“ดุสิตธานี” ผนึก CPN เนรมิตแลนด์มาร์กแห่งใหม่ จับตา “เจริญ” พลิกเกมที่เตรียมทหาร!

[ภาพจากอนเทอร์เน็ต]
[ภาพจากอนเทอร์เน็ต]

ยังคงเป็นเรื่องโจษจันไม่จางสำหรับโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในรูปแบบผสมขนาดใหญ่ (Mixed-Use) มูลค่า 3.67 หมื่นล้านบาท ของกลุ่มบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) กับ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ซึ่งจะประกอบไปด้วย 4 โครงการ คือ โรงแรม อาคารที่พักอาศัย อาคารสำนักงาน และพื้นที่ค้าปลีก

นั่นเพราะ…พื้นที่การพัฒนาโครงการดังกล่าวคือที่ตั้งของ “โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ” จำนวน 19 ไร่บริเวณหัวมุมถนนสีลมและถนนพระราม 4 ใจกลางเมืองกรุงเทพฯ ซึ่งล่าสุด บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) เพิ่งดำเนินการเรื่องการลงนามสัญญากับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เพื่อต่อสัญญาการเช่าที่ดินดังกล่าวต่อไปอีก 30 ปี และได้รับสิทธิ์ในการเช่าที่ดินต่อเนื่องอีก 30 ปี โดยให้ระยะเวลาก่อสร้างอีก 7 ปี รวมเป็นทั้งหมด 67 ปี ขณะเดียวกัน สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ยังให้โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ เช่าที่ดินเพิ่มจาก 19 ไร่ เป็น 24 ไร่!

โครงการดังกล่าวมีเป้าหมายที่จะเอื้อประโยชน์ทั้งแก่นักท่องเที่ยวและประชาชนทั่วไป เนื่องจากพื้นที่ตรงนี้เป็นจุดศูนย์กลางของเมืองอย่างแท้จริง โดยเป็นทั้งจุดศูนย์กลางทางธุรกิจ (CBD) จุดศูนย์กลางค้าปลีก และจุดศูนย์กลางที่เชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนหลักของกรุงเทพฯ ทั้งรถไฟฟ้า BTS และรถไฟใต้ดิน MRT ตลอดจนเป็นย่านที่ตั้งของโครงการที่พักอาศัยระดับบนจำนวนมาก อีกทั้งยังตั้งอยู่ติดกับสวนลุมพินี พื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ของกรุงเทพฯ

จึงมิใช่เรื่องแปลกที่การพัฒนาโครงการนี้จะเป็นที่สนใจของสังคมด้วยนานาคำถามว่า…จะมีการยุบรื้อโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ หรือไม่ ? โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ จะยังคงอยู่ไหม ? โครงการใหม่จะอยู่ภายใต้แบรนด์ใดระหว่าง “เซ็นทรัล” กับ “ดุสิตธานี”? ฯลฯ

จนถึงวันนี้แม้ผู้บริหารทั้งสองฝ่ายยังมิปริปากถึงรายละเอียดของโครงการดังกล่าวจนกว่าจะถึงกลางเดือนพฤษภาคม 2560 ซึ่งจะมีการแถลงรายละเอียดอย่างเป็นทางการ แต่คำตอบที่ชัดเจนจากฝั่ง “ดุสิตธานี” ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของโครงการด้วยสัดส่วน 60% ย้ำชัดว่า ชื่อของ “ดุสิตธานี” จะยังคงเป็นแบรนด์หลักของโครงการซึ่งตั้งเป้าหมายขั้นสูงสุดว่าจะทำให้โครงการนี้กลับมาเป็น “ผู้นำย่านค้าปลีกและ CBD ใจกลางเมืองกรุงเทพฯ ตลอดแนวถนนพระราม 4” หลังจากที่ต้องเสียแชมป์ให้ย่านราชประสงค์มาหลายปี!

เหตุผลหนึ่งคือการร่วมมือกับ “กลุ่มเซ็นทรัล” เป็นเสมือนการผนึกความแกร่งระหว่างผู้นำด้านการบริหารการจัดการโรงแรม-ค้าปลีก-การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ทั้งยังมีข้อได้เปรียบของโครงการฯ ซึ่งอำนวยความสะดวกด้านการเดินทางด้วยทางเข้าออกถึง 3 ถนน ได้แก่ ถนนพระราม 4 ถนนสีลม และถนนสาทร (ทะลุผ่านซอยศาลาแดง)

ว่ากันถึงรายละเอียดของโครงการนี้สำหรับฝั่งผู้นำด้านค้าปลีกคือ “กลุ่มเซ็นทรัล” คงมิใช่เรื่องเหนือความคาดหมายเท่าใดนัก เพราะแต่ละปีมีการใช้เงินลงทุนพัฒนาและขยายสาขาใหม่เป็นจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะในปี 2560 CEO ใหญ่ “ทศ จิราธิวัฒน์” ประกาศชัดว่าจะใช้เม็ดเงินถึง 45,534 ล้านบาท ในการสร้างอาคารและอสังหาริมทรัพย์ โดยวางเป้าหมายรายได้รวม 382,200 ล้านบาท !

ขณะที่ “กลุ่มดุสิตธานี” ซึ่งกำลังจะฉลองครบรอบ 48 ขวบปีในด้านความเชี่ยวชาญบริหารจัดการโรงแรมภายใต้ 4 แบรนด์หลัก คือ “ดุสิตธานี”, “ดุสิตดีทู”, “ดุสิตปริ๊นเซส” และ “ดุสิตเดวาราณา” กลับมีความแยบคายมากกว่านัก เพราะจากปัจจุบันที่มีการลงทุนเอง 10 แห่ง และรับบริหารจัดการ 19 แห่ง รวมเป็น 29 แห่ง ตั้งเป้าหมายชัดเจนว่าภายใน 3 ปีจะมีโรงแรมในเครือ 46 แห่งใน 21 ประเทศครอบคลุมทั้งเอเชีย ตะวันออกกลาง ยุโรป และแอฟริกา

ประการสำคัญคือ ยังคงใช้ “ดุสิตธานี” เป็นแบรนด์หลักในการชูธงรบในตลาด! แม้จะมีแผนเปิดแฟรนไชส์การบริหารจัดการโรงแรม “ดุสิตปริ๊นเซส” อย่างน้อย 1 แห่งในปี 2560 เพื่อรองรับกลุ่มนักเที่ยวชาวจีนโดยเฉพาะ รวมถึงการเข้าไปถือหุ้น 9% ในบริษัทสตาร์ทอัพอย่าง “เฟฟสเตย์” (Favstay) ซึ่งให้บริการด้านที่พักในรูปแบบใกล้เคียงกับ Airbnb ในด้านการให้บริหารที่พักด้วยการใช้ห้องส่วนตัวให้บริการ

แต่สิ่งที่ “กลุ่มดุสิตธานี” ย้ำนักย้ำหนาคือ “ไม่เคยมีนโยบายปลดพนักงาน” สำหรับการพัฒนาโครงการนี้แต่อย่างใด เพราะหลังจากที่รื้อถอนโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2561 แล้ว พนักงานทุกคนยังจะมีงานทำเหมือนเดิมแต่จะกระจายไปทำงานยังส่วนต่างๆ แทน…ที่สำคัญหลังจากเปิดโครงการฯ ใหม่ซึ่งคาดว่าจะไม่เกินปี 2565 จะมีการเพิ่มพนักงานจากปัจจุบัน 6 พันคนเป็น 1.5 หมื่นคน !

สอดคล้องกับมุมมองของ “อลิวัสสา พัฒนถาบุตร” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีบีอาร์อี (ประเทศไทย) จำกัด ฉายภาพว่า การประกาศแผนของ “กลุ่มดุสิตธานี” และ “กลุ่มเซ็นทรัล” เป็นการตอกย้ำให้เห็นศักยภาพทำเลบนถนนพระราม 4 ที่จะมาแรงและเป็น CBD อีกแห่ง

“จะเริ่มเห็นการแข่งขันของแปลงที่ดินของนักพัฒนาที่ได้สิทธิเช่าที่ดินจากสำนักงานทรัพย์สินฯ อย่าลืมว่ายังมีแปลงโรงเรียนเตรียมทหารหัวมุมถนนพระราม 4 ซึ่งกลุ่มธุรกิจในเครือของ “เจริญ สิริวัฒนภักดี” ได้สิทธิพัฒนาที่ดิน 88 ไร่ ขณะที่บริเวณด้านหลังของที่ดินถัดไปจะเป็นที่ทำการของสถานทูตต่างๆ ที่จะย้ายมา เมื่อมองลงไปลึกๆ แล้ว หากโครงการที่กลุ่มดุสิตธานีและกลุ่มเซ็นทรัลก่อสร้างแล้วเสร็จจะเพิ่มโอกาสในการขยายฐานลูกค้าและสร้างจุดขายการเป็นแลนด์มาร์กขึ้นมาก่อน”

คงต้องจับตามองกันต่อไปว่าสมรภูมิการแข่งขันของบิ๊กเพลเยอร์ครั้งนี้จะรุนแรงเพียงใด ? แต่เชื่อว่าการลงทุนของทั้งสองฝ่ายจะมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง รวมมูลค่าการลงทุนกว่า 1 แสนล้านบาท จึงเชื่อว่าจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงบริเวณทำเลถนนพระราม 4 ให้เปลี่ยนโฉมหน้าไปอย่างมากแน่นอน !

 

ที่มา : http://manager.co.th/iBizChannel/ViewNews.aspx?NewsID=9600000031722