มหากาพย์ข่าวฉาว Uber

ทราวิส คาลานิก (Travis Kalanick) ซีอีโอ Uber

เรียกว่าเป็นปีที่งานเข้าสุดขีดสำหรับบริษัทที่ได้ชื่อว่าเป็นบริษัทเกิดใหม่ที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลก เพราะช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา บริการ ‘รถร่วมเดินทาง’ อย่าง ‘อูเบอร์’ (Uber) ตกเป็นข่าวฉาวจนเกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องบุคลากรและภาพลักษณ์บริษัท

ย้อนไปเมื่อมกราคม 2017 แอปพลิเคชันที่ยืนยันว่าตัวเองไม่ใช่แท็กซี่อย่าง Uber ถูกรายงานว่าสูญเสียลูกค้าไปมากกว่า 200,000 รายในสัปดาห์เดียว หลังจากมีการรณรงค์ให้ลูกค้าในสหรัฐฯ ร่วมกันลบอูเบอร์ออกจากสมาร์ทโฟนภายใต้โครงการ #DeleteUber เพื่อประท้วงที่อูเบอร์มีภาพลักษณ์สนับสนุนนโยบายประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้น เพราะในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา Uber ตกเป็นข่าวฉาวชวนปวดหัวชนิดวันเว้นวัน นับตั้งแต่ 19 กุมภาพันธ์ 2017 ซึ่งเป็นวันที่ซูซาน โฟว์เลอร์ (Susan Fowler) อดีตวิศวกรซอฟต์แวร์หญิงของ Uber ออกมาเปิดเผยผ่านบล็อกว่า เธอเคยถูกหัวหน้างานที่ Uber ในสหรัฐฯ ล่วงละเมิดทางเพศ

***เหยียดเพศ-ยาเสพติด-ถูกนักลงทุนฟ้อง

อดีตวิศวกรซอฟต์แวร์หญิงของ Uber ระบุว่าถูกล่วงละเมิดทางเพศด้วยคำพูด แต่เมื่อร้องเรียนไปยังฝ่ายทรัพยากรบุคคล รวมถึงผู้บริหารหลายคนของ Uber กลับไม่ได้รับความเป็นธรรม แถมยังถูกกลั่นแกล้งไม่อนุญาตให้ย้ายทีม รวมถึงการได้รับคะแนนประเมินที่ไม่ดี ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นวัฒนธรรมองค์กรของ Uber ที่เข้าข่ายเหยียดเพศ

ซีอีโอ Uber อย่างทราวิส คาลานิค (Travis Kalanick) ประกาศจ้างอีริค โฮล์เดอร์ (Eric Holder) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมให้เข้ามาสอบสวนปัญหาภายในองค์กรอย่างจริงจัง หวังจะลบข้อครหาและจัดระเบียบในองค์กร

22 กุมภาพันธ์ สื่อใหญ่อย่างนิวยอร์กไทมส์ (The New York Times) ประกาศตีแผ่ว่าพนักงาน Uber หลายคนเสพยาเสพติด ขณะที่เคยมีกรณีที่ผู้บริหารรายหนึ่งของ Uber กระทำสิ่งไม่เหมาะสมอย่างการจับหน้าอกพนักงานหญิงหลายคนในรถเวียนของบริษัท ซึ่งกรณีนี้ผู้จัดการถูกไล่ออกแล้วในเวลาต่อมา

อามิต สิงหล (Amit Singhal) อดีตวิศวกรฝ่ายซอฟต์แวร์และรองประธานอาวุโสของกูเกิล ขณะขึ้นกล่าวบนเวที Google I/O เมื่อปี 2013 ล่าสุดผู้บริหารรายนี้ต้องลาออกจาก Uber หลังจากมีการประกาศเพียง 5 สัปดาห์ เนื่องจากไม่มีการชี้แจงต่อ Uber ว่าได้ลาออกจาก Google หลังถูกสอบสวนคดีล่วงละเมิดทางเพศ

23 กุมภาพันธ์ ผู้ถือหุ้นใน Uber เองออกมาแฉว่ากลุ่มนักลงทุนพยายามเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กรของ Uber แล้ว แต่บริษัทละเลยขั้นตอนหรือข้อตกลงที่ทางกลุ่มพยายามเจรจามานานหลายปี โดยนักลงทุนที่ออกมาเปิดเผยข้อมูลซ้ำเติมนี้คือคู่สามีภรรยาอย่าง Freada และ Mitch Kapor ซึ่งเขียนจดหมายเปิดผนึกถึงผู้ถือหุ้นและกรรมการบริหาร Uber

