เปรี้ยงกว่า! ได้เวลาทีวีบุกออนไลน์ ทำรายได้ ขยายคนดู

“คนดูอยู่ที่ไหน เราก็ไปที่นั่น” เป็นประโยคง่ายๆ แต่ท้าทายอย่างยิ่งสำหรับคนทำทีวีเวลานี้ ที่เวลานี้ต้องขยับจาก “จอทีวี” ไปสู่ออนไลน์ หลากหลายหน้าจอ และแพลตฟอร์ม เพื่อรองรับกับพฤติกรรมการเสพสื่อของคนดูที่เปลี่ยนไป

ถอดรหัสเวิร์คพอยท์สู่ออนไลน์

หลังจากค่ายเวิร์คพอยท์เห็นผลตอบรับจากกระแสความแรงของรายการ The Mask Singer หน้ากากนักร้อง โดยเฉพาะเมื่อวันพฤหัส 9 มีนาคม รอบแชมป์ชนแชมป์ ไม่เพียงทำเรตติ้งแซงหน้าละคร ด้วยเรตติ้งทั้งประเทศได้ 10.151 แต่ยังมียอดชมผ่านออนไลน์ 4.6 ล้านวิว ผ่าน Facebook Live

ยิ่งทำให้เวิร์คพอยท์มั่นใจกับการเดินหน้า เข้าสู่สื่อออนไลน์คู่ขนานไปกับทีวี ชลากรณ์ ปัญญาโฉม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานดิจิทัลทีวี บริษัทเวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด มหาชน บอกว่า นโยบายในปีนี้ของทางเวิร์คพอยท์ต้องการดึงคนดูไว้ทุกจอ จากทุกแพลตฟอร์ม

ในสื่อทีวีเราเห็นภาพชัดแล้วว่าจะไปอย่างไร เพราะมีแฟนประจำอยู่แล้ว ไม่มีการเปลี่ยนแปลงหวือหวา แต่ที่ต้องทำมาก คือ สื่อออนไลน์ ที่จะเน้นสร้างคอมมูนิตี้ให้ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จากนั้นหารายได้จากออนไลน์มากขึ้น

โดยในปี 2559 เวิร์คพอยท์ทำรายได้จากสื่อออนไลน์ 70 ล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากส่วนแบ่งค่าโฆษณาที่ได้จากการนำรายการออกบน Youtube 60 ล้านบาท และปีนี้คาดว่าจะเพิ่มเป็น 80-90 ล้านบาท แม้ว่ายังมีสัดส่วนไม่มากเมื่อนำไปเทียบกับรายได้จากโฆษณาทีวีที่มีอยู่ 2,000 ล้านบาท แต่หากมองในแง่ “โอกาส” ของการเพิ่มรายได้แล้วถือว่าไม่น้อยทีเดียว

“เราอำนวยความสะดวกให้คนดูได้จากทุกแพลตฟอร์ม เพื่อสร้างคอมมูนิตี้บนออนไลน์ให้ใหญ่เข้าไว้ เมื่อดูจากตัวเลขคนดูวิดีโออาทิตย์ละ 30-40 ล้าน ถือว่าคอมมูนิตี้ค่อนข้างแข็งแรง จากนั้นเราจะเริ่มทำแคมเปญออนไลน์ให้ลูกค้าที่สนใจ เพราะเมื่อคอมมูนิตี้มันเริ่มใหญ่ เวลาเราปล่อยวิดีโออะไรออกไปก็จะมีคนเห็น”

นั่นหมายความว่า รายได้ที่จะเข้ามาจึงไม่ได้มีเพียงจากส่วนแบ่งค่าโฆษณาบนยูทิวบ์เท่านั้น แต่จะมาจากแพลตฟอร์มอื่นๆ เช่น เฟซบุ๊ก ที่เวิร์คพอยท์มองหาโอกาสจากการแคมเปญร่วมกับลูกค้ามากขึ้น แม้ว่าจะมีข้อจำกัดจากเฟซบุ๊กอยู่ ซึ่งเฟซบุ๊กเองก็กำลังจะนำโฆษณาแบบพรีโรลมาใช้ แต่เชื่อว่ายังมีทางออกหลายทาง ในการหาข้อตกลงร่วมกับเฟซบุ๊กแบ่งรายได้ค่าโฆษณา

