เพจดาร์ค? คืออะไร ทำไมน่าสนใจ

ความร้อนแรงของ “เพจสายดาร์ค” ที่เกิดขึ้นมากมายในเวลานี้ ไม่ว่าจะเป็น เพจแหม่มโพธิ์ดำ อีจัน อยากดังเดี๋ยวจัดให้  สามารถจุดติดความสนใจในโลกออนไลน์ กลายเป็นซัมบอดี้ สร้างความจดจำ มีคนติดตามอยู่มากมาย  ธาม เชื้อสถาปนศิริ นักวิชาการ สถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ ได้สรุปออกมา 10 ข้อ ถึงสาเหตุทำไม เพจดาร์ค จึงน่าสนใจ

สมควรวิเคราะห์ “เพจสายดาร์ค” เอาไว้สักนิด ว่าเหตุผลใดจึงเป็นที่นิยม และไว้วางใจจากประชาชนจำนวนมาก เผลอๆ มากกว่าเพจสื่อมวลชนเสียอีก

ลักษณะของเพจดาร์ค น่าจะมี 3 ข้อ คือ เพจที่แอดมินไม่เปิดเผยอัตลักษณ์, เป็นคนจริงๆ ที่สร้างตัวละครสมมุติ และมักโพสต์เนื้อหาที่รุนแรง ดราม่า เป็นกระแส โดยเฉพาะมีเป้าหมายเพื่อจุดประเด็นทางสังคม

เหตุผลที่เพจดาร์คเป็นที่ไว้วางใจ และนิยมมากขึ้น เป็นเพราะ

1. ประชาชนรู้สึกไว้วางใจ พึ่งพาได้ 

: เพราะองค์กรสื่อ สื่อมวลชน เป็นสถาบันที่ดำรงอยู่ได้ เพราะผลประโยชน์ และต้องรักษาความสัมพันธืกับองค์กรข่าว แหล่งข่าว (ยอมความกันได้ และ อาจถูกฟ้องร้องจากกฎหมายหมิ่นประมาทได้)

สื่อมีกระบวนการตรวจสอบ การบรรณาธิการ หากประชาชนส่งข้อมูลไปแล้ว สื่อไม่ลง (เพราะเหตุผลหลายอย่าง เช่น องค์กรสื่อ มีธง มีสายสัมพันธ์ทางอำนาจและผลประโยชน์ต้อปกป้องพิทักษ์เอาไว้เพื่อสร้างรายได้และกำไร) ทำให้ประชาชนเริ่มหมดหวังกับการมองสื่อเป็นที่พึ่ง

แต่เพจเหล่านี้ ทำด้วยความสมัครใจ เพราะอยากช่วยและมองเห้นความไม่ถูกต้อง มองเห็นความเดือดร้อน และคนที่ถูกรังแก ความรู้สึก “อยากช่วย” นี้ จึงบริสุทธิ์และทรงพลัง ทำให้ผู้คนศรัทธา (แต่ก่อนสื่อก็ทำ แต่หลังๆ สื่อกลายเป็นองค์กรที่มีแต่ผลประโยชน์ และการเลือกข้างมากเกินไป ไม่ค่อยยืนอยู่ข้างประชาชน และหลังๆ องค์กรสื่อกลายเป็นกระบอกเสียงของชนชั้นนำ พรรคการเมือง ลัทธิ ความเชื่อของนายทุนมากไป)

2. ความเป็นนิรนาม 

: เพราะแอดมินไม่เปิดเผยตัวตน นั่นทำให้คนที่มาขอความช่วยเหลือไว้วางใจในแนวคิดของเพจมากกว่า การประเมินความน่าเชื่อถือของคนทำเพจ

และความน่าไว้วางใจ มาจาก “บรรยากาศของเพจ” ที่ลูกเพจ และสมาชิก คนอ่าน นิยมชมชอบ หรือแสดงความคิดเห็นโต้ตอบ วิพากษ์เจ้าของเพจได้อย่างเสรี

เพจเหล่านี้ “สนใจแค่ว่า” คนที่ส่งข้อมูลมา น่าเชื่อถือเพียงพอจากหลักฐาน และจะ “ปกปิดอัตลักษณ์” ของผู้ชี้เบาะแส หรือแจ้งข้อมูลมาเหมือนกัน (ต่างคน ต่างนิรนาม ในตลาดมืดของข้อมูล) ทำให้สามารถมอบความไว้วางใจซึ่งกันและกันได้

3. การใช้ภาษาตรงไปตรงมา หยาบคาย

: เพราะภาษาหยาบคาย ทำให้บรรยากาศการสนทนาสื่อสาร “ดูเป็นกันเอง เท่าเทียมกัน” ไม่มีชนชั้น ไม่มีระดับทางสังคม และดูจริงใจ เท่าเสมอภาคกัน

4. เพจไม่รีรอที่จะโพสต์ช่วยลูกเพจ หรือคนที่ส่งข้อมูลความเดือดร้อนมาให้หลังไมค์

: เพราะคนทำ ไม่ต้องรอพื้นที่ข่าว ไม่ต้องรอปิดหน้าหนึ่งเหมือนหนังสือพิมพ์ หากข้อมูลที่ได้มามีความจริง น่าเชื่อถือ เป็นหลักฐานชัดเจน เพจก็ใส่ข้อมูลเลยทันที เพื่อเจตนาช่วยเหลือโดยไม่รีรอ