แม้แต่กูเกิล (Google) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้น Uber อีกรายก็เปิดฉากฟ้อง Uber ฐานขโมยข้อมูลที่เกี่ยวกับการพัฒนาเทคโนโลยีรถขับเคลื่อนตัวเอง การฟ้องร้องนี้ดำเนินในนามเวย์โม (Waymo) ซึ่งในคำฟ้องระบุว่าเทคโนโลยีที่อดีตวิศวกร Google ขโมยไปให้ Uber คือเทคโนโลยีเซ็นเซอร์เลเซอร์ที่จะทำให้รถขับเคลื่อนตัวเองสามารถวิเคราะห์สิ่งแวดล้อมรอบตัวได้

24 กุมภาพันธ์ Uber ปฏิเสธข้อกล่าวหาของ Google พร้อมกับประกาศจะสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์

ขณะเดียวกัน Uber ก็ประกาศชัดว่าไม่มีการเล่นสกปรกกับ Fowler อดีตวิศวกรหญิงที่ออกมาเปิดโปงเรื่องการถูกละเมิดทางเพศในสำนักงาน Uber โดย Fowler ประกาศเตือนทางทวิตเตอร์ให้เพื่อนฝูงระวังว่าจะมีการสอดแนมข้อมูลส่วนตัวของเธอเพื่อป้ายสีหรือบิดเบือนรูปคดี จุดนี้ Uber ระบุว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดกับสิ่งที่อดีตวิศวกรหญิงพูดถึง

เวลานั้นมีข่าวว่า Uber ออกมาแก้ต่างกรณีรถขับเคลื่อนตัวเองที่บริษัทพัฒนาอยู่เกิดฝ่าไฟแดงที่ซานฟรานซิสโก โดยบอกว่าเป็นความผิดของมนุษย์หรือ ‘human error’ จุดนี้รายงานจาก The New York Times ระบุว่าไม่จริง เพราะรถต้นเหตุคือรถขับเคลื่อนตัวเองของ Uber ที่ไม่สามารถวิเคราะห์ไฟแดงซึ่งแสดงอยู่มากกว่า 6 จุด รวมถึงประชาชนที่รอข้ามถนนได้ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งหากจะเป็น ‘human error’ ก็มีเพียงกรณีเดียว คือกรณีที่มนุษย์ไม่สามารถแก้ไขข้อผิดพลาดของรถอัตโนมัติที่พัฒนาได้ทันเวลา

จบ 1 สัปดาห์ กระแสจากนักวิเคราะห์ประเมินยกใหญ่ว่า Uber จำเป็นต้องแถลงข่าวใหญ่ ซึ่งอาจหมายถึงการปลด Kalanick ออกจากตำแหน่ง แต่ไม่ทันไร ข่าวเชิงลบจาก Uber ก็ตามมาอีก 1 สัปดาห์เต็ม

***เสียมือดีหลายคน

27 กุมภาพันธ์ เป็นวันที่มีข่าวว่าผู้บริหารด้านวิศวกรรมระดับอาวุโสของ Uber ลาออกตามคำสั่งของซีอีโอ Uber ผู้บริหารรายนี้คืออามิต สิงหล (Amit Singhal) เนื่องจาก Uber และตัวซีอีโอเองเพิ่งทราบจากรายงานของสำนักข่าวรีโค้ด (Recode) ว่า Singhal เคยมีประวัติถูกสอบสวนเรื่องละเมิดทางเพศขณะทำงานที่กูเกิลมาก่อน แน่นอนว่า Singhal ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาตามระเบียบ โดยไม่มีการเปิดเผยว่า Singhal คือผู้เกี่ยวข้องกับคดีล่วงละเมิดทางเพศครั้งล่าสุดของ Uber หรือไม่

28 กุมภาพันธ์ ถึงคราวซีอีโอ Uber เป็นข่าวฉาวเสียเอง เมื่อสำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) เผยแพร่วิดีโอที่ซีอีโอ Uber ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ จนโต้เถียงกับผู้ขับ Uber เรื่องรายได้จากบริการที่ลดลง

ซีอีโอ Kalanick ออกแถลงการณ์ขออภัยต่อสิ่งที่เกิดขึ้น โดยยอมรับว่าตัวเขาจะตั้งใจปรับปรุง และจะพยายามหาที่ปรึกษาเพื่อให้ตัวเขาสามารถเป็นผู้นำองค์กรที่ดีขึ้น โดยเนื้อหาในคลิปมีคำพูดไม่เหมาะสมที่ซีอีโอใช้กับคนขับรถที่ทราบว่าผู้โดยสารเป็นซีอีโอของ Uber แล้วชวนคุยเรื่องสถานะของบริการ UberBlack ก่อนจะวิจารณ์ว่าปัจจุบันความต้องการเรียกรถหรู UberBlack ลดลง ขณะเดียวกันนโยบายลดราคาของ Uber ก็ส่งผลให้รายได้ของผู้ขับลดลงตามไปด้วย จุดนี้ Kalanick ตอบโต้ทำนองว่าความผิดพลาดเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะตัวผู้ขับเอง ก่อนจะลงจากรถไป

