ค้าปลีกจีนกับผู้บริโภคยุค Gen M ครองเมือง

หนุ่มสาวคู่รัก กำลังเลือกแหวนแต่งงาน ในห้างสรรพสินค้าแห่งหนี่ง ที่เมืองเฉิงตู (แฟ้มภาพไชน่าเดลี)

ไชน่าเดลี่ รายงาน (27 ก.พ.) ว่าพฤติกรรมการบริโภค และกำลังซื้อของคนหนุ่มสาวจีนรุ่นใหม่ หรือที่เรียกว่า คนยุค Millennials ที่อยู่ในวัยระหว่าง 18-37 ปี ซึ่งมีมากกว่า 415 ล้านคน ครองสัดส่วนการบริโภคในประเทศมากราว 1 ใน 3

แนวโน้มเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือพฤติกรรมการซื้อขายผ่านระบบออนไลน์ ความนิยมใหม่ๆ ของกิจกรรมสันทนาการ งานอดิเรก ตลอดจนวิถีบำบัดความทุกข์สุขต่างๆ

เจิ้ง อิ่งฉี วัย 26 ปี ผู้จัดการสถาบันการเงินแห่งหนึ่ง กล่าวว่า เธอซื้อสิ่งของต่างๆ เกือบทุกชิ้นผ่านระบบออนไลน์ ตั้งแต่กิ๊บติดผม แต่การช้อปปิ้งเดินดูของจริง ก็ยังจำเป็นเพราะถือเป็นการพักผ่อนหย่อนใจสัปดาห์ละครั้ง

แน่นอนว่าเดี๋ยวนี้ ทุกอย่างสามารถหาได้จากอินเทอร์เน็ต แต่ก็คงไม่สามารถแทนที่การเดินดู เดินจับสัมผัสสินค้า หรือลองสวมใส่ตรงหน้าได้ อีกทั้งการออกไปเดินช้อปปิ้ง ยังเป็นเหมือนการนัดเพื่อนสังสรรค์

รายงานล่าสุดพบว่า คนจีนยุค Millennials ส่วนใหญ่เกิดช่วงทศวรรษ 1980 – 1990 แม้จะประหยัดเวลาได้มากในการทำกิจกรรมชีวิตประจำวันต่างๆ แต่ก็ใช้เวลาและเงินจำนวนมาก กว่าสำหรับกิจกรรมบริโภคต่างๆ

รายงานของโกลด์แมน ซาคส์ ระบุว่า บรรดาแบรนด์สินค้าต่างๆ ล้วนกำลังศึกษารูปแบบการบริโภคของคนรุ่นใหม่นี้อย่างใกล้ชิด

อนาคตอันใกล้ จีนจะเป็นตลาดบริโภคที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งหลายปีที่ผ่านมา ได้ขยายตัวผ่านช่องทางการตลาดอี-คอมเมิร์ซ, เกมส์มือถือ และช่องทางถ่ายทอดสดวิดีโอต่างๆ

อย่างไรก็ตาม รายงานของ CBRE จีน พบว่า คนรุ่นใหม่แม้ชอบช้อปปิ้งออนไลน์ แต่ก็ยังต้องการการเดินดูชมทดลองประสบการณ์ของจริง ในห้างสรรพสินค้า

แอน ฟิชแมน ผู้ก่อตั้ง Generational Targeted Marketing กล่าวว่า อะไรที่ชาว Millennials ให้ความสำคัญ ก็ต้องเป็นสิ่งที่ผู้จำหน่ายสินค้าพึงพิจารณา

งานวิจัยผู้บริโภคชาวเอเชีย ของโกลด์แมน ซาคส์ คาดว่า รายได้รวมของคนยุค Millennials จะเพิ่มขึ้นเป็น 3 ล้านล้านดอลลาร์ จากรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปี ซึ่งอยู่ระหว่าง 5,900 – 13,000 ดอลลาร์สหรัฐ

การเพิ่มขึ้นของกำลังซื้อนี้ เทียบเป็นมากกว่าครึ่งของมูลค่ารวมการบริโภคภาคเอกชนในประเทศสหรัฐฯ ใน 10 ปีข้างหน้า หากสหรัฐฯ ยังสามารถรักษาอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ที่ราว ร้อยละ 3.7 เช่นที่เคยประสบความสำเร็จในทศวรรษที่ผ่านมา

การวางกลยุทธ์ทั้งออนไลน์ ออฟไลน์ที่ดี จะเป็นสิ่งชี้ขาดชัยชนะการตลาด ยกตัวอย่างเช่น อาลีบาบา ที่ได้เชื่อมโยงช่องทางการซื้อขายกับเครือข่ายอย่าง Intime Retail Group Co. แล้ว

ที่มา : http://manager.co.th/China/ViewNews.aspx?NewsID=9600000020519