คนไทยเปลี่ยนพฤติกรรมหันมาบริโภคทีวีโมบายล์มากขึ้น

ผู้เขียน : ขนิษฐา สาสะกุล บริษัท iPrice

ยุคนี้เป็นยุคแห่งเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด จึงไม่แปลกที่หลายประเทศทั่วโลกจะพัฒนาเทคโนโลยีภายในประเทศตนให้ทันต่อยุคอยู่เสมอ ยกตัวอย่างเช่น ประเทศไทย ที่ยุติการส่งสัญญาณโทรทัศน์แบบอนาล็อกแล้วหันมาใช้ระบบดิจิทัลแทน หรือที่หลาย ๆ คนเรียกกันว่า ‘ทีวีดิจิทัล’ นั่นเอง โดยเริ่มทำการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. 2557 เพื่อให้คนไทยสามารถรับชมข่าวสารได้คมชัดยิ่งขึ้นผ่านกล่องทีวีดิจิทัล หรือ ‘กล่องดำ’ แต่กลับไม่ได้รับผลตอบรับที่ดีนักเพราะมีคู่แข่งอย่าง ‘ทีวีโมบายล์’ นั่นเอง มาดูกันว่าเจ้าทีวีทั้ง 2 ระบบนี้แตกต่างกันอย่างไร

1.การใช้งาน

อย่างที่รู้กันดีว่าสมัยนี้ผู้คนนิยมใช้อินเทอร์เน็ตในการรับชมและรับฟังข่าวสารมากกว่าการเปิดโทรทัศน์แล้วนั่งรับชมอยู่ที่บ้าน สาเหตุเพราะสะดวกกว่าและสามารถรับชมได้ทุกที่ ทุกเวลามากกว่า สาเหตุนี้ทำให้ความนิยมของทีวีดิจิทัลไม่แตกต่างจากทีวีระบบเดิมเท่าไรนัก ประกอบกับเครือข่ายสัญญาณที่ไม่เสถียร แถมยังเปลี่ยนแปลงหมายเลขช่องบ่อยครั้งทำให้การเข้าถึงข้อมูลยิ่งลำบากขึ้นไปอีก

สำหรับทีวีโมบายล์นั้น แม้การทำงานและประสิทธิภาพจะไม่แตกต่างทีวีดิจิทัลมากนัก แต่เมื่อต้องการรับชมรายการหรือข่าวสารตามช่วงเวลาปกติก็สามารถทำได้ง่าย ๆ โดยการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต หรือถ้าไม่สะดวกตามช่วงเวลาดังกล่าวก็สามารถรับชมย้อนหลังได้ตลอดเวลา เห็นได้ชัดว่าข้อแตกต่างคือ ‘ความสะดวก’ นั่นเอง

2. ประสิทธิภาพการรับชม

จะเน้นหนักในเรื่องความคมชัดของภาพ ซึ่งประโยชน์หลัก ๆ ของทีวีดิจิทัล คือ การแพร่ภาพด้วยระบบความคมชัดสูงระดับ HD ปราศจากสัญญาณรบกวน สำหรับทีวีโมบายล์ก็สามารถปรับความคมชัดของภาพได้เช่นกันแต่ต้องขึ้นอยู่กับความเสถียรของสัญญาณอินเทอร์เน็ตด้วย ยิ่งคุณต้องการความคมชัดมากเท่าไหร่ก็ยิ่งใช้ปริมาณอินเทอร์เน็ตมากเท่านั้น

3. ความหลากหลายของช่อง

การเปลี่ยนจากระบบอนาล็อกมาเป็นระบบดิจิทัลทำให้สามารถรับชมภาพในอัตราส่วนแบบ Widescreen ได้ และมีจำนวนช่องที่มากกว่าเดิม เช่น เมื่อก่อน 1 ช่อง สามารถรับชมได้เพียง 1 รายการ แต่ปัจจุบันการบีบอัดสัญญาณของทีวีดิจิทัลทำให้สามารถขยายสัญญาณเพื่อรองรับรายการได้ถึง 4-6 รายการทางภาคพื้นดิน และอีกกว่า 8-10 รายการทางดาวเทียม ในการใช้งานผ่านทีวีโมบายล์ก็มีช่องตัวเลือกในการรับชมมากยิ่งขึ้นไปอีก เพราะอินเทอร์เน็ตสามารถเข้าถึงข้อมูลได้หลากหลายกว่านั่นเอง

