“ตู้บุญเติม” เติมธุรกิจให้โต ด้วยโมเดลแฟรนไชส์

บุญเติม เป็นหนึ่งผู้เล่นในตลาดตู้เติมเงินออนไลน์ อยู่ในตลาดมาเกือบ 9 ปีเต็มแล้ว ภายใต้การบริหารของบริษัท ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ปัจจุบันมีตู้ให้บริการรวม 103,000 ตู้ทั่วประเทศ มียอดการใช้บริการเฉลี่ย 2.1 ล้านรายการ/วัน โดยที่ตลาดรวมตู้เติมเงินออนไลน์มีกว่า 200,000-300,000 ตู้ มีผู้เล่นอีก 2 รายก็คือซิงเกอร์ และเอเจ

บริการของบุญเติมเริ่มต้นบริการเติมเงินโทรศัพท์มือถือ บริการชำระเงินออนไลน์ จ่ายบิล โอนเงินต่างๆ โดยรายได้จากค่าธรรมเนียมราว 10% ต่อรายการ และนำรายได้ที่ว่านี้มาแบ่งกับพาร์ตเนอร์ที่เป็นแฟรนไชส์อีก 3-5%

โมเดลการลงทุนของบุญเติมแบ่งเป็นการลงทุนเอง 20% และขยายผ่านแฟรนไชส์ 80% เป็นโมเดลธุรกิจหลัก ทำให้ให้ไม่ต้องเสียเวลาในการเลือกทำเลที่ตั้ง จะมีตัวแทนรายใหญ่หรือมาสเตอร์ เอเยนต์ในแต่ละพื้นที่ซี่งจะเชี่ยวชาญเรื่องทำเลท้องถิ่นมากกว่า ตอนนี้มี 256 ราย มีทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด จากนั้นก็ให้มาสเตอร์เอเยนต์ขยายต่อเป็นดาวน์ไลน์ หรือเรียกว่าลูกตู้ ปัจจุบันมีกว่า 60,000 รายณรงค์ศักดิ์ เลิศทรัพย์ทวี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส จำกัด ล่าถึงภาพรวมธุรกิจให้ฟัง

แฟรนไชส์ของบุญเติมจะลงทุนค่าแรกเข้า 7,000 บาท และเงินค้ำประกัน 5,000 บาท (เมื่อยกเลิกได้เงินคืนจะได้รายได้จากส่วนแบ่งที่ทางบุญเติมได้จากค่าธรรมเนียม เฉลี่ยแล้วได้เดือนละ 800 บาท/ตู้ ประมาณ 10 เดือนสามารถคืนทุนได้

ณรงค์ศักดิ์ บอกว่า รูปแบบแฟรนไชส์จะแตกต่างจากอีก 2 แบรนด์ คู่แข่ง (ซิงเกอร์ และเอเจ) ที่จะให้ซื้อตู้แบบถาวร ต้องผ่อนค่าตู้ และถ้าบางเดือนมีผู้ใช้งานน้อยทำให้มีรายได้น้อย บางรายก็ปิดไป

เนื่องจากความเสี่ยงของธุรกิจนี้ส่วนใหญ่อยู่ที่ทำเลที่ตั้งของตู้ ต้องเลือกทำเลที่ตั้งดีๆ มีคนใช้บริการ ถ้าทำเลที่คนน้อยก็อาจจะไม่คุ้มกับการลงทุน

บริษัทจะลงทุนในการผลิตตู้ที่ต้นทุนอยู่ที่ตู้ละ 27,000 บาทบริษัทจะช่วยเรื่องออกแบบและทำการวิจัยจากความต้องการผู้บริโภคมีส่งเสริมการขายบ้างความเสีย่งน้อยทั้งบริษัทและแฟรนไชส์ถ้าตั้งทำเลไม่ดีไม่มีคนใช้บริการก็สามารถย้ายที่ตั้งได้