“ยูทิวบ์เอง พอเห็นตัวเลขคนดูเราดี เลยพัฒนาเกม เล่นบนกูเกิล คือดูทีวีไป แล้วไปเล่นเกม ออนไลน์ไปด้วย เป็นการพีอาร์รายการไปในตัว พอมีโฆษณาก็แชร์กัน”

นอกจากนี้ ในปีที่แล้วยังมีรายได้จากเฟซบุ๊ก เนื่องจากเฟซบุ๊กจ้างลงวิดีโอ แต่ปีนี้ไม่ได้จ้างแล้ว ซึ่งเวิร์คพอยท์กำลังหาวิธีทำแคมเปญร่วมกับลูกค้าบนเฟซบุ๊กมากขึ้น ลักษณะจะคล้ายเว็บไซต์ในอดีต แต่ก็ยังประมาณการได้ยากว่าจะดีหรือไม่ดี ความเป็นดิจิตอลยากตรงนี้

ในแง่ของลูกค้า และดิจิตอลเอเจนซีเองก็ตื่นตัวกับการใช้สื่อออนไลน์ ซึ่งการใช้เม็ดเงินโฆษณาก็มีแยกการใช้ระหว่างสื่อทีวี และออนไลน์ เพราะวิธีการสื่อสารก็แตกต่างกัน การคิดแคมเปญจะทำขึ้นเฉพาะสื่อออนไลน์

ชลากรณ์ บอกว่า เวลานี้มีสินค้าหลายแบรนด์ที่สนใจลงทั้งทีวี และสื่อออนไลน์พร้อมกัน จะเหมาะกับสินค้าที่ต้องการกลุ่มเป้าหมายในวงกว้าง แต่ถ้าสินค้าที่มีกลุ่มเป้าหมายเฉพาะเจาะจงจะเลือกลงโฆษณาทีวี หรือออนไลน์ อย่างใดอย่างหนึ่ง เนื่องจากคนดูออนไลน์เกินครึ่งยังอยู่ในกรุงเทพฯ และมีอายุ 15-30 ปี ในขณะที่คนกลุ่มใหญ่ที่ดูทีวี 35 ปีขึ้นไปจะดูมากกว่าคนอายุ 15 -30 ปี

เราป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ การมีสื่อออนไลน์ทำให้คนเห็นเราง่ายขึ้น แต่ในแง่อุตสาหกรรมจะเหนื่อยซับซ้อนขึ้น เมื่อก่อนคิดแค่จอเดียว แต่เวลานี้ต้องคิดหลายๆ จอ แต่ละจอก็ต้องมีวิธีการสื่อสารต่างกัน เวลาตัดรายการลงเฟซบุ๊ก และยูทิวบ์ ก็ต้องทำกันคนละแบบ มีรายละเอียดเพิ่มขึ้น

แต่ถึงแม้ว่าเจ้าของสินค้าตื่นตัวกับสื่อออนไลน์ แต่การใช้เงินยังไม่มาก และเม็ดเงินส่วนใหญ่จะไหลไปที่ต่างประเทศ ไปที่เฟซบุ๊ก และยูทิวบ์ ทำให้เวิร์คพอยท์จึงต้องทำคอมมูนิตี้ขึ้นมาเพื่อไม่ให้เงินไหลออก

“เทียบแล้วเหมือนกับการที่เราไปเปิดซูเปอร์มาร์เก็ต ในศูนย์การค้าที่เจ้าของเป็นต่างประเทศ แต่ซูเปอร์มาร์เก็ตยังเป็นคนไทย ซึ่งเราสามารถทำรายได้จากส่วนอื่นๆ ที่ไม่ใช่ พรีโรล แอด หรือบูสต์ โพสต์ เพราะตรงนั้นเป็นรายได้ของเฟซบุ๊ก และยูทิวบ์ แต่เราสามารถทำ Product Placement และสปอนเซอร์ชิป ซึ่งคนไทยเก่งมากเรื่องนี้ และเราก็สามารถทำลงเฟซบุ๊กได้เลย เงินจะมาที่เรา ไม่อย่างนั้นเงินจะไหลออกไปหมด รัฐก็ไม่ได้ภาษี แต่ไม่รู้จะสำเร็จหรือเปล่า”