5. การระดมตรวจสอบข้อมูล

: เพจเหล่านี้ ใช้แนวคิด “สังคมร่วมกันตรวจสอบ สอดส่อง” ทำให้เพจมี “ศักยภาพจากสมาชิก” ค่อนข้างมาก เพราะ ลูกเพจเหล่านี้เปรียบเสมือน สายตา คอยสอดส่อง เสาะหา ตรวจสอบข้อมูลข่าวสาร เงื่อนงำต่างๆ มาให้แอดมิน

ตรงกับแนวคิด “ปัญญาชนรวมหมู่” (crowd-sourcing) ซึ่งชาวเน็ตจะระดมสรรพกำลัง เวลา และความเห็นใส่ลงไปในเพจโดยไม่มีใครมายับยั้งได้

6. รู้จุดยืนแน่ชัดแล้วก่อนเข้าร่วม

: เพจเป็นคน มีความคิด และจุดยืนทางการเมือง สังคม แน่ชัด ผู้คนจะชอบ เพราะไม่ต้องมาลังเล หรือสงสัยในตัวเพจ ดังนั้น จึงทำให้ทิศทางการโพสต์ มีแนวทางที่ชัดเจน ไม่เล่นสองข้าง ไม่แทงกั๊ก และไม่ประนีประนอม

ผู้คนส่วนใหญ่ในอินเทอร์เน็ตนั้น “พร้อมที่จะเลือกข้างเสมอๆ” ดังนั้นเพจใดก็ตามที่มีจุดยืนชัดเจน ก็ย่อมที่จะทำให้ลูกเพจเลือกกดสมัครติดตามได้ไม่ยาก

7. จับอารมณ์ชนชั้นกลางได้แม่นยำ

: เท่าที่ดู คนทำเพจเหล่านี้ มีอาชีพ รายได้ ฐานะทางการเงินมั่นคง และเป็นชนชั้นกลาง ที่อยู่กับข้อมูลข่าวสารมาก เก่งการใช้สื่อและโซเชียลมีเดีย

ที่สำคัญ คือ จับอารมณ์ ตรรกะ มุมมอง และค่านิยมทางศีลธรรม จริยธรรมของชนชั้นกลางได้ (คือ เรื่อง ความเท่าเทียม การปฏิบัติตามกฎหมาย ความยุติธรรม และความถูกต้อง)

8. มีการสื่อสารสองทาง 

: เพจพวกนี้ มักสื่อสารกับลูกเพจตลอดเวลา (ไม่เหมือนเพจองค์กรสื่อ ที่แอดมินมักไม่ตอบ และเน้นการสื่อข่าวทางเดียว) ทำให้เพจเหล่านี้มีระดับความมีปฏิสัมพันธ์สูงมาก (จากการ engagement & interaction)

9. ประชาชนไม่ไว้ใจหน่วยงานรัฐ (ตำรวจ และเจ้าหน้าที่)

: หลายๆ เรื่อง เป้นที่มาของความดราม่า จากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่ล่าช้า ไม่เป็นธรรม ไม่ยุติธรรม ต่อเจ้าทุกข์ และสื่อมวลชนก็ไม่นำเสนอเรื่องนี้ ทำให้ความไว้วางใจ มีให้เพจเหล่านี้ (เพราะยืนยันด้วย ประวัติการโพสต์ การนำเสนอของเพจ)

ที่สำคัญ เวลา เพจโพสต์ผิดไป เพจจะขอโทษ เพราะไม่มีหน้าตา ชื่อเสียงทางสังคม ต้องแบกรับ ทำให้คนรู้สึกพึ่งพิงได้มากกว่าหน่วยงานของรัฐ

10. จุดประเด็นติดก็พอแล้ว

: เป้าหมายของเพจนี้ คือ การจุดประเด็น กระแส ที่ดูเหมือนจะมอด ดับหายไปในการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน หรือจมหายไปกับกระบวนการยุติธรรมของสังคมไทย ที่เอาแน่เอานอนเชื่อถือไม่ได้

ดังนั้นการโพสต์ (ด้วยข้อมูลที่แอดมินของเพจมี) และด้วยกระแสการถล่มยอดไลค์ แสดงความเห็น และกระหน่ำแชร์ จึงทำให้มัน “จุดกระแสติด” บนหน้านิวส์ฟีด ไทม์ไลน์ และนั่นก็มากพอที่จะ “ฝากประเด็นต่อ” ให้กับสื่อมวลชนไปสืบ ขุดคุ้ย หรือที่เคยปิดหมกเม็ด ก็ปกปิดต่อไปไม่ได้แล้ว

นี่คือ 10 เหตุผลว่าทำไม ที่เพจสายดาร์ค “ได้รับความนิยม” และไว้วางใจจากชาวเน็ตมากกว่าเพจอื่นๆ

ที่มา : https://www.facebook.com/photo.php?fbid=10154845954873732&set=a.483861243731.261519.720008731&type=3&theater