ผู้ผลิตคิดหนัก ! คนใช้งานสมาร์ทโฟน “นานขึ้น”

ภาพจาก AFP

วันศุกร์นี้ (3 มี.ค.) อาจเป็นวันดีของใครหลายคน แต่อาจไม่ใช่สำหรับบริษัทผู้ผลิตสมาร์ทโฟนทั่วโลก เนื่องจากมีตัวเลขการถือครองสมาร์ทโฟนในทวีปอเมริกา ยุโรป และจีน ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ (ที่อิ่มตัวแล้ว) ปรากฏออกมา โดยบริษัทวิจัย Kantar WorldPanel ComTech ที่พบว่า ผู้บริโภคใช้งานสมาร์ทโฟนหนึ่งเครื่องยาวนานขึ้นประมาณสองเดือนในทุกภูมิภาค

ยกตัวอย่างเช่น ในสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2013 พบว่า จากผู้บริโภคที่เคยใช้งานสมาร์ทโฟน 20.5 เดือนจึงจะอัปเกรดเครื่องสักที มาในปี 2016 พบว่า ผู้ใช้บริโภคใช้สมาร์ทโฟนหนึ่งเครื่องนานขึ้นเป็น 22.7 เดือนแล้ว หรือในสหภาพยุโรป สมาร์ทโฟนหนึ่งเครื่องเคยใช้ได้นาน 18.6 เดือนเท่านั้น ในปี 2013 มาถึงตอนนี้กลายเป็นว่า ชาวยุโรปใช้สมาร์ทโฟนหนึ่งเครื่องนานขึ้นเป็น 20.2 เดือนแล้วเช่นกัน

ขณะที่ตัวเลขในจีนแผ่นดินใหญ่ก็พบว่า เปลี่ยนแปลงไปไม่ต่างจากสหรัฐอเมริกา และยุโรป แถมอาจเปลี่ยนแปลงสูงสุดเลยก็ว่าได้ จาก 18.3 เดือนในปี 2013 มาเป็น 21.6 เดือนในปี 2016

แน่นอนว่าตัวเลขนี้มีผลต่อบริษัทผู้ผลิตสมาร์ทโฟนที่ต้องมีการเปิดตัวสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ในทุกๆ ปีให้คิดหนักมากขึ้น ทั้งในเรื่องช่วงเวลาว่า จะเปิดตัวในช่วงเวลาใดดี หรือฟีเจอร์ที่จะต้องเพิ่มเข้ามาในสมาร์ทโฟนของตนเองให้สามารถดึงดูดใจผู้ใช้งานที่ใช้เครื่องเก่าให้เปลี่ยนใจได้เร็วขึ้นด้วย

ในการสำรวจของ Kantar ยังพบว่า ผู้บริโภคทุกวันนี้มีความจงรักภักดีกับแพลตฟอร์มที่ตนเองใช้บริการอยู่สูงมาก และน้อยมากที่จะอยากเปลี่ยนไปใช้แพลตฟอร์มอื่น ขณะที่ผู้ผลิตเองก็มุ่งผลิตสินค้าเพื่อขายลูกค้าเก่า แทนที่จะเปิดตลาดไปยังกลุ่มประเทศเกิดใหม่ที่มีอัตราการเติบโตสูงเช่นกัน

เมื่อสอบถามเกี่ยวกับแบรนด์ที่ผู้บริโภคให้ความจงรักภักดีสูงสุดหนีไม่พ้นไอโฟน จากแอปเปิล (Apple) ซึ่งในสหรัฐอเมริกานั้น ได้คะแนนจากผู้บริโภคไปถึง 92 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว และกรณีของไอโฟนนี้ก็เป็นตัวอย่างที่ดีที่แสดงให้เห็นว่า การสร้าง Ecosystem ให้ผู้บริโภคเข้ามาใช้งานติดใจจนถอนตัวไม่ขึ้นนั้น เป็นอย่างไรด้วย

ส่วนในปีต่อๆ ไปซึ่งสมาร์ทโฟนอาจไม่ได้มีอัตราการเติบโตที่หวือหวาแล้ว ผลการสำรวจจาก Kantar ชี้ว่า เป็นไปได้ที่นักวิเคราะห์จะมุ่งไปหาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เช่น VR Headset, AI หรือนาฬิกาอัจฉริยะในฐานะไข่ทองคำฟองใหม่แทน

ที่มา : http://manager.co.th/CyberBiz/ViewNews.aspx?NewsID=9600000021933