เปิดชิงลิขสิทธิ์ถ่ายทอด “วอลเลย์บอลไทยลีก” ทรู-เดนสึ-ไอเอ็มจี-ช่อง 3-ไทยรัฐ ชิงชัย

นับเป็นอีกกีฬาที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้สมาคมกีฬาวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทย จึงเตรียมให้เอกชนหน้าใหม่เสนอตัวจัดการ ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดวอลเลย์บอลไทยแลนด์ลีก แทน “สยามสปอร์ต” ตั้งเป้าสิทธิประโยชน์ไม่ต่ำกว่าปีละ 50 ล้านบาท

ร.อ.จักรสุวรรณ โตเจริญ เลขาธิการสมาคมกีฬาวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สมาคมวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทยได้เปิดให้เอกชนผู้สนใจเสนอรูปแบบการบริหารสิทธิประโยชน์และการจัดการลิขสิทธิ์การแข่งขัน “วอลเลย์บอลไทยแลนด์ลีก” สำหรับฤดูกาลปี 2561 เป็นต้นไป หลังจากที่ลิขสิทธิ์เดิมที่เป็นของกลุ่มสยามสปอร์ตจะสิ้นสุดลงในมีนาคม 2561

ร.อ.จักรสุวรรณ กล่าวว่า ทางสมาคมต้องการข้อเสนอที่จะให้ประโยชน์สูงสุดกับสมาคม สโมสร และตัวนักกีฬาที่ทำการแข่งขัน โดยเปิดกว้างให้สามารถเสนอได้ทุกรูปแบบ เพราะขณะนี้กีฬาวอลเลย์บอลเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น มีการแข่งขันในหลายระดับตั้งแต่เยาวชนจนถึงอาชีพในรูปแบบสโมสร ทางสมาคมจึงเล็งเห็นว่าเป็นการสร้่างโอกาสให้สมาคมได้ปรับรูปแบบการบริหารผลประโยชน์ เพื่อจะนำมาสนับสนุนสโมสรกีฬา และนักกีฬาให้ได้รับผลตอบแทนที่ดีขึ้นด้วย

“ขณะนี้มีเอกชนที่มีศักยภาพและเริ่มให้ความสนใจมาบ้างแล้ว เช่น กลุ่มทรู คอร์ปอร์เรชั่น เดนสึ ไอเอ็มจี ช่อง 3 และไทยรัฐ เราก็พร้อมเปิดรับทุกข้อเสนอ เพื่อมีเวลาเตรียมตัวในการพิจารณา” น.อ.จักรสุวรรณ กล่าว

ทั้งนี้เบื้องต้นทางสมาคมตั้งเป้าว่ารายได้ที่สมาคมควรจะได้ต่อปีไม่ควรต่ำกว่า 50 ล้านบาท เพราะต้องครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการจัดการแข่งขัน การให้เงินสนับสนุนแต่ละสโมสรทั้งทีมชายและหญิงรวมจำนวน 16 ทีม แบ่งเป็นทีมชาย 8 ทีม และทีมหญิง 8 ทีม

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดทางกลุ่มสยามสปอร์ตได้ทำหนังสือถึงสมาคมว่า ขอยื่นข้อเสนอเป็นตัวแทนสมาคมในการเจรจากับเอกชนผู้สนใจในการเสนอรูปแบบการบริหารสิทธิประโยชน์และการจัดการลิขสิทธิ์การแข่งขันวอลเลย์บอลไทยแลนด์ลีก โดยไม่ได้ระบุว่าจะมีการประกันวงเงินรายได้ขั้นต่ำต่อปีเท่าไร

กลุ่มสยามสปอร์ตได้เข้ามารับจัดการลิขสิทธิ์รายการนี้มาตั้งแต่ฤดูกาล 2012 เพื่อช่วยโปรโมตการแข่งขันกีฬาวอลเลย์บอลของไทย เนื่องจากขณะนั้นกีฬาวอลเลย์บอลยังไม่ได้รับความนิยมมากนัก และกลุ่มสยามสปอร์ตก็มีสื่อในเครือมากมายที่ช่วยทำการประชาสัมพันธ์กิจกรรมต่างๆ ดังนั้นข้อตกลงที่ผ่านมาจึงไม่มีการระบุเรื่องสิทธิประโยชน์รายได้ที่สมาคมจะได้รับ

ร.อ.จักรสุวรรณ กล่าวว่า รูปแบบของสัญญากับกลุ่มสยามสปอร์ตที่ผ่านมา ทางสมาคมไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ในรูปรายได้ใดๆ เลย แต่จะเป็นการจ่ายเงินค่าสนับสนุนให้กับแต่ละสโมสรเป็นรายปีแทนเท่านั้น ซึ่งจะเพิ่มขึ้นทุกปีตามความนิยมและรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการจัดการแข่งขัน โดยในปีนี้แต่ละสโมสรได้รับเงินสนับสนุนทีมละ 1.3 ล้านบาทต่อปีเท่านั้น สำหรับค่าทำทีม ค่าตัวนักกีฬา ค่าเดินทาง และค่าฝึกซ้อม ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนน้อยมากสำหรับค่าใช้จ่ายในการทำทีมแต่ละสโมสร

“ค่าใช้จ่ายในการทำทีมปัจจุบันต้องใช้มากกว่า 6-7 ล้านบาทต่อปี รวมทั้งค่าตัวนักกีฬาไทย และนักกีฬาต่างชาติ ทำให้แต่ละสโมสรต้องดิ้นหาสปอนเซอร์เพื่อความอยู่รอดเอง หากมีรายได้เพิ่มจากลิขสิทธิ์ แต่ละสโมสรก็จะได้รับผลประโยชน์มากขึ้น และนักกีฬาก็จะได้รับค่าตัวได้มากขึ้นเป็นลำดับ” น.อ.จักรสุวรรณ กล่าว

สำหรับลิขสิทธิ์การถ่ายทอดการแข่งขันวอลเลย์บอลไทยแลนด์ลีกที่ผ่านมา ทางสยามสปอร์ต ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) ของกลุ่มสยามสปอร์ตได้ขายลิขสิทธิ์ให้ทรูวิชั่นส์ ของกลุ่มทรู คอร์ปอเรชั่น นำไปถ่ายทอดอีกต่อหนึ่ง

วอลเลย์บอลไทยแลนด์ลีก เป็นการแข่งขันวอลเลย์บอลลีกอาชีพระดับสูงสุดของประเทศไทย ภายใต้การบริหารของสมาคมกีฬาวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทย มีทีมเข้าแข่งขันทั้งหมด 8 ทีม การแข่งขันแบบพบกันหมดในระบบเหย้าและเยือน เมื่อจบฤดูกาล 2 ทีมอันดับสุดท้ายของตารางจะตกชั้นลงในเล่นในวอลเลย์บอลดิวิชั่น 2 หรือโปรชาเลนจ์ และทีมจากวอลเลย์บอลดิวิชั่น 2 หรือโปรชาเลนจ์จะเลื่อนชั้นขึ้นมา โดยแชมป์ประจำฤดูกาลจะได้ผ่านเข้าไปเล่นในวอลเลย์บอลชิงแชมป์สโมสรเอเชียและวอลเลย์บอลไทยเดนมาร์กซูเปอร์ลีก และทีมอันดับที่ 1-6 จะได้ผ่านเข้าไปเล่นในวอลเลย์บอลไทยเดนมาร์คซูเปอร์ลีก ซึ่งเป็นรายการที่จัดขึ้นโดยบริษัทสยามอินเตอร์ มัลติมีเดีย หรือ SMM TV ซึ่งเป็นบริษัทที่เป็นพันธมิตรกับกลุ่มสยามสปอร์ต แชมป์ปัจจุบันทีมชายได้แก่ สโมสรวอลเลย์บอลแอร์ฟอร์ซ และทีมหญิง สโมสรวอลเลย์บอลสุพรีม ชลบุรี อีเทค

ทีมชนะได้รับเงินรางวัล 1 ล้านบาท และทีมรองชนะเลิศได้เงินรางวัล 5 แสนบาท จากเงินของการกีฬาแห่งประเทศไทยให้การสนับสนุน