SCB ร่วมแกะรอยเทคนิค Transform สานฝันสร้างธุรกิจสู่ 100 ล้าน

ธนาคารไทยพาณิชย์ ร่วมกับมัชรูม กรุ๊ป เจ้าของรายการอายุน้อยร้อยล้านสร้างแรงบันดาลใจ พร้อมแนะวีธีการดำเนินธุรกิจให้กับผู้ประกอบการ SME ไทย จัดสัมมนาแกะรอยร้อยล้าน ตอน THE TRANSFORMERS เปลี่ยนมุมคิด พลิกธุรกิจสู่ 100 ล้าน” ได้ผ่านพ้นไปเมื่อวันเสาร์ที่ 18 มีนาคม 2560 ที่ GMM Live House @ Central World โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนาเป็นนักธุรกิจ SME กว่า 2,000 คน

สัมมนาครั้งนี้เป็นการแกะรอยเทคนิคการ Transform ธุรกิจ SME แบบก้าวกระโดดสู่หลัก 100 ล้าน มีนักธุรกิจที่เปรียบเสมือนรุ่นพี่ในวงการมาให้คำแนะนำ และเทคนิคในหลากหลายมุมมอง รวมถึงการแก้ปัญหา เพื่อเป็นไอเดียให้กับนักธุรกิจ SME ได้นำไปต่อยอดกับธุรกิจของตนเองเพื่อสร้างฝันให้เป็นจริงในการเป็นธุรกิจร้อยล้าน

ภาพรวมของสัมมนาแกะรอยร้อยล้านมีหัวข้อในการสัมมนา 4 ส่วน 1. Transform Business through Financial Tools (เปลี่ยนเครื่องมือทางการเงินสู่หลัก 100 ล้าน) 2. Transform Case Studies to Growth Hacking Ideas (เปลี่ยนกลยุทธ์ พลิกธุรกิจแบบก้าวกระโดด) 3. Transform Dream to Reality (เปลี่ยน “โลกภายใน” ให้สตรองกว่าเดิม) และ 4. Transform SME to SET Company (เปลี่ยนจาก SME ก้าวสู่ “บริษัทมหาชน”)

ในช่วงแรก Transform Business through Financial Tools (เปลี่ยนเครื่องมือทางการเงินสู่หลัก 100 ล้าน) มี 2 ธุรกิจมาแบ่งปันไอเดียที่สร้างธุรกิจสู่ 100 ล้าน ได้แก่ J.I.B. Computer จากเงินทุนหลักแสน สู่ธุรกิจระดับ 7 พันล้าน และร้านอาหารอีสานตำมั่ว สร้างมูลค่าให้อาหารพื้นเมือง

คุณจิ๊บ – สมยศ เชาวลิต เจ้าของธุรกิจ J.I.B Computer ดำเนินธุรกิจร้าน J.I.B. Computer จำหน่ายสินค้าไอทีครบวงจร เล่าถึงเรื่องราวของแบรนด์ และการทำธุรกิจของตนเอง ก่อนหน้านี้เป็นพนักงานแบงค์มาก่อน 8 ปีก่อนที่จะมาเปิดร้านขายคอมพิวเตอร์เองสาขาแรกที่เซียร์รังสิตเพราะเป็นคนชอบในการประกอบคอมพิวเตอร์และช่วงนั้นเป็นยุครุ่งเรืองของคอมประกอบ

ในตอนแรกมีเงินลงทุนไม่มาก เป็นเงินทุนสำรองเลี้ยงชีพ 2 แสนบาท ทำให้ไม่มีสต็อกของเยอะเหมือนร้านอื่น อาศัยเอากล่องเปล่ามาวางไว้เพื่อให้ดูมีของเยอะ ลูกค้าที่มาก็จะเชื่อ และอาศัยการบริการใช้วิธีคุยกับลูกค้าเอง จัดสเป็กตรงตามความต้องการให้ลูกค้ามีส่วนร่วมในการตัดสินใจ เพราะลูกค้าจะเชื่อเรื่องการบริการที่ดี พอบริการถูกใจก็เกิดการบอกต่อ ปีแรกไปได้ด้วยดีมีรายได้ 33 ล้านบาทมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

ถึงแม้จะไม่มีเงินทุนเท่าไหร่ แต่เรื่องระบบการเงินหมุนเวียนเรียกว่ามีสภาพคล่องพอตัว ได้บริการทางด้านการเงินเป็นหัวใจสำคัญ โชคดีที่หลักการธุรกิจไอทีจะมีระบบเครดิต 30-45 วันแล้วแต่สินค้า ยิ่งในภายหลังมีระบบเช็คเข้ามาก็สะดวก เพราะธนาคารไทยพาณิชย์มีระบบหยอดตู้ได้ ทำให้เข้าเงินเมื่อไหร่ก็ได้

จุดเปลี่ยนของร้าน J.I.B. ก็คือการลงทุนก้อนแรก เริ่มคิดใหญ่มากขึ้น กู้ธนาคารได้ 350 ล้านบาท ติดปีกในการขยายสาขาเยอะขึ้น เปิดสาขาได้ 92 สาขา ภายใน 2 ปี แต่พอยุค Apple เข้ามา เทรนด์สมาร์ทโฟน แท็บเล็ตมากขึ้น ทำให้ความนิยมของคอมพิวเตอร์น้อยลง จากนั้นก็เริ่มปิดสาขาที่ขาดทุน 42 สาขา ทำให้สมยศได้ข้อคิดในการทำธุรกิจเลยว่าต้องระวังในการลงทุนให้มาก ตอนนี้ร้านเจไอบีเปิดมา 16 ปี มี 137 สาขาใน 46 จังหวัด

เรื่องอีคอมเมิร์ซก็เป็นช่องทางสำคัญของร้าน J.I.B. ตอนนี้เป็นเบอร์ 2 ในกลุ่ม B2C รองจาก Lazada แล้ว เริ่มต้นจากการเพิ่มปุ่ม Buy ลงในเว็บเพื่อให้ลูกค้าสามารถซื้อได้เลย เดือนแรกขายได้ 8 แสนบาท ปัจจุบันออนไลน์มีรายได้ 80 ล้านบาท/เดือน หรือคิดเป็น 10% ของยอดขายทั้งหมด หลักการทำออนไลน์ของร้าน J.I.B. จะเน้นสร้างความน่าเชื่อถือ สร้างความมั่นใจโดยการจัดส่งภายใน 4 ชั่วโมงถ้าอยู่ในพื้นที่ กทมส่วนต่างจังหวัดจะเป็นวันรุ่งขึ้น ในอนาคตจะทำแบบ Omni Channel ที่สามารถสั่งจากออนไลน์แล้วไปรับที่สาขาได้

ร้านอาหารอีสานตำมั่ว จากร้านคูหาริมถนน โกอินเตอร์สู่ระดับอาเซียน เป็นร้านส้มตำระดับพันล้านศิรุวัฒน์ ชัชวาลย์เจ้าของแบรนด์ธุรกิจร้านอาหารตำมั่วได้เล่าจุดเริ่มต้นว่าเดิมร้านตำมั่วเป็นร้านอาหารอีสานของคุณแม่ แต่ตอนนั้นแบรนด์มีปัญหาที่ว่าไม่มีคนจำชื่อร้านได้เพราะชื่อยาว เดิมชื่อร้านนครพนมอาหารอีสาน พอถึงรุ่นลูกอย่างศิรุวัฒน์เข้ามาบริหารก็โมดิฟายด์เสียใหม่ทั้งชื่อแบรนด์ โลโก้ ปรับ Identity ใหม่ ลดขนาดร้านเหลือ 1 คูหาจาก 4 คูหา 

ศิรุวัฒน์อยู่ในแวดวงเอเยนซี่โฆษณามาก่อน จึงใช้ความสามารถในการสร้างแบรนด์ และทำการตลาด โลโก้ใส่เม็ดพริกเข้าไป และมีชื่อแบรนด์ภาษาอังกฤษ ทำให้ตอนนี้เวลาไปต่างประเทศไม่ต้องออกแบบโลโก้ใหม่ และคนเห็นโลโก้มีเม็ดพริกก็รู้ทันทีว่าเป็นร้านส้มตำ ซึ่งการตลาดแรกในตอนนั้นก็คือเอาโลโก้ตำมั่วไปสกรีนลงบนเสื้อวินมอเตอร์ไซค์เพื่อให้คนรู้จักแบรนด์ เพราะมองว่าในแต่ละวันพี่วินวิ่งไม่ต่ำกว่า 30 เที่ยว คนต้องเห็นแบรนด์ทั้งวัน

ปัจจัยความสำเร็จของร้านตำมั่วมาจากความคิดสร้างสรรค์ก่อน ต้องมองว่าอะไรที่กำลังเป็นเทรนด์เพื่อจะได้นำเทรนด์ แต่ถ้าทำอะไรที่เป็นเทรนด์ในตอนนั้นคือมันกำลังตกเทรนด์ ต้องทำในสิ่งที่คนอื่นไม่ทำ ตอนนี้ตำมั่วได้บุกภาคใต้หนักขึ้น แม้จะเป็นภาคที่กินส้มตำน้อย แต่ไม่มีใครลงไปทำตลาดทำให้ตำมั่วกลายเป็นเบอร์ 1 และต้องมีนวัตกรรมใหม่ๆ ทำปลาร้าออนไลน์ เพราะปลาร้าหาซื้อยาก เลยทำให้หาซื้อได้ และแถมสูตรอาหารให้ด้วย 