ชลากรณ์ ยกตัวอย่าง รายการ The Mask Singer เมื่อรายการดังมาก ลูกค้าเหมาซื้อโฆษณาบนทีวีไปหมดแล้วทั้งซีซัน 1 รวมถึงซีซัน 2 เวิร์คพอยท์จึงหาวิธีเพิ่มรายได้จากทางออนไลน์บนเฟซบุ๊ก ให้กับสินค้าที่สนใจมาซื้อโฆษณาเพิ่มขึ้นได้

นอกจากนี้ เวิร์คพอยท์ยังได้เตรียมนำฟอร์แมตรายการใหม่ เป็นส่วนผสมคอมเมดี้โชว์ และเอ็ดดูเทนเมนต์ ที่คนต้องดูทีวีและออนไลน์ไปด้วยกัน จึงได้อรรถรสที่สมบูรณ์ เนื่องจากในออนไลน์จะเล่าแบบหนึ่ง ทีวีเล่าแบบหนึ่ง จะเริ่มไตรมาส 2 หรือไตรมาส 3

“ออนไลน์กำลังเป็นกระแส อาจช่วยให้รายการนี้ดังมากขึ้น การที่เราเลือกมาทำ เป็นความแปลกใหม่ของการทำทีวี และตอบโจทย์คนดูในวงกว้าง ทั้งทีวีและออนไลน์ ถ้าดูออนไลน์ ก็เหมือนกับได้ดูบางฉากเพิ่มขึ้นที่ทีวีไม่มี แต่ถ้าคนดูทีวีอย่างเดียวก็ยังดูรู้เรื่อง แต่ถ้าดูทั้ง 2 จอจะสนุกมากขึ้น”

วู้ดดี้ บอกลาทีวี

หลังจากนักดำเนินรายการชื่อดัง “วู้ดดี้ วุฒิธร มิลินทจินดา” ได้ออกมาประกาศเตรียมยกรายการของตนเองออกจากช่องโมเดิร์นไนน์ ทีวี และจะหันเข้ามาจับสื่อในโลกโซเชียลแทนนั้น

ล่าสุดพิธีกรดัง ได้ขึ้นพูดในงาน YouTube Summit 2017 วันนี้ (9 มี.ค.) ที่สยามสแควร์ วัน พูดถึงข้อจำกัดของการทำงานสื่อทีวี และสื่อออนไลน์ โดยเปรียบเทียบสื่อทีวีเป็น old world ที่มีกรอบและข้อจำกัดต่างๆ มากมาย เช่น ออกอากาศต้องเป็นเวลา ต้องผ่านกองเซ็นเซอร์

ขณะที่ในยุคปัจจุบันเป็นเสมือนกับ new world ไม่มีข้อจำกัดใดๆ เลย คนดูออนไลน์เวลานี้ไม่ได้มีแค่เด็ก พี่ ป้า น้า อา ยาย มาออนไลน์กันหมด ขึ้นอยู่กับสถานที่รับชม

“ถ้าเขานั่งอยู่บ้านเขาก็ดูทีวี พออยู่บนรถเขาดูจากมือถือ วันนี้บอกไม่ได้ต่างกันอย่างไร เวลานี้เบลอหมดแล้ว ดูยูทิวบ์บนทีวี หรือดูทีวีบนยูทิวบ์”

วู้ดดี้ ได้บอกถึงสูตรในการผลิตคอนเทนต์ว่า ให้ยึดหลัก 3R ประกอบไปด้วย Real-Rare-Right (Right time, Right Place) Real คือ นำเสนอสิ่งที่เป็นจริง Rare คือ คอนเทนต์หาดูยาก และ Right time, Right place ต้องนำเสนอในจังหวะที่ใช่ และต้องเดี๋ยวนี้ ถ้าทำครบ 3 R นี้แล้ว ยังไงก็รอด

นอกจากนี้ วู้ดดี้ ยังเล่าถึงตอนประกาศไม่ทำทีวีแล้ว ได้มีผู้ใหญ่หลายคนที่ไม่เชื่อ แต่ได้ยืนยันว่าตนเองจะไม่กลับไปหาแพลตฟอร์มทีวีอีกแล้ว

ก็มีคนบอกว่าตอนนี้ทีวีมันก็น่าสนใจนะ เพราะมันก็มีแอปต่างๆ อยู่ในจอ เราก็กลับไปดู ผมว่าเราผลิตคอนเทนต์เหมือนเดิมแต่ไม่ได้ผลิตเพื่อทีวี แต่รองรับทุกแพลตฟอร์ม

อาร์เอส ขนทัพเขย่าทีวีออนไลน์

ส่วนค่ายอาร์เอส หันมาจับมือกับ “ไลน์ทีวีเพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมคนไทยที่ไม่ได้เสพคอนเทนต์บันเทิงเฉพาะบนจอทีวีอย่างเดียวอีกต่อไป

โดยเฟสแรกได้นำคอนเทนต์ เอ็กซ์คูลซีฟ ได้แก่ ทรายย้อมสี, เดอะ เกสต์ ตีสนิทคนดัง, เสียงสวรรค์ฟันน้ำนม, ไฮไลต์รายการมวย 8 แม็กซ์ มวยไทย, เดอะแชมเปี้ยน มวยไทยตัดเชือก, มวยไทยแบทเทิล ศึกค่ายชนค่าย รวมทั้งมิวสิกวิดีโอเพลงดังเพลงฮิต ออกอากาศผ่านไลน์ทีวี เริ่มวันที่ 1 มีนาคมเป็นต้นไป และกำลังเตรียมเปิดตัว LINE Official Account  ภายในเดือนเมษายนนี้

8 แม็กซ์ มวยไทย

อาร์เอส มองว่า การร่วมมือกับไลน์ทีวีในรูปแบบดังกล่าว จะทำให้บริษัทฯ มีช่องทางสร้างรายได้รูปแบบประจำเดือน (Subscriber) เพิ่มขึ้น ก่อให้เกิดรายได้รูปแบบยั่งยืน (Sustainable) ในอนาคตต่อไป เพราะ “ไลน์” สามารถเข้าถึงผู้ใช้บริการมือถือทุกเครือข่ายโดยไม่มีข้อจำกัดของการใช้งานใดๆ ทำให้รับชมได้ทุกที่ทุกเวลา เพิ่มความสะดวกสบายมากขึ้น

แดน ศรมณี ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจคอนเทนต์ LINE ประเทศไทย กล่าวว่า จากผลสำรวจของ PWC ตลาดวิดีโอออนไลน์มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมูลค่าการใช้จ่ายผ่านวิดีโอโฆษณาออนไลน์โลกจากปัจจุบันถึงปี 2563 มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสูงถึง 31% ต่อปี ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับตลาดไทย

ทั้งนี้ LINE TV ในฐานะแพลตฟอร์มวิดีโอออนดีมานด์ที่รวบรวมคอนเทนต์ ทั้งแบบแบบพรีเมียม และเอ็กซ์คลูซีฟ จึงมองเห็นโอกาสในการขยายความร่วมมือกับช่อง 8 ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีที่ LINE TV จะเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ชมมากขึ้น ซึ่งช่อง 8 มีฐานผู้ชมต่อเดือนมากกว่า 40 ล้านคน

ความร่วมมือกับช่อง 8 ในครั้งนี้ ถือว่าสอดคล้องกับเป้าหมายในปี 2017 ที่ยังคงให้ความสำคัญกับคอนเทนต์ประเภทละครและบันเทิง เพื่อที่จะรักษาฐานผู้บริโภคในปัจจุบัน ซึ่ง LINE และช่อง 8 ยังได้จับมือผลิตคอนเทนต์เพื่อรองรับความต้องการของผู้โภคกลุ่มใหม่ๆ ต่อเนื่อง ซึ่งเป็นเอ็กซ์คลูซีฟคอนเทนต์ ที่ดูได้เฉพาะบน LINE TV เท่านั้น

LINE TV เป็นอีกหนึ่งในแพลตฟอร์มของออนไลน์ ที่ใช้วิธีจับมือกับผู้ผลิตคอนเทนต์รายการที่หลากหลาย เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคหลากหลายกลุ่ม และหลายรูปแบบ เช่น การนำรายการทีวีมาออกอากาศในไลน์ก่อน หรือคอนเทนต์ เอ็กซ์คูลซีฟ รวมทั้งว่าจ้างให้ผลิตและออกอากาศผ่านไลน์เท่านั้น ไลน์จึงเป็นอีกทางเลือกของแพลตฟอร์มทีวีออนไลน์ นอกเหนือจากเฟซบุ๊ก และยูทิวบ์