“สรยุทธ-วู้ดดี้” เข้าข่าย OTT

ยังคงเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม เพราะไม่ใช่จะมีแค่ผู้ประกอบการ “วิดีโอ สตรีมมิ่ง” และช่องทีวีออนไลน์ ที่จัดอยู่ในผู้ให้บริการ OTT แต่ “สรุยุทธ-วู้ดดี้” ก็เข้าข่าย ผู้ผลิตคอนเทนต์บน OTT ที่มีคนติดตามจำนวนมาก ที่ต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลด้วยเช่นกัน

ลงทะเบียน OTT เข้าระบบกำกับดูแล

จากการเปิดเผยของ พ.อ.นที ศุกลรัตน์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ Over The Top (OTT) กล่าวว่า หลังจากประชุมกลุ่มย่อยผู้ประกอบการ OTT ที่มีรายได้จากการเรียกเก็บค่าสมาชิกรายเดือนหรือรายปี (Subscription Video on Demand หรือ SVoD) และผู้ประกอบการ OTT ที่มีรายได้หลักจากการโฆษณา (Advertising-Based Video on Demand หรือ AVoD) เช่น ช่อง 7 (Bugaboo) ช่อง 3 (3Live) โมโนแม็กซ์ (Monomaxxx) ไลน์ทีวี และแกรมมี่ ผู้ประกอบการได้เสนอให้สำนักงาน กสทช. ให้ผู้ให้บริการ OTT เข้าสู่ระบบการกำกับดูแล โดยให้มีการลงทะเบียนผู้ให้บริการเพื่อเก็บข้อมูลเบื้องต้น ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ เฟซบุ๊กส่งเพียงตัวแทนด้านกฎหมายมารับฟังเท่านั้น ซึ่งไม่ได้แสดงความคิดเห็นแต่อย่างใด

ผู้ประกอบการไทย-ต่างชาติต้องใช้กติกาเดียวกัน

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการ เห็นว่า การลงทะเบียนเข้าสู่ระบบจะทำให้สำนักงาน กสทช.สามารถดำเนินการป้องกัน และปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ของบริการ OTT ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถดูแลเนื้อหาให้เหมาะสมแก่เด็ก และเยาวชน นอกจากนี้ ผู้ประกอบการได้เสนอแนะให้สำนักงาน กสทช.ออกแนวทางการกำกับดูแลผู้ประกอบการไทย และต่างประเทศให้เท่าเทียมกัน รวมทั้งควรมีการเตรียมรับมือผู้ให้บริการ OTT ต่างประเทศที่ละเมิดลิขสิทธิ์ แต่ผู้ชมไทยยังสามารถรับชมได้

ส่วนผู้ประกอบการ OTT รายใหญ่ของไทย ต้องการให้ผู้ประกอบการ OTT รายใหญ่จากต่างประเทศให้ความร่วมมือกับสำนักงาน กสทช.โดยเข้าสู่ระบบการกำกับดูแลเหมือนกับผู้ประกอบการไทย เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม และช่วยกันพัฒนากิจการกระจายเสียง และโทรทัศน์ในประเทศไทยด้วย

โดยคาดว่าภายในเดือน มิ.ย. จะเริ่มเห็นว่าควรใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ. กสทช.ที่มีอยู่ หรือต้องออกกฎอะไรเพิ่มหรือไม่ เพื่อให้มีผลบังคับใช้ภายในเดือน ก.ค.นี้

สำหรับการเชิญผู้ผลิตคอนเทนต์ลงยูทูป เฟซบุ๊ก เพื่อเข้าร่วมหารือในวันที่ 6 และ 7 มิถุนายน ตามลำดับนั้น พ.อ.นที กล่าวว่า จะเชิญเฉพาะผู้ที่มีคนติดตามจำนวนมากหลักล้านวิวเท่านั้น ซึ่งในประเทศไทยพบว่า มีผู้ผลิตทั้งที่เป็นนิติบุคคล และบุคคลธรรมดา อยู่ประมาณ 100 ยูสเซอร์ แต่คนผลิต 1 คนมักมีหลายยูสเซอร์ จึงคาดว่า น่าจะมีผู้ที่ กสทช.เชิญเข้ามาร่วมประชุมประมาณ 40-50 ราย เช่น จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่, นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา, วู้ดดี้ วุฒิธร มิลินทจินดา, เพจอิชิตัน, เพจข่าวสด, VRZO channel และ Spokedark TV เป็นต้น