชีวิตอีกครั้ง

หลังการประกาศส่งไม้ต่อให้กับทายาท รุ่นที่ 3 ของตระกูลเจียรวนนท์ โดยมีศุภชัย ก้าวขึ้นมารับตำแหน่งใหญ่ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑหรือ ซีพี ต่อจากธนินท์ เจียรวนนท์ผู้เป็นพ่อ ที่ถือเป็นเจียรวนนท์รุ่นที่

มาฟังจากปาก ศุภชัย ถึงการสืบทอดธุรกิจในเครือซีพีของเขา ที่ได้ถูกเตรียมการล่วงหน้ามาแล้วได้ระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งเป็นตามแนวทางการสืบทอดตำแหน่งที่ ธนินท์ เจียรวนนท์ ได้วางไว้มาหลายปีแล้ว

เริ่มจากการเป็นกรรมการด้านการเงิน (Finance Committee) ของเครือซีพี ทำให้เห็นเรื่องสำคัญ นั่นคือ ภาพรวมเรื่องการลงทุนต่างๆ ของเครือ จากนั้นเมื่อ 2 ปีที่แล้ว เขาได้เข้าไปรับตำแหน่งรองประธานกรรมการ” ของเครือซีพี โดยดูแลเรื่องความยั่งยืน ธรรมาภิบาล และสื่อสารองค์กร เพื่อนำเครือซีพีเข้าสู่มาตรฐานโลก คือ ตามข้อตกลงแห่งสหประชาชาติ หรือ UNGC ที่กำหนดให้เอกชนขับเคลื่อนองค์กรไปสู่ความยั่งยืน ด้วยการให้ความสำคัญทั้งธุรกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ควบคู่กัน

นอกจากนี้ยังเกี่ยวพันไปถึงนักลงทุนที่เป็นสถาบันลงทุนระดับโลก ระยะหลังได้หันมาลงทุนในบริษัทที่ให้ความสำคัญในเรื่องความยั่งยืน หากบริษัทไหนต้องการลงทุนไม่ติดอันดับ ดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ Dow Jones Sustainability Indices แล้วจะลงทุนไม่ได้

ดังนั้นเป้าหมายสำคัญของเครือซีพี ที่ต้องนำพาองค์กรไปสู่แนวทางความยั่งยืน เพราะถือเป็นเทรนด์ของโลก และเครือซีพีเองก็ค้าขายในระดับโลก กว่า 100 ประเทศ และลงทุนกว่า 20 ประเทศ ซึ่งรายได้ 50% ของเครือมาจากต่างประเทศ ผมเข้าไปดูแลเรื่องนี้ให้กับเครือซีพีโดยตรง เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ซึ่งไม่มีใครรับผิดชอบโดยตรงเพราะเป็นเรื่องสำคัญมาก ที่เครือทำอยู่แล้ว แต่จะผลักดันให้ทำทั้งเครือ

ส่วนภารกิจสำคัญหลังจากการรับตำแหน่งซีอีโอของเครือซีพี คือ การสานต่อวิสัยทัศน์ ซีพี 4.0  ที่ธนินท์ เจียรวนนท์ ได้วางแนวทางไว้ 

ศุภชัย ยกตัวอย่าง เรื่องของอินโนเวชั่น คลาวด์คอมพิวติ้ง (Cloud Computing) หุ่นยนต์ (Robotic) การขนส่ง (Logistic) รวมทั้งการซินเนอยี่ระหว่างธุรกิจในเครือ เพื่อขับเคลื่อนองค์กรของเครือซีพีทั้งหมดไปสู่การแข่งขันในระดับเวทีโลกได้

ทั้งเครือจะหันมามุ่งเน้นเรื่องของการวิจัยและพัฒนา (อาร์แอนด์ดี) เรื่องของสตาร์ทอัพ อินโนเวชั่น รวมถึงการสร้างทาเลนท์ ใหม่ๆ โดยจะใช้เวลาในการศึกษา 6 เดือน จะเห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น

ปรับองค์กรรองรับทิศทางใหม่

เพื่อให้เครือซีพีขับเคลื่อนไปสู่แนวทางดังกล่าว ศุภชัย บอกว่า การปรับองค์กร และสร้างศักยภาพของโครงสร้างให้รองรับก็เป็นเรื่องที่ต้องทำต่อเนื่อง และค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้ตอบโจทย์วิชั่นดังกล่าวได้

เพราะถ้าเราไม่ปรับตัวเวลานี้ อนาคตเราก็ต้องถูกบีบให้ปรับ เรื่องของ robotic innovation เรื่องของ logistic เพราะโลกขับเคลื่อนไปทางนี้แล้ว