4. กระแสความนิยม

แรก ๆ ทีวีดิจิทัล คือสิ่งที่หลายคนรอคอยเลยก็ว่าได้ เพราะสามารถรับชมรายการต่าง ๆ ได้มากมายเสมือนคุณติดจานดาวเทียมเลยก็ว่าได้ แต่สิ่งที่ทำให้ทีวีดิจิทัลไม่ได้รับนิยมเท่าที่ควร อาจเพราะคนไทยมีการใช้งานอินเทอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ผู้คนหันไปชมสื่อออนไลน์กันมากกว่าครึ่ง แถมทีวีดิจิทัลนั้นมีข้อจำกัดคือ หากต้องการรับชมรายการทีวีให้ได้อรรถรสมากขึ้น คุณต้องเสียเงินซื้อสมาร์ททีวีมาติดตั้งเสียก่อน ดังนั้นทีวีโมบายล์จึงดูเป็นทางเลือกที่คุ้มค่ากว่า เพราะถ้าคุณสนใจเรื่องเทคโนโลยีหรือรับชมสื่อออนไลน์ต่าง ๆ อยู่เสมอแล้ว คุณย่อมต้องมีสมาร์ทโฟนสเปกเทพ ๆ อยู่ในมือแน่นอน ยิ่งไลฟ์สไตล์ของคนส่วนใหญ่จะใช้เวลาอยู่นอกบ้านมากกว่าในบ้าน ทำให้ทีวีโมบายล์ดูจะเป็นทางเลือกที่ได้รับความนิยมมากกว่า

ทุกวันนี้สถิติการใช้อินเทอร์เน็ตของคนไทยมีมากขึ้นทุกปี แถมยังเป็นอัตราก้าวกระโดดอีกด้วย ผลสำรวจการใช้สมาร์ทโฟนในประเทศไทยพบว่า คนไทยใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านสมาร์ทโฟนมากกว่าปีที่แล้วถึง 5 เท่า จากปัจจุบันเฉลี่ย 1.2 GB ต่อเดือน แต่มีนักวิชาการมากมายคาดการณ์ ไว้ว่าภายในปี พ.ศ. 2564 จะมียอดการใช้งานอินเทอร์เน็ตพุ่งเป็น 9 GB ต่อเดือน

เห็นได้ชัดว่าคนไทยสนใจชมสื่อออนไลน์เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และเมื่อต้องการชมรายการโทรทัศน์ก็จะเน้นการรับชมผ่านสมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ หรือโน้ตบุ๊ก เป็นหลัก ในขณะเดียวกันกระแสความนิยมของทีวีดิจิทัลกลับมีเพียง 2.4% เท่านั้น เพราะหลาย ๆ จังหวัดสัญญาณยังไม่พร้อมให้บริการ ผู้คนตามพื้นที่ดังกล่าวจึงยังดูโทรทัศน์ผ่านระบบอนาล็อกแบบเดิมอยู่ โดยสามารถจัดอันดับได้ดังนี้

อันดับ 1 รับชมผ่านจานดาวเทียมแบบไม่จ่ายรายเดือน 58%

อันดับ 2 รับชมผ่านเสาอากาศก้างปลาหรือหนวดกุ้ง 23.1%

อันดับ 3 รับชมผ่านเคเบิลทีวี หรือจานดาวเทียมแบบจ่ายรายเดือน 15.2%

อันดับ 4 รับชมผ่านทีวีดิจิทัล 2.4 %

อันดับ 5 รับชมผ่านช่องทางอื่น ๆ อีก 1.3% ถือเป็นเปอร์เซ็นต์ที่ค่อนข้างแตกต่างกันพอสมควร

แต่รัฐบาลไทยก็ยังตั้งเป้าหมายไว้ว่า ภายใน 5 ปีหลังจากทีวีดิจิทัลเปิดตัว ผู้ประกอบการหลายช่องจะเปลี่ยนมาให้บริการแบบดิจิทัลทั้งหมด เพราะคงไม่มีใครอยากเสียเงินจ่ายทั้งสองระบบพร้อมกัน ซึ่งก็คาดหวังว่าในอนาคตระบบสัญญาณแบบทีวีดิจิทัลจะสามารถรับชมได้ทุกพื้นที่ตามที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้