แอนโธนี เลเวนโดฟสกี (Anthony Levandowski) ประธานฝ่ายรถขับเคลื่อนตัวเองอัตโนมัติของ Uber ขณะเปิดตัวรถที่ซานฟรานซิสโก แผนกงานนี้ถูก Google ฟ้องร้องว่า Levandowski ลงมือขโมยไฟล์ลับมากกว่า 14,000 ไฟล์ขณะที่เคยทำงานในโครงการพัฒนารถขับเคลื่อนตัวเองให้ Google มาก่อนหน้านี้

1 มีนาคม คู่แข่งรายสำคัญของ Uber อย่างลิฟต์ (Lyft) ประกาศเพิ่มทุน 500 ล้านเหรียญสหรัฐในการสู้กับ Uber การฉวยจังหวะที่คู่แข่งกำลังสูญพลังนี้สะท้อนว่า Lyft ต้องการให้ภาวะที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้กลับมาเกิดขึ้นอีกครั้ง นั่นคือช่วงปลายเดือนมกราคม Lyft ที่แสดงท่าทีต่อต้านประธานาธิบดีทรัมป์อย่างชัดเจน นั้นได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้นทันทีจนไต่ขึ้นมาเป็นแอปพลิเคชันฮิตในสหรัฐอเมริกา

ช่วงเวลาดังกล่าวถือเป็นครั้งแรกที่ Lyft สามารถเอาชนะ Uber ได้ในแง่ของอันดับแอปยอดนิยม ส่วนหนึ่งเป็นเพราะแคมเปญ #DeleteUber ได้รับเสียงตอบรับจากดาราคนดังในฮอลลีวู้ดหลายราย เช่น ซูซาน ซาเรนดอน (Susan Sarandon) ที่ร่วมทวีตข้อความ #DeleteUber ออกไปจนแคมเปญนี้เป็นที่รับรู้ทั่วโลกโซเชียล ส่งให้ยอดดาวน์โหลด Lyft เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในเวลานั้น

2 มีนาคม สื่อมวลชนอเมริกันตีข่าวว่า Uber ว่าจ้างสำนักงานทนายความเพิ่มอีกแห่ง เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับอดีตวิศวกรหญิงที่ดีแผ่เรื่องถูกละเมิดทางเพศที่ Uber อย่าง Susan Fowler ที่ระบุว่า Uber ตั้งข้อหาว่าเธอคือผู้ทำแคมเปญ #DeleteUber เพื่อรณรงค์ให้ผู้ใช้ลบบัญชี Uber ทิ้งไป โดยยืนยันว่า Uber กำลังพยายามขุดคุ้ยข้อมูลส่วนตัว จึงได้ว่าจ้างทนายความส่วนตัว

จุดนี้ Uber ยอมรับว่าได้จ้างบริษัททนายความแห่งที่ 2 จริง แต่เพื่อสอบสวนกรณีของ Susan Fowler โดยเฉพาะ และไม่มีการขุดคุ้ยชีวิตส่วนตัวอย่างที่ถูกกล่าวหา

โฉมหน้ารถหรูขับเคลื่อนตัวเองได้ของ Uber

ในช่วงเวลานี้ Uber เปลี่ยนแผนพัฒนารถไร้คนขับด้วยการเดินเรื่องขออนุญาตให้นำรถกลับมาทดสอบในแคลิฟอร์เนียอีกครั้งหลังจากมีรายงานพบอุบัติเหตุ

3 มีนาคม Uber ถูกตีแผ่เรื่องเครื่องมือลับอย่าง ‘เกรย์บอลส์’ (Greyballs) ซึ่งสำนักข่าวนิวยอร์กไทมส์ระบุว่า Uber ได้แอบต่อกรกับเจ้าหน้าที่ภาครัฐอย่างลับ ๆ มานานหลายปีผ่านแอปพลิเคชันชื่อเก๋ไก๋นี้ โดยเฉพาะในพื้นที่เมืองใหญ่ที่เจ้าหน้าที่รัฐพยายามปิดกั้นบริการ Uber ทั้งบอสตัน ปารีส และลาสเวกัส

