เปิดทิศทาง LINE ไม่ใช่แค่แชต แต่ต้องเป็น Mobile Portal

ทำตลาดในประเทศไทยอย่างเต็มรูปแบบนับตั้งแต่ตั้งเปิดสำนักงานมาแล้วเกือบ 3 ปีเต็ม สำหรับไลน์ ประเทศไทยเป็นอีกหนึ่งบริษัทที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งไลน์เองมีวิวัฒนาการในการทำตลาดอย่างน่าสนใจ เพื่อให้บริษัทมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และเท่าทันกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ปัจจุบันไลน์มีผู้ใช้ 217 ล้านรายทั่วโลก 4 ตลาดใหญ่ยังอยู่ที่ญี่ปุ่น ไทย อินโดนีเซีย และไต้หวัน ส่วนในประเทศไทยมีผู้ใช้ 33 ล้านราย หรือคิดเป็น 94% ของจำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตบนมือถือ

การทำตลาดในช่วงปีแรกไลน์ได้เน้นการขยายฐานผู้ใช้ วางจุดยืนเป็นแชต แอปพลิเคชั่น พร้อมกับมีสติกเกอร์เพื่อดึงดูด และมีการหารายได้จากสติกเกอร์ และ Official Account ทำให้ไลน์ติดตลาดจนผู้เล่นรายอื่นล้มหายตายจากกันไป ในปีต่อมาเทรนด์เรื่องเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงเรื่อยๆ ไลน์ได้เปลี่ยนทิศทางเป็นแพลตฟอร์มที่มากกว่าแค่แชตอย่างเดียว จนในปีนี้หนีไม่พ้นเทรนด์ของ Mobile ทิศทางของไลน์จึงต้องการเป็น Mobile Portal หรือเป็นศูนย์กลางของทุกบริการที่อยู่บนมือถือ

เหตุผลที่ไลน์ได้เลือกที่จะเป็น Mobile Portal เพราะประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ยุคโมมายล์อย่างแท้จริง มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตบนมือถือ 44 ล้านราย หรือประมาณ 2 ใน 3 ของจำนวนประชากร อัตราการใช้สมาร์ทโฟน 70% และมีการใช้งานบนสมาร์ทโฟนเฉลี่ย 234 นาที/วัน และในจำนวนนี้ได้ใช้เวลาเฉลี่ย 70 นาทีในการใช้ไลน์

อริยะ พนมยงค์ กรรมการผู้จัดการ LINE ประเทศไทย กล่าวว่าความท้าทาย เป็นโจทย์ใหญ่ของปีนี้ในการที่จะทำอย่างไรที่จะให้ผู้ใช้ได้ใช้งานไลน์ได้มากกว่า 70 นาที นั่นก็ต้องมีบริการใหม่ๆ ออกมามากขึ้น จะไม่ใช้โมเดลในการสร้างแอปพลิเคชั่นใหม่ แต่จะฝังทุกๆ บริการให้อยู่บนไลน์ให้ได้

ทำให้กลยุทธ์หลักของไลน์ในปีนี้มี 4 ข้อด้วยกัน

1.การติดต่อสื่อสาร (Communication) จากผลสำรวจที่คนไทยใช้เวลาเกือบ 4 ชั่วโมงใช้งานสมาร์ทโฟน และคนใช้ไลน์ 70 นาที/วัน ไลน์จึงต้องแตกบริการใหม่เพื่อตอบรับกับไลฟ์สไตล์ และเทรนด์ใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น

2.คอนเทนต์ (Content) จะเน้นคอนเทนต์ที่เป็นวิดีโอ เพลง และสิ่งพิมพ์ จะย้ายมาอยู่บนโลกออนไลน์ คนไทยใช้เวลาในการดูวิดีโอเฉลี่ย 133 นาทีต่อวัน ในส่วนคอนเทนต์ไลน์จะเน้นบริการของ LINE TV และ LINE Today ซึ่งไลน์ทีวีมีการเติบโต 136% ในปีนี้จะมีกลุ่มใหม่ก็คือกีฬา และความสวยความงาม

3.บริการ (Service) ไลน์ได้พัฒนา Chatbot เพื่อสื่อสารกับผู้บริโภคผ่าน Official Acount เป็นการสื่อสารแบบ 2 ช่องทางมากขึ้น บริการในส่วนนี้จะเอาเข้ามาฝังในไลน์ จะไม่ทำแอปพลิเคชั่นใหม่เด็ดขาด เพราะทุกวันนี้มีแอปเฟ้อ 2.2-2.6 ล้านแอปทั้งในกูเกิล เพลย์ และแอปสโตร์ จริงๆ คนโหลดแอปเพียงแค่ 32 แอป ในส่วนของบริการได้มี LINE Finance และใน Official Acount อย่างอูเบอร์, Wongnai และ Citibank

4.การขายสินค้าและบริการ (Commerce) ตลาดอีคอมเมิร์ซยังมีการเติบโตอยู่ ในปีที่ผ่านมามีสัดส่วน 3.8% ของรีเทลทั้งหมดแล้ว แต่ไลน์มองเห็นบริการแบบ O2O (Offline to online) มีบริการ LINE Man และมีบริการ Beacon สำหรับติดตั้งและให้ข้อมูลผลิตภัณฑ์เมื่อเดินไปใกล้

ในประเทศไทยได้แบ่งกลุ่มธุรกิจหลักของไลน์เป็น 6 กลุ่ม ได้แก่ ธุรกิจเกม, คอนเทนต์, ธุรกิจองค์กร, อีคอมเมิร์ซเพย์เมนต์ และธุรกิจใหม่ โดยกลุ่มที่ไลน์ต้องการเน้นให้พิเศษก็คือกลุ่มเนื้อหาที่มีไลน์ทีวีและไลน์ทูเดย์เป็นดาวเด่นกลุ่มบริการและกลุ่มคอมเมิร์ซ

สำหรับเป้าหมายของไลน์ในปีนี้ นอกจากที่ต้องการให้ผู้บริโภคใช้เวลากับไลน์มากขึ้นแล้ว ยังมองว่าต้องการเป็นศูนย์กลางให้ผู้บริโภคได้ใช้งานบนมือถือ