จริงหรือ ! มือถือเรื่องใหญ่ ใครๆ ก็ขาดไม่ได้

มาอัพเดตพฤติกรรมการใช้มือถือคนไทยยุคนี้ มาดูกันว่าพวกเขาเสพเนื้อหากันอย่างไร อะไรคือเทรนด์การใช้งาน ที่นักการตลาดไม่ควรพลาด

กรุ๊ป เอ็ม มีเดียเอเยนซี่ ได้วิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตของกลุ่มคนที่เริ่มใช้มือถือ New Internet User มาเป็นเวลา 2 ปี และพบว่า เวลานั้นส่วนใหญ่เริ่มต้นจากการใช้ไลน์ ใช้เฟซบุ๊ก โดยบางคนไม่รู้ว่าการเล่นไลน์กับเพื่อน หรือกับลูกหลานเป็นการใช้อินเทอร์เน็ตอยู่ 

ในปีนี้ทางกรุ๊ป เอ็มจึงได้สานต่องานวิจัยติดตามผลจากใน 1 ปีที่ผ่านมา เพื่อศึกษาเรื่องพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตของคนกลุ่มเดิม ในเดือนตุลาคมปี 2559 จากกลุ่มตัวอย่าง 300 คนทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด มีอายุตั้งแต่ 18-60 ปี ใน 3 หัวข้อ ได้แก่ การใช้ชีวิต การเสพสื่อออนไลน์ และการใช้เงิน พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง และพบว่า คนกลุ่มนี้ Internet User อย่างเต็มตัวแล้ว มีการใช้โซเชียลมีเดีย หรือแอปพลิเคชั่นมากขึ้น ทั้งเรื่องการดูคอนเทนต์ ทำธุรกิจ การเงินต่างๆ ใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อทำให้ชีวิตสะดวกสบายขึ้น และใช้เวลาใช้งานนานมากขึ้นด้วย ไม่ได้แค่ใช้โทรศัพท์ หรือใช้ไลน์อย่างเดียวอีกต่อไป

หลับตื่น ต้องไม่ลืมมือถือ

การใช้ชีวิตของผู้บริโภคในกลุ่มตัวอย่างมีการเปลี่ยนแปลงในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อินเทอร์เน็ตได้เข้าไปอยู่ในชีวิตของคนทุกคนไปแล้ว มีการใช้อินเทอร์เน็ตหนักขึ้น ผลสำรวจในเรื่องของระยะเวลาในการใช้อินเทอร์เน็ตของกลุ่ม New Internet User ในปี 2559 พบว่ามีระยะเวลาในการใช้คือครึ่งวันแต่ผลสำรวจใหม่ในปี 2560 พบว่าคนกลุ่มนี้มีการใช้เพิ่มขึ้นเป็นใช้ทั้งวันหยุดใช้เพียงแค่ตอนนอนเท่านั้น เท่ากับว่ามือถือกลายเป็นสิ่งสำคัญเวลาที่ตื่น เวลานอนก็ยังวางไว้ข้างตัว

ปัจจุบันอินเทอร์เน็ตได้สร้างอาชีพให้พวกเขาในการสร้างธุรกิจ SME ในการขายของออนไลน์ หรือการใช้อินเทอร์เน็ตช่วยโปรโมต มีการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตจากเดิมมากที่มีอาชีพเกษตรกรรม หัตถกรรม และโรงงานอุตสาหกรรมเป็นอาชีพหลัก แต่ทุกวันนี้อาชีพเกษตรกรรมยังคงมีอยู่ เพราะมีต่างจังหวัดยังเป็นอาชีพหลัก และบางครอบครัวมีพื้นที่ที่สืบทอดต่อกัน แต่หัตถกรรมถูกแทนที่ด้วยงานบริการ และอุตสาหกรรมถูกแทนที่ด้วยธุรกิจ SME โดยคนรุ่นใหม่

ในกรุงเทพฯ ก็พบว่ามีการใช้อินเทอร์เน็ตในการขายของออนไลน์เพื่อสร้างอาชีพให้ตัวเองเช่นกัน และเริ่มใช้ก่อนต่างจังหวัดมานานแล้ว มีการใช้เรื่องการบริการด้วย อย่าง การจองร้านอาหาร สั่งซื้ออาหารต่างๆ

6 กลุ่มแอปฯ ที่คนไทยขาดไม่ได้

คนกลุ่มนี้ยังมีพฤติกรรมการใช้แอปพลิเคชั่นมากขึ้น ไม่ได้ใช้แค่แอปพลิเคชั่นหลักอย่างไลน์ เฟซบุ๊ก ยูทิวบ์แล้ว เขามองว่าแอปพลิเคชั่นบนมือถือสามารถช่วยทำให้ใช้ชีวิตดีขึ้น สะดวกขึ้น และมีความสุขมากขึ้น

แอปพลิเคชั่นสำหรับคนยุคนี้หลักๆ แบ่งได้ถึง 6 กลุ่มด้วยกัน

  1. โซเชียลมีเดีย ได้แก่ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ไลน์ เมสเซนเจอร์
  2. บันเทิงได้แก่ยูทิวบ์ ไลน์ทีวี และจู๊กซ์
  3. การเงิน เป็นแอปพลิเคชั่นของธนาคาร เช่น กสิกรไทย ไทยพาณิชย์ กรุงศรีฯ และกรุงไทย
  4. การเดินทาง กูเกิลแมป เฟซบุ๊ก อูเบอร์ และแกร็บ
  5. ช้อปปิ้ง ได้แก่ ลาซาด้า ขายดี ซาโลร่า และร้านค้าทั่วไปในโซเชียลมีเดีย
  6. อาหาร ได้แก่ ไลน์แมน แกร็บ และอื่นๆ

ในเรื่องของการใช้มือถือ แต่ก่อนเป็นการใช้ร่วมกันในครอบครัว ซื้อมา 1 เครื่องแล้วใช้ร่วมกัน แต่ตอนนี้มือถือได้กลายเป็น Personal ID ทุกคนเป็นเจ้าของคนละเครื่อง เพราะมือถือมีราคาถูกลง สามารถครอบครองได้ และในมือถือของแต่ละคนจะมีข้อมูลส่วนตัว กลายเป็นว่าในการทำกิจกรรม หรือการซื้อของบนโลกออนไลน์ก็จะมีข้อมูลเก็บไว้ เพราะฉะนั้นจะระมัดระวังในการใช้มากขึ้น มีความรู้เรื่องความเป็นส่วนตัวมากขึ้น

วิดีโอ เพลง สื่อออนไลน์ยอดนิยม

สื่อออนไลน์ยอดนิยมที่ผู้บริโภคนิยมใช้ยังเป็นเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ เขามองว่าถ้าอยากรู้อะไรสามารถค้นหาภายในเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ หรือในโซเชียลมีเดียอื่นๆ ได้ทันที ตอบรับกับพฤติกรรมใจร้อนที่อยากรู้อะไรต้องได้รู้ตอนนั้น

ในวิจัยชิ้นนี้ได้ระบุถึงสื่อออนไลน์ยอดนิยมที่คนกลุ่มนี้ชอบใช้นอกจากโซเชียลมีเดีย แบ่งเป็น 2 รูปแบบคือ สื่อแบบวิดีโอ และเพลง

โดยที่พฤติกรรมการเสพวิดีโอ นิยมดูผ่านยูทิวบ์ และไลน์ทีวี ส่วนเพลงมีการฟังผ่านยูทิวบ์ และ JOOX เพราะมีฟีเจอร์เพลย์ลิสต์ที่สามารถสื่อสารแทนตัวตนของตัวเองได้หรือแทนความรู้สึกในตอนนั้นหาฟังได้ง่าย

อย่าคิดว่าแมสนะ

การทำคอนเทนต์บางรายการที่คิดว่าแมสแล้ว แต่จริงๆ ยังไม่แมส ไม่สามารถเข้าถึงคนได้ทั่วประเทศ บางคอนเทนต์คนต่างจังหวัดก็ไม่อินไปตามกระแส

ในขณะที่คนกรุงเทพฯ อินกับรายการ The Mask Singer กันทั้งบ้านทั้งเมือง แต่คนต่างจังหวัดแต่เขาบอกว่าไม่ได้ดู เขาชอบดูการประกวด Miss Universe มากกว่า ถึงขนาดยอมลบแอปในมือถือเพื่อมีพื้นที่ในมือถือและสามารถดูรายการได้

หรือ คนต่างจังหวัด ชอบดูไดอารี่ตุ๊ดซี่ส์ คอนเทนต์แรงๆ ที่ได้แรงบันดาลใจจากเรื่องจริงจากเพจบันทึกของตุ๊ดทำให้ผู้บริโภคชอบดู

จากพฤติกรรมนี้บอกได้ว่าเขายังเลือกดูคอนเทนต์ที่เขาชอบอยู่ ไม่ได้เลือกดูคอนเทนต์ตามกระแส ต่างจากคนกรุงเทพฯ ที่ไม่ยอมตกเกทรนด์ต้องดูคอนเทนต์ตามกระแส เพื่อให้คุยกับคนอื่นรู้เรื่อง ผู้ผลิตคอนเทนต์สามารถทำคอนเทนต์เพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมายแต่ละพื้นที่ได้ตามความสนใจของแต่ละกลุ่ม

ไลน์ทีวี – ยูทิวบ์ ตอบโจทย์คนดูต่างกัน

จากผลสำรวจผู้บริโภคได้มองความแตกต่างของไลน์ทีวี และยูทิวบ์ว่า ไลน์ทีวีมีเอ็กซ์คลูซีฟคอนเทนต์ที่ทำให้ดูพิเศษหาดูที่อื่นไม่ได้ และมีการอัปโหลดเร็วกว่ายูทิวบ์ ถ้าเขารู้ว่าตัวเองอยากดูอะไรก็มาหาในไลน์ทีวีได้เลย แต่ถ้ายังไม่รู้ว่าตอนนั้นอยากดูอะไรไปค้นหาในยูทิวบ์ก็จะมีให้เลือกเยอะกว่าเพราะมีคอนเทนต์มากกว่า

นิยมใช้ไวไฟฟรี

เรื่องพฤติกรรมการใช้เงินพบว่าคนต่างจังหวัดยังมีข้อจำกัดในการใช้จ่ายเงินกับการใช้อินเทอร์เน็ตผ่านมือถืออยู่ ยังไม่มีการซื้อแพ็กเกจอินเทอร์เน็ตมากนัก ส่วนใหญ่ใช้ไวไฟฟรีตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งโอเปอเรเตอร์ก็เริ่มมีการทำแคมเปญที่ฟังเพลงผ่านแอปพลิเคชั่นแล้วไม่เสียดาต้าอย่างดีแทค ทำให้มีผู้ใช้บริการ แบรนด์สามารถทำโปรโมชั่นกับกลุ่มลูกค้าได้ผ่านมือถือที่เขาใช้อยู่

ส่วนการทำธุรกรรมทางการเงินพบว่า คนกลุ่มนี้เปิดใจในการใช้แอปพลิเคชั่นผ่านมือถือของธนาคารมากขึ้นจากเดิมที่กังวลเรื่องความปลอดภัยไม่กล้าใช้ตอนนี้มีพฤติกรรมการใช้มากขึ้นเพราะสะดวก หลายคนบอกว่ามีเวลาทำอย่างอื่นได้ มองว่าไม่พกกระเป๋าเงินก็ไม่เป็นไรยังสามารถโอนเงินผ่านมือถือได้