รายงานชี้ว่า Greyball จะเก็บข้อมูลจากแอปพลิเคชัน Uber เพื่อวิเคราะห์ให้รู้ว่าสำนักงานของเจ้าหน้าที่ในแต่ละเมืองนั้นตั้งอยู่ที่ใด ข้อมูลนี้จะทำให้ผู้ขับทราบว่า ไม่ควรจะขับรถเข้าไปใกล้พื้นที่เหล่านี้ ซึ่งวิธีนี้จะทำให้ลดความเสี่ยงในการถูกจับกุมได้

ช่วงเวลานี้ Uber สูญเสียผู้บริหารระดับสูงฝ่ายผลิตภัณฑ์ไปอีกคน นั่นคือเอ็ด เบเกอร์ (Ed Baker) ซึ่งร่วมงานกับ Uber มานานกว่า 3 ปี จุดนี้สำนักข่าว Recode รายงานถึงอีเมลของ Baker ที่ระบุว่าตัวเขาต้องการย้ายไปทำงานในภาคสาธารณะ แต่การลาออกครั้งนี้ยังเป็นที่กังขาเพราะ Baker มีภาพพฤติกรรมที่ Recode ใช้คำว่า ‘questionable’ แสดงถึงความไม่ชัดเจนว่า Baker ไม่เกี่ยวข้องกับคดีล่วงละเมิดทางเพศอดีตวิศวกรหญิง

ท่ามกลางวิกฤติของ Uber ผู้บริหารระดับสูงที่ดูแลด้านทรัพยากรบุคคลหรือ HR ด้วยอย่างไรอัน กราฟส์ (Ryan Graves) กลับหายตัวไปจากสำนักงาน Uber อย่างไร้ร่องรอย โดยผู้บริหารรายนี้เคยเป็นซีอีโอคนแรกของ Uber มาก่อน Kalanick และมีดีกรีเป็นผู้รับรู้การสร้างแอปพลิเคชัน ‘Greyball’ ตั้งแต่ต้น

กระทั่งรายงานข่าวเกี่ยวกับการไม่เข้าออฟฟิศ Uber ถูกแพร่ไป บุคคลในข่าวอย่าง Graves จึงออกมาทวีตเมื่อ 5 มีนาคมว่าจะพยายามปรับปรุงเพื่อให้ Uber รองรับความต้องการของชาวเมืองในยุคดิจิตอลต่อไป พร้อมกับบอกว่าความสำเร็จของ Uber ทั้งหมดมาจากบุคลากรคุณภาพ

คำพูดของ Graves แสดงว่าสิ่งที่เราต้องจับตามองนับจากนี้คือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างบริหารของ Uber ว่าจะส่งผลต่อการให้บริการในภาพรวมหรือไม่ การขาดผู้บริหารหลายคนในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันถือเป็นการบ้านชิ้นโตที่ Uber ต้องผ่านไปให้ได้ ก่อนจะถึงคิวกู้ภาพลักษณ์องค์กรให้ใสสะอาดกลับมาน่าใช้บริการอีกครั้ง

สำหรับประเทศไทย ความคืบหน้าล่าสุดของ Uber คือการเรียกร้องให้คนไทยร่วมลงชื่อสนับสนุน ให้รัฐบาลไทยผ่านกฏหมายที่รองรับบริการร่วมเดินทางอย่าง Uber โดยที่ผ่านมา นับตั้งแต่บริษัทเปิดให้บริการในประเทศไทยตั้งแต่พ.ศ. 2557 Uber ระบุว่าได้เข้าหารือและชี้แจ้งกับกรมการขนส่งทางบกอย่างต่อเนื่องตลอดมาว่า Uber ไม่ใช่บริการรถแท็กซี่ แต่เป็นรูปแบบบริการใหม่ที่เรียกว่าบริการร่วมเดินทาง (Ridesharing) ซึ่งกฎหมายในปัจจุบันยังไม่ได้รองรับการให้บริการรูปแบบนี้ที่พึ่งพาเทคโนโลยีผ่านแอปพลิเคชันสมาร์ทโฟน และมีความแตกต่างจากการให้บริการขนส่งสาธารณะ จึงทำให้ Uber ไม่สามารถขึ้นทะเบียนเป็นรถสาธารณะได้

“เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากรมการขนส่งทางบกจะรองรับการให้บริการในรูปแบบใหม่ที่นำเอาเทคโนโลยีมาใช้ในการเดินทางที่เป็นรูปแบบบริการร่วมเดินทาง”

การร่วมสนับสนุนทำได้ที่ https://action.uber.org/th/ 

ที่มา : http://manager.co.th/Cyberbiz/ViewNews.aspx?NewsID=9600000024521