ยึดกฎเหล็กทายาทต้องเริ่มธุรกิจใหม่

ศุภชัย บอกถึงการมาสืบทอดรับตำแหน่งในเครือซีพี ของเจน 3 ที่จริงแล้ว เป็นทำงานกันเป็นทีม ผม คุณสุภกิต เจียรวนนท์ (พี่ชายคนโต) เป็นประธานกรรมการ คุณณรงค์ เจียรวนนท์ (พี่ชายคนที่สอง) รับตำแหน่งรองประธานจะมีการแบ่งงานกันทำ

ก่อนที่รุ่นที่ 3 จะก้าวขึ้นมารับสืบทอดงานในเครืออซีพีนั้น ทุกคนต้องไปเริ่มธุริจของตัวเองมาก่อน ซึ่งเป็นกฎที่ถูกวางไว้ชัดเจนในการห้ามไม่ให้ลูกหลานเข้ามาทำงานในธุรกิจที่บริหารโดยมืออาชีพ และไม่ได้มีปัญหาอะไรต้องไปเริ่มธุรกิจเองก่อน

รุ่นที่ 3 ทุกคนเริ่มธุรกิจใหม่กันมาก่อน ผมเองก็ถือเป็นเจเนอเรชั่นแรกของทรู ดังนั้นเจน 4 ที่เป็นรุ่นลูก และหลาน เองก็ทำตามกฎนี้เช่นกัน หรือในอนาคตหากเริ่มเรื่องโรโบติก ก็อาจมีเจน 4 เข้ามาทำ หรือเป็นธุรกิจที่มีอยู่เดิมแต่ไปบุกเบิกในประเทศใหม่ เช่น ลูกชายคนโต ของคุณสุภกิต ที่ไปบุกเบิก สาขาของห้างแม็คโคร ที่ประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นครั้งแรกในการไปลงทุนต่างประเทศของแม็คโคร

ทำไมทรูต้องตั้ง กรรมการผู้จัดการร่วม

สำหรับกลุ่มทรูที่ได้ปรับโครงสร้างไปเมื่อเร็วๆ นี้ ด้วยการแต่งตั้ง กรรมการผู้จัดการใหญ่ร่วม 2 คน คือ วิเชาวน์ รักษ์พงษ์ไพโรจน์ กรรมการผู้จัดการร่วมด้านพาณิชย์ และ อติรุฒม์ โตทวีแสนสุข กรรมการผู้จัดการใหญ่ร่วมด้านปฏิบัติการ

ส่วนศุภชัยขยับขึ้นเป็นประธานคณะกรรมการบริหาร จะกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ในภาพรวมขององค์กร

ศุภชัยบอกว่า โครงสร้างองค์กรลักษณะนี้ อยู่ในช่วงเวลาที่เหมาะสมกับสถานการณ์ของทรูเวลานี้ ที่ต้องมีการปรับเปลี่ยน เพื่อเดินไปสู่เป้าหมายและความท้าทายใหม่ๆ 

โดยเป้าหมายสำคัญของทรู คือ การเพิ่มส่วนแบ่งตลาดในแง่รายได้ เพิ่มจาก 25% ให้เป็น 30% เพื่อไปสู่อันดับ 2 ของตลาดมือถือ การลดต้นทุน รวมถึงการผลักดันธุรกิจด้านซอฟต์ไซต์ ไปในระดับภูมิภาค เช่น ดิจิตอล คอนเทนต์ และการขยายตลาดบรอดแบนด์ที่ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก รวมถึงการวางโครงข่าย โดยจะใช้เงินลงทุนในปีนี้ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท

ทั้งคุณวิเชาวน์ และคุณอติรุฒน์ ทำงานในทรูกันมานานเกิน 20 ปี ผ่านร้อนผ่านหนาวมาด้วยกัน เปรียแล้วก็เหมือนกับหยินและหยาง ทั้งคู่รู้ธุรกิจลึกมาก เมื่อมาทำงานคู่กันทำให้ถึงเป้าหมายได้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น

Did u Know

ศุภชัย เจียรวนนท์ เข้ารับตำแหน่ง ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ ในวัย 49 ปี ย่าง 50 ปี (เขาเกิดวันที่  24 มีนาคม 2510) ซึ่งก็เป็นวัยเดียวกันกับที่ ธนินท์ เจียรวนนท์ ผู้เป็นพ่อ ได้สืบทอดรับตำแหน่งเดียวกัน ต่อจาก จรัญ เจียรวนนท์ พี่ชายที่ร่วมบุกเบิกกันมาในรุ่นที่ 2

ธุรกิจในเครือเจริญโภคภัณฑ์ทำรายได้ 45,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดย 50% เป็นรายได้จากธุรกิจในต่างประเทศ