“ไทยพาณิชย์” ปล่อยกู้จ่ายหนี้เลแมนฯ

ธนาคารไทยพาณิชย์ ชื่อย่อในตลาดหลักทรัพย์ว่า SCB นอกจากลงทุนหุ้นกู้กับเลแมนฯ และขายขาดทุนไปแล้ว ข้อตกลงที่เพิ่งตกลงสดๆ ร้อนๆ ก่อนหน้าที่เลแมนฯ จะประกาศล้มละลายไม่กี่เดือน คือการปล่อยกู้ให้บริษัทบริษัท แกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ GRAND ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทของไทยที่บริษัทในกลุ่มเลแมนฯ ถือหุ้นใหญ่ถึง 43.32% โดยเงินกู้ก้อนนี้สูงถึง 6,000 ล้านบาท

นอกจากแกรนด์ฯ มีเลแมนฯ ถือหุ้นแล้ว แกรนด์ฯ ยังเพิ่งออกหุ้นกู้ชุดล่าสุดประมาณ 10,404 ล้านบาทให้กลุ่มเลแมน บราเดอร์ส ภายใต้ชื่อบริษัทเลแมน บราเดอร์ส คอมเมอเชียล คอร์ปอเรชั่น เอเชีย จำกัด เมื่อเลแมนฯ ล้มละลาย จึงเป็นที่จับตามองว่าโครงการต่างๆ ของแกรนด์ฯ จะประสบปัญหาเงินทุนสำหรับนำมาก่อสร้างส่วนที่เหลือหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ทันทีที่บริษัทเลแมน บราเดอร์ส ประกาศ “ล้มละลาย” เมื่อกลางเดือนกันยายน 2551 นายมาร์คแลนด์ เบลคล็อค ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แกรนด์ฯ ได้ออกเอกสารข่าวชี้แจงทันทีว่าแกรนด์ฯ เตรียมพร้อมเสาะหาแหล่งทุนใหม่ตั้งแต่มีข่าวเกี่ยวกับเลแมนฯ และสถาบันการเงินในสหรัฐฯ ในกรณีจำเป็นต้องทดแทนเงินลงทุนที่เราได้รับจากผู้ให้กู้รายใหญ่ของเราในปัจจุบันซึ่งหมายถึงกลุ่มเลแมนฯ นั่นเอง

สิ่งที่นายเบลคล็อคประกาศชัดเจนคือ การเดินหน้าเต็มที่ใน 2 โครงการ โรงแรมเดอะรีเจ้นท์ แบงคอก และโรงแรมคราวน์พลาซ่า สุขุมวิท

สอดคล้องกับการจัดทำแผนการระดมทุนของ “แกรนด์ฯ” ที่เพิ่งเปลี่ยนแปลงเมื่อเดือนมิถุนายน 2551 โดยมีเป้าหมายลดการพึ่งพิงเงินจากเลแมนฯ โดยกู้เงินจากธนาคารไทยพาณิชย์แทน

25 กรกฎาคม 2551 “แกรนด์ฯ” ได้เสนอรายงานความเห็นของที่ปรึกษาทางการเงินต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ เกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนแหล่งเงินทุน สรุปใจความสำคัญได้ว่าตกลงกู้เงินจากธนาคารไทยพาณิชย์ เพราะกลุ่มเลแมนฯ ต้องการลดสัดส่วนการให้กู้ยืมผ่านการซื้อหุ้นกู้ จากเดิมตกลงซื้อหุ้นกู้ของ “แกรนด์ฯ” มูลค่า 10,404 ล้านบาท โดยเมื่อเดือนมิถุนายน 2551 เลแมนฯ แจ้งว่าจะแบ่งหุ้นกู้จำนวน 6,000 ล้านบาทให้ไทยพาณิชย์

การเจรจาระหว่างแกรนด์ฯ กับไทยพาณิชย์ สรุปลงตัวที่ไทยพาณิชย์ตกลงปล่อยกู้ให้แกรนด์ฯ จำนวน 6,000 ล้านบาท โดยแบ่งเงินเป็น 2 ส่วนคือ 2,500 ล้านบาทแกรนด์ฯ จะนำไปชำระคืนเงินต้นของหุ้นกู้ให้แก่เลแมนฯ และอีก 3,500 ล้านบาท ไทยพาณิชย์กำหนดใช้สำหรับให้ลงทุนเฉพาะโครงการคราวน์พลาซ่า และรีเจ้นท์โฮเทล (รีเจ้นท์ แบงคอก)

ข้อตกลงกับไทยพาณิชย์ครั้งนี้ถือเป็นดีลแรกระหว่างแกรนด์ฯ กับไทยพาณิชย์ โดยแกรนด์ฯ ระบุด้วยว่า “ในอดีตที่ผ่านมา บริษัทยังไม่เคยมีความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับ SCB มาก่อน แต่จากการที่บริษัทจะได้รับเงินกู้ยืมจาก SCB ในครั้งนี้ จะทำให้บริษัทเริ่มเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับ SCB อันจะช่วยให้เครือข่ายในการจัดหาแหล่งเงินทุนของบริษัทกว้างขวางมากยิ่งขึ้น อันน่าจะช่วยเพิ่มความสามารถในการระดมเงินทุนของบริษัทได้ในอนาคต”

ชัดเจนว่า แม้วงเงิน 6,000 ล้านบาทจะไม่สูงนักสำหรับยอดสินเชื่อรวมของไทยพาณิชย์ แต่ก็มากพอที่จะต่ออายุให้กับ “แกรนด์ฯ” หนึ่งในทรัพย์สินของเลแมนฯ ในไทย โดยแลกกับโครงการต่างๆ ของแกรนด์ฯ ที่นำมาค้ำประกัน เพียงแต่ว่าดีลแรกนี้จะคุ้มหรือไม่สำหรับธนาคารขนาดใหญ่อย่างไทยพาณิชย์ เพราะวิกฤตของสถาบันการเงินสหรัฐอเมริกา และการล้มละลายของเลแมนฯ ไม่ใช่กรณีแรก และยังไม่ใช่กรณีสุดท้ายอย่างแน่นอน