งบโฆษณาไตรมาสแรก ปี 60 ติดลบ 5% แบรนด์สาดงบลดลงเหลือ 2.6 หมื่นล้าน

ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ยังซบเซา มาดูกันว่างบโฆษณาที่ใช้ไปในช่วงไตรมาสแรกของปี 2560 (มกราคมมีนาคม 2560) ใช้ไป 26,036 ล้านบาท ติดลบไป 4.49% เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปี 2559 ใช้ไป 27,261 ล้านบาท

ใช้งบโฆษณาช่องทีวีเดิม (ANALOG TV) ช่อง 3 และช่อง 7 เป็นเงิน 11,363 ล้านบาท ลดลง 9.33% เมื่อเทียบกับไตรมาสแรก ปี 2559 ที่ใช้งบกับช่องเหล่านี้ 12,532 ล้านบาท แม้จะใช้งบลดลงต่อเนื่อง แต่ยังคงครองสัดส่วนการใช้งบสูงสุด คือ 43.64%

ในขณะที่ทีวีดิจิทัล ใช้งบไป 5,435 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.03% คิดเป็นสัดส่วนการใช้งบโฆษณา 20.87% เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

สื่อที่ใช้งบโฆษณาลดลง คือ เคเบิลทีวี และทีวีดาวเทียม มีการใช้งบโฆษณา 868 ล้านบาท ยังคงติดลบ 14.57% สื่อวิทยุ 1,050 ล้านบาท ติดลบ 17.26%, หนังสือพิมพ์ 2,044 ล้านบาท ลดลง 17.26% นิตยสาร ใช้ดลดลงเหลือ 484 ล้านบาท ติดลบถึง 35.98% และสื่อรถประจำทาง (Transit) ใช้ไป 1,174 ล้านบาท ติดลบไป 0.93% 

ส่วนสื่อโฆษณาที่ใช้งบโฆษณาเพิ่มขึ้นนอกจากทีวีดิจิทัล คือ สื่อในโรงภาพยนตร์ 1,533 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 35.07%  สื่อกลางแจ้ง* (outdoor) 515 ล้านบาท ใช้เพิ่มขึ้น 23.21% สื่อโฆษณาในห้างสรรพสินค้า** 284 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 55.97% 

สำหรับสื่ออินเทอร์เน็ต *** (เฉพาะ 50 เว็บไซต์ยอดนิยม และ 10 เว็บไซต์ยอดนิยมบนมือถือ) ข้อมูลจากนีลเส็น 370 ล้านบาท ติดลบ 10.63%


หมายเหตุ

*ตั้งแต่ กุมภาพันธ์ 2560 เป็นต้นไปข้อมูลของสื่อกลางแจ้ง (outdoor) สื่อเคลื่อนที่ (transit) และสื่อในสนามบิน จะไม่ได้รวมข้อมูลจาก  JCDecaux นีลเส็นได้มีการเพิ่มพื้นที่การเก็บข้อมูลสื่อกลางแจ้ง (outdoor) เช่น สื่อเคลื่อนที่ (transit)ป้ายบิลบอร์ดป้ายโฆษณาบนทางเท้า, สื่อสนามบิน และอื่นๆ ตั้งแต่เดือนมกราคม ปี 2559 เป็นต้นมา 

** สื่อในห้าง นีลเส็นได้มีการเพิ่มข้อมูล สื่อวิทยุในห้าง Big C และ 7 Eleven เข้ามาในฐานข้อมูล ตั้งแต่เดือนมกราคม 2559 ทั้งนี้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2558 ข้อมูลของสื่อในห้าง Tesco Lotus และ Big C ไม่ได้รวมอยู่ในฐานข้อมูลของนีลเส็น

ตั้งแต่เดือน มิถุนายน 2559 เป็นต้นมา ได้มีการเพิ่มสื่อที่บริหารจัดการโดยบริษัท Plan B เข้ามาในฐานข้อมูลของสื่อกลางแจ้งสื่อเคลื่อนที่ และสื่อในห้าง

*** อินเทอร์เน็ต – ตั้งแต่เดือนมกราคม ปี 2559 นีลเส็นได้มีการขยายการเก็บข้อมูลโมษณาผ่านสื่ออินเทอร์เน็ตโดยครอบคลุม 50 เว็บไซต์ยอดนิยม และ 10 เว็บไซต์ยอดนิยมบนมือถือ

สำหรับภาพรวมการใช้งบโฆษณาผ่านสื่ออินเทอร์เน็ตทั้งหมดกรุณาอ้างอิงข้อมูลจาก DAAT


10 แบรนด์ ใช้งบโฆษณาสูงสุด ไตรมาสแรก ปี’60 โคเรียคิง แชมป์เทงบ 579 ล้านบาท แซงหน้าแบรนด์ค่ายรถดัง – น้ำดื่ม

สำหรับ 10 อันดับ ของแบรนด์ ใช้งบซื้อสื่อโฆษณาสูงสุด ในช่วง ไตรมาสแรก ปี 2560 (มกราคม-มีนาคม 2560) นีลเส็น ประเทศไทย รายงานว่า กระทะโคเรียคิง ยังครองแชมป์ใช้งบโฆษณามาเป็นอันดับแรก 579 ล้านบาท โตโยต้า ปิกอัพ อันดับ 2 ใช้งบไป 247 ล้านบาท

อันดับ 3 เป็นของค่ายช้าง คอร์ปอเรชั่น ใช้ไป 237 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรก ปี 59 ใช้ไป 53 ล้านบาท) อันดับ 4 โค้ก ใช้งบไป 225 ล้านบาท (ลดลงจากไตรมาสแรกปี 59 ใช้ไป 295 ล้านบาท)

อันดับ 5 รถยนต์นั่งโตโยต้า 215 ล้านบาท อันดับ 6 ดีแทค 206 ล้านบาท (ลดลงจากไตรมาสแรกปี 59 ใช้ไป 244 ล้านบาท) อันดับ 7 เทสโก้โลตัส 162 ล้านบาท (ลดลงจากไตรมาสแรกปี 59 ใช้ไป 177 ล้านบาท)

อันดับ 8 น้ำยาปรับผ้านุ่มดาวน์นี่ ใช้งบไป 159 ล้านบาท (อัดฉีดงบโฆษณาเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่า เมื่อเทียบจากไตรมาสแรกปี 59 ใช้ไป 65 ล้านบาท)  อันดับ 9 อีซูซุ ปิกอัพ 153 ล้านบาท (ลดลงเมื่อเทียบกับปี 59 ใช้ไป 178 ล้านบาท อันดับ 10 เป็นของโทรศัพท์มือถือออปโป้ 150 ล้านบาท  ค่ายนี้อัดงบโฆษณาเพื่อบุกตลาดเพิ่มขึ้นมาก เมื่อเทียบกับปี 59 ใช้งบไป 34 ล้านบาท


หมายเหตุ ไม่รวม Classified, CD/DVD (Musical & Film Products), Government & Community Announce, Leisure, House ad.


ค่ายนอก ยูนิลีเวอร์-เนสท์เล่-ลอรีอัลอายิโนะโมะโต๊ะ พาเหรดหั่นงบโฆษณา ไตรมาสแรก 60

จากงบโฆษณาในช่วงไตรมาสแรกของปี 2560 ที่ใช้ไป 26,036 ล้านบาท มาดูกันว่า 10 อันดับแรกของ Advertisers หรือองค์กรที่ใช้งบโฆษณาสูงสุด จะเป็นใครกันบ้าง

ถึงแม้ว่าบริษัท ยูนิลีเวอร์ (ไทย) ยังติดอันดับ 1 ขององค์กรใช้งบโฆษณาสูงสุด ใช้งบโฆษณา 862 ล้านบาท แต่ค่ายนี้ยังคงลดงบโฆษณาต่อเนื่อง เมื่อนำไปเทียบกับไตรมาสแรกของปี 59 ใช้ไป 1,198 ล้านบาท ถือว่าลดลงค่อนข้างมาก

ส่วนอันดับ 2 บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย 598 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นจากปี 59 ใช้ไป 591 ล้านบาท)

อันดับ 3 บริษัท Wizard solutions (ผู้นำเข้าและจำหน่ายกระทะโคเรียคิง) 579 ล้านบาท ติดโผใช้งบโฆษณาสูงสด ใช้เพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรกปี 59 ใช้ไป 415 ล้านบาท อันดับ 4 บริษัท พรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล (ประเทศไทย) หรือ พีแอนด์จี หันมาใช้งบเพิ่มขึ้น 569 ล้านบาท (ไตรมาสแรกปี 59 ใช้ไป 392 ล้านบาท)

อันดับ 5 บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) 418 ล้านบาท ใช้เพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรกปี 59 ด้วยงบ 170 ล้านบาท อันดับ 6 บริษัทเนสท์เล่ (ไทย) จำกัด  376 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยจากปี 59 ใช้ไป 378 ล้านบาท

อันดับ 7 บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ เซลส์ 345 ล้านบาท ใช้ลดลง อันดับ 8 บริษัท ไบเออร์สด๊อรฟ ประเทศไทย ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์นีเวีย 344 ล้านบาท ใช้ลดลง เทียบกับไตรมาสแรกของปี 59 ใช้ไป 366 ล้านบาท

อันดับ 9 บริษัท ตรีเพชร อีซูซุ 342 ล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบไตรมาสแรกปี 59 ใช้ไป 386 ล้านบาท และบริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) 316 ล้านบาท ใช้ลดลง เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปี 59 ใช้ไป 334 ล้านบาท


หมายเหตุ :  ไม่รวม Exclude Section : Classified, House ads