โอกาสการเติบโตของตลาดนี้ยังมีมาก เพราะจากฐานลูกค้าที่มีการใช้งานบุญเติมรวม 24 ล้านหมายเลข คิดเป็น 30% ของตลาดลูกค้าเติมเงิน ยังมีอีกกว่า 40 ล้านเบอร์ยังเติมเงินทางอื่น ความท้าทายจึงต้องทำให้ลูกค้าใหม่ๆ ได้ทดลองใช้

สำหรับตู้ที่ทางบริษัทลงทุนเองอีก 20% ส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ที่ร้านสะดวกซื้อ ค้าปลีก ปั๊มน้ำมันต่างๆ ที่มีสาขาเยอะๆ ทางบริษัทจะเป็นผู้ดำเนินการพูดคุยเอง และมีการแบ่งรายได้กับเจ้าของที่ อย่างที่ตั้งหน้าเซเว่นตอนนี้มีอยู่ 8,000 สาขา

ทางทรูจะออกมาทำตู้เติมเงินเอง แล้วอาจจะตั้งหน้าเซเว่นนั้น ทางณรงค์ศักดิ์มองว่าไม่กระทบกับบุญเติม เพราะทรูก็มีช่องทางเติมเงินในเซเว่นอยู่แล้วคงไม่เอามาชนกัน การที่มีตู้บุญเติมตั้งอยู่ข้างหน้าทางเซเว่นก็ได้รับผลประโยชน์ไปด้วย เพราะลูกค้าก็มาซื้อของต่อ

จุดเด่นสำคัญของตู้บุญเติมที่แตกต่างจากกการเติมเงินในช่องทางอื่นๆ ก็คือสามารถเติมเงินได้ตั้งแต 10 บาท ในขณะที่เติมผ่านค้าปลีกอื่นๆ ส่วนใหญ่ขั้นต่ำอยู่ที่ 20-50 บาท

โจทย์และความท้าทายของตู้บุญเติมในปีนี้ ต้องการกระจายให้ครอบคลุมทั่วประเทศ และขยายฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ มากขึ้น เพราะปัจจุบันลูกค้ากลุ่มใหญ่เป็นกลุ่มระดับกลางล่าง ต้องการคนรุ่นใหม่มากขึ้น

ทำให้ต้องเพิ่มบริการใหม่ๆ ทั้งบริการใส่ตู้เดิม และบริการด้านดิจิทัล เพื่อจับกลุ่มคนรุ่นใหม่ เช่น การจ่ายค่าปรับจราจรผ่านตู้ ซื้อแพ็กเกจดาต้ามือถือได้ และบริการโอนเงิน ซึ่งปัจจุบันยังมีแค่ 2 ธนาคาร กสิกรไทย และกรุงไทย ต้องดึงธนาคารอื่นๆให้มาร่วมมากขึ้น รวมถึงมีตู้ขนาดใหญ่ที่เป็นตู้ Vending กดขวดน้ำได้

ส่วนบริการด้านดิจิทัลได้แตกบริการ House of Ticket เป็นเว็บไซต์สำหรับจองตั๋วคอนเสิร์ต หรืองานอีเวนต์ เพิ่งเปิดตัวเมื่อปี 2559 และออกแอปพลิเคชั่น Be Wallet เป็นอีมันนี่ที่ใช้จ่ายเงินผ่านแอปพลิเคชั่น สำหรับคนรุ่นใหม่ เพิ่งเปิดตัวเมื่อต้นปีที่ผ่านมา

โดยปีนี้ได้ใช้งบบงทุนรวม 1,000 ล้านบาทในการขยายธุรกิจ และบริการใหม่ๆ ใช้งบการตลาด 0.2% จากยอดเติมเงิน ในช่วงไตรมาส 1 ของปี 2560 มีรายได้ 777 ล้านบาท เติบโต 48% กำไร 132 ล้านบาท เติบโต 50% มียอดเติมเงินรวม 8,000 ล้านบาท เติบโต 63% ตั้งเป้ายอดเติมเงินรวมในสิ้นปีนี้ 32,000 ล้านบาท (ยังไม่หักค่าบริการ) และตั้งเป้ามีตู้บุญเติม 122,000 ตู้