มาถึงช่วง Transform Dream to Reality (เปลี่ยน “โลกภายใน” ให้สตรองกว่าเดิม) เป็นการสร้างแรงบันดาลใจ และตอกย้ำในการสร้างธุรกิจ พร้อมกับรับปัญหาที่ท้าทาย เปลี่ยนความฝันให้เป็นความจริงให้ได้ มี 2 แบรนด์ มาแชร์ประสบการณ์ ได้แก่ DIVANA สปาชั้นนำของประเทศ และ HO-YEON ธุรกิจสบู่และอาหารเสริม

ธุรกิจ DIVANA โดยพัฒนพงศ์ รานุรักษ์อดีตสจ๊วตสายการบินประเทศสวิตเซอร์แลนด์ แต่หลังจากเกิดเหตุการณ์ 911 ก็มีเหตุที่ทำให้ไม่ได้เป็นสจ๊วตต่อ จึงมีความคิดที่ทำธุรกิจสปามี Passion ที่อยากทำแบรนด์ไปทั่วโลกใครที่มาเมืองไทยจะต้องมาถ่ายรูปให้ได้จนในปัจจุบันได้แตกไลน์สินค้าไปทำสกินแคร์แฮนด์ครีมต่างๆ

จุดเริ่มต้นในตอนนั้นมีพื้นที่ 1 ไร่อยู่ที่อโศก ตอนนั้นรวมเงินกันกับเพื่อนได้ 1 ล้าน สามารถทำห้องสปาได้อยู่ 4 ห้อง พอทำได้ 1 ปีก็มีการเติบโต ด้วยความที่เป็นเจ้าแรกๆ ที่ทำสปาด้วยจึงมีโอกาสมากกว่า ช่วงนั้นยังไม่มีร้านสปามีแต่ร้านนวดทั่วไป โดยจุดเด่นที่ใช้ก็คือใช้บ้านโบราณอายุ 50-100 ปีเพื่อสร้างความแตกต่างลูกค้ามาก็จะชอบและประทับใจเกิดการบอกต่อในที่สุด

หัวใจสำคัญในการบริการของแบรนด์ DIVANA ก็คือการสร้างแบรนด์ เพราะตลาดพรีเมี่ยมเรื่อง Branding สำคัญที่สุด ที่สำคัญคือเรื่องบริการ ตอนนี้มีพนักงานอยู่ 250 คน มีระบบเทรนนิ่งที่แข็งแรง มีการทำคู่มือบริการ พัฒนพงศ์บอกว่าได้มาจากตอนเป็นสจ๊วตที่มีการบริการแบบพรีเมี่ยม ทำให้ในร้านจะควบคุมรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส มีการเทรนด์พนักงานให้เหมือนอยู่บนเครื่องบิน

ธุรกิจสบู่ Ho-Yeon จากเด็กสาวจังหวัดสุรินทร์ธิวาภรณ์ จิตกล้าได้เริ่มรักการขายและหารายได้ตั้งแต่เด็ก ทั้งการร้องเพลงในงานวันเด็ก เอาของมือสองไปขาย จากนั้นก็เริ่มลงทุนหาของมาขายเพิ่มขึ้น

จากนั้นหลังจากจบ ม.6 เริ่มทำแบรนด์เป็นของตัวเองด้วยแบรนด์ Majesty ตอนนั้นออนไลน์ยังไม่บูมเท่าไหร่ทำให้มีรายได้แต่ยังไม่มีเงินเก็บ เพราะยังมีการจัดการที่ไม่ดีพอ

ทำให้ต้องมีการปรับความแตกต่างของสินค้า ทำสินค้าที่คนใช้ได้ทุกเพศทุกวัยก็คือสบู่ แต่สร้างความแตกต่างเป็นสบู่โสมเพราะเทรนด์เกาหลีกำลังมาในตอนนั้น มีการทำแบรนด์ ทำการตลาด จ้างพรีเซ็นเตอร์เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ รวมทั้งการใช้ตัวแทนการขาย 100% เพราะตัวเองอายุน้อยเลยให้คนอื่นไปเสนอขายดีกว่า ทำโปรแกรมไอทีจัดระบบหลังร้านเรื่องสต็อกสินค้าทำรากฐานให้แข็ง

จากสบู่ก็มีการแตกขยายสินค้า ต่อยอดไปสู่ธุรกิจอาหารเสริมเพื่อสร้างการเติบโต ตอนนี้มียอดขาย 300 ล้านบาท

จากประสบการณ์ที่ผู้ประกอบการได้มาเล่าสู่กันฟังในหลายๆ ธุรกิจ สามารถสร้างแรงบันดาลใจในการต่อยอดธุรกิจแบบก้าวกระโดดได้ ไม่ว่าคุณจะมีพื้นฐานอย่างไร ถ้ามีใจสู้ก็สามารถ Transform ได้หมดในทุกธุรกิจ