กลยุทธ์ตั้งราคาแอปเปิล ทำไม ? ลำโพงอัจฉริยะ Homepod ถึงแสนแพง

การเปิดตัวลำโพงอัจฉริยะน้องใหม่ในชื่อ “โฮมพ็อด” (HomePod) ของแอปเปิล (Apple) ถือเป็นการตอบรับกับการเติบโตของตลาดดังกล่าวได้ดี ซึ่งในตอนนี้ก็ถือว่าคู่แข่งยักษ์ใหญ่ทั้งสามเจ้ามากันพร้อมแล้ว ทั้งแอมะซอน เอ็คโค่ (Amazon Echo) กูเกิลโฮม (Google Home) และ โฮมพ็อด แต่จุดที่น่าสนใจมากสำหรับกรณีนี้ก็คือ ราคา

โดยโฮมพ็อดถูกตั้งราคาเอาไว้ที่ 349 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 12,000 บาท ขณะที่แอมะซอน เอ็คโค่จำหน่ายในราคาเพียง 179 เหรียญสหรัฐ ประมาณ 6,100 บาท ส่วนกูเกิลโฮมนั้นถูกยิ่งกว่าที่ 129 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 4,400 บาท

จากราคาที่แตกต่างกันอย่างมากนี้ ทำให้หลายฝ่ายกำลังตั้งข้อสังเกตว่า แอปเปิลกำลังทำกับโฮมพ็อด เช่นเดียวกับที่เคยประสบความสำเร็จมาแล้วกับไอโฟน นั่นคือชาร์จราคาระดับพรีเมียมเพื่อหวังเจาะตลาดสินค้าเทคโนโลยีระดับบน โดยมีการวิเคราะห์ว่า ไอโฟนถือเป็นหนึ่งในสมาร์ทโฟนที่แพงที่สุดในท้องตลาด แต่แอปเปิลก็สามารถใช้กลยุทธ์นี้ขายไอโฟนมาได้หลายสิบล้านเครื่องทุกปี

ผู้บริหารของแอปเปิลอย่าง Phil Schiller เผยบนเวทีในงาน WWDC ว่า โฮมพ็อดเป็นลำโพงอัจฉริยะสำหรับผู้ที่รักการฟังเพลงมากที่สุดตัวหนึ่ง โดยมันมีการจัดวางลำโพง 7 ตัวล้อมรอบเป็นรูปวงแหวนที่ด้านล่างของตัวเครื่องและ
วูฟเฟอร์ขนาดใหญ่วางอยู่ตรงกลาง

แต่นั่นไม่เท่ากับรีวิวของผู้ใช้งานที่ผ่านมา เช่น กองบรรณาธิการของสำนักข่าวซีเน็ต (Cnet) ที่เคยเขียนถึงลำโพงของแอมะซอน และกูเกิลว่า เป็นลำโพงที่ให้เสียงไม่ได้คุณภาพเอามาก ๆ และตัวผู้เขียนจะไม่ซื้อทั้งสองยี่ห้อหากคุณภาพเสียงไม่ถึงระดับที่เขาตั้งใจไว้

ความท้าทายเดียวของโฮมพ็อดก็คือ แอปเปิลจะมั่นใจได้อย่างไรว่า การมีคุณภาพเสียงที่ดี และฟีเจอร์ด้านการฟังเพลงนั้นจะทำให้โฮมพ็อดประสบความสำเร็จในตลาดลำโพงอัจฉริยะ เพราะนั่นหมายถึงผู้บริโภคต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้น 6,000-8,000 บาทเพื่อแลกกับคุณภาพเสียงระดับพรีเมียม ในขณะที่กูเกิลและแอมะซอนไม่ได้ให้ความสำคัญในจุดนี้

ตรงกันข้าม ลำโพงอัจฉริยะของกูเกิลและแอมะซอนเกิดขึ้นมาเพื่อตอบสนองโมเดลธุรกิจของบริษัท เป้าหมายของแอมะซอน เอ็คโค่คือการกระจายตัวเข้าไปให้ถึงครัวเรือนของผู้บริโภคมากที่สุด เพื่อให้แอมะซอนสามารถส่งสินค้าและบริการดิจิตอลต่าง ๆ ของตนเองไปสู่ผู้บริโภคได้อย่างสะดวก

ขณะที่กