ทำไม? ดีแทคคว้าคลื่น 2300 MHz

เผยรายละเอียดการยื่นซองประมูลคลื่น 2300 MHz พบ ดีแทคชนะทั้งในแง่เชิงเทคนิคและราคา เหนือกว่าคู่แข่ง 30% หวังเซ็นสัญญาแล้วเสร็จภายในตุลาคม 2560 ด้านดีแทคเผยเครื่องที่ใช้งานในระบบ 4G กว่า 70% รองรับการใช้งาน 2300 MHz อยู่แล้ว

นายมนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด กล่าวว่า เหตุผลที่เลือก กลุ่มบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด เป็นคู่ค้าในการให้บริการไร้สายคลื่นความถี่ 2300 MHz เนื่องจากให้ข้อเสนอทั้งด้านเทคนิคและรายได้เหนือกว่าผู้เข้าร่วมเสนอเงื่อนไขที่มีคะแนนเป็นอันดับ 2 ถึง 30% โดยจะเป็นผู้ดำเนินการจัดให้มีสถานีฐานจำนวนมากกว่า 20,000 แห่ง มากกว่าที่ทีโอทีตั้งไว้

ในเชิงของเทคโนโลยีทางดีแทค เสนอติดตั้งเทคโนโลยี LTE-TDD เวอร์ชัน 13 (Release 13) ในขณะที่รายอื่นเสนอให้ใช้งานบน Release 12 เช่นเดียวกับในแง่ของผลตอบที่ ที่ทางดีแทค ยื่นข้อเสนอผลตอบแทนที่ 4,510 ล้านบาทต่อปี ทำให้ดีแทคได้คะแนนประเมินทั้งเชิงเทคนิคและรายได้

หลังจากนี้ทีมของทีโอทีและดีแทคจะร่วมกันร่างสัญญาจริง เพื่อส่งให้คณะกรรมการกฎหมายของทีโอทีตรวจก่อนจะส่งให้คณะกรรมการทีโอที เห็นชอบภายในเดือนมิถุนายน จากนั้นต้องส่งให้ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ตรวจสอบความถูกต้อง ก่อนจะส่งให้อัยการสูงสุดเห็นชอบ คาดว่าจะลงนามสัญญาจริงได้ภายในเดือนตุลาคม 2560

สัญญาครั้งนี้ไม่ต้องส่งให้สำนักงานกฤษฎีกาตีความแต่อย่างใด เพราะเป็นสัญญาที่ทำถูกต้องตามมาตรา 46 ของ พ...กสทช. ใช้รูปแบบการโรมมิ่งตามประกาศของกสทชและเป็นรูปแบบการทำธุรกิจที่เคยมีการทำมาแล้ว ไม่ใช่เรื่องใหม่ จึงมั่นใจว่าจะไม่ล่าช้า เหมือนกรณีทำสัญญาทดลองกับ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ในคลื่น 2100 MHz ซึ่งเป็นเรื่องที่ทีโอทีเพิ่งเคยทำจึงทำให้การทำงานกับดีแทคจะเร็วขึ้นเพราะทีโอทีมีประสบการณ์แล้ว

นอกจากนี้ ดีแทคยังมีนโยบายสนับสนุนไทยแลนด์ 4.0 มีโครงการเน็ตอาสา ลงชุมชน ซึ่งสามารถหนุนโครงการเน็ตประชารัฐของทีโอทีได้ โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 25 ฤษภาคมที่ผ่านมากลุ่มเทเลนอร์ ดีแทค ทีโอที บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ได้เข้าพบกับนายกรัฐมนตรี เพื่อหารือเกี่ยวกับการสนับสนุนไทยแลนด์ 4.0 ด้วย

การที่สัญญาการให้บริการคลื่น 2300 MHz ของทีโอทีจะหมดในปี 2568 ทำให้ต้องมีการเร่งกระบวนการให้เร็วที่สุดอยู่แล้ว ดังนั้นเชื่อว่าจะไม่มีเหตุแทรกซ้อนที่ทำให้การเซ็นสัญญาต้องเลื่อนออกไป

ขณะเดียวกัน จากการเป็นพันธมิตรกับดีแทคครั้งนี้จะทำให้ทีโอทีมีรายได้จากกลุ่มธุรกิจโมบายล์ 15,000 ล้านบาทต่อปี จากเดิมที่มีรายได้จากเอไอเอสปีละ 10,000 ล้านบาท และจะทำให้ทีโอทีกลับมามีกำไรในปี 2562

ลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแท กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นทิศทางที่ดี เพราะเริ่มมีการนำคลื่นที่จากเดิมไม่ได้ใช้ประโยชน์ มาใช้งานประกอบกับความกว้างของแบนด์วิธจะกลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญให้ไทยก้าวไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 บนบริการที่มีคุณภาพ และเป็นพื้นฐานที่จะปลดล็อก เพื่อต่อยอดสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อีกมากมาย

ขณะที่ในมุมของทีโอที ก็จะได้เป็นพันธมิตรระหว่างภาครัฐและเอกชนที่มาสร้างประโยชน์ร่วมกัน เมื่อดีแทคนำคลื่นเหล่านี้มาใช้ทำให้เกิดประโยชน์ทั้งมูลค่าทางธุรกิจ มูลค่าทางเศรษฐกิจ และคลื่นนี้จะกลายเป็นส่วนเสริมในการให้บริการฟิกซ์บรอดแบนด์ของทีโอทีในอนาคต

จากรายละเอียดข้อตกลงคือ บริษัท เทเลเอสเสท จำกัด บริษัทลูกของดีแทค สร้างโครงข่ายให้ทีโอทีเช่าใช้งาน ดีแทค ก็จะซื้อคาปาซิตี้กลับมา 60% ส่วนที่เหลือให้ทีโอทีนำไปใช้ในการให้บริการต่อไป โดยทางที่ทางดีแทคต้องขยายให้ครอบคลุม 80% ของจำนวนประชากร

การได้คลื่นแบนด์วิธ 60 MHz ภายใต้คลื่นความถี่เดียว และกว้างที่สุด จะทำให้ดีแทคสามารถให้บริการ 4G LTE ได้ลื่นที่สุด และจะเป็นรายแรกที่ให้บริการเทคโนโลยี 4G LTE-TDD ที่เหมาะสำหรับการใช้งานดาต้าโดยเฉพาะ และมีการใช้งานกันทั่วโลก

สำหรับสิ่งที่แตกต่างระหว่าง LTE-TDD และ LTE-FDD คือ การรูปแบบของการแลกเปลี่ยนข้อมูลในส่วนของ FDD จะใช้การรับส่งข้อมูลบนคลื่นความถี่สูงต่ำพร้อมๆ กัน ในขณะที่ TDD จะใช้การแบ่งการรับสลับกับการส่งในแต่ละช่วงเวลาในระดับเสี้ยววินาที

เทคโนโลยี 4G LTE-TDD เป็นเทคโนโลยีที่มีการใช้งานทั่วโลก โดยเฉพาะในจีนที่ไชน่า โมบายล์ มีการติดตั้งสถานีฐานไปกว่า 1.5 ล้านสถานี ให้บริการลูกค้ากว่า 500 ล้านคน จึงเป็นเทคโนโลยีที่พิสูจน์แล้วว่าได้รับการยอมรับจากทั่วโลก

ส่วนในเรื่องของอุปกรณ์ที่รองรับ เชื่อว่าสมาร์ทโฟนในท้องตลาดที่มาจากเมืองจีน ส่วนใหญ่จะรองรับ Band 40 (2300 MHz) อยู่แล้ว และปัจจุบัน ในดีแทค เห็นว่า 70% ของลูกค้าที่ใช้งานเครื่อง 4G รองรับ 4G LTE-TDD 2300 MHz ประกอบกับจะมีการนำเข้ามาจำหน่ายเพิ่มเติมในอนาคตจึงไม่ใช่ปัญหา

ที่มา : http://manager.co.th/Cyberbiz/ViewNews.aspx?NewsID=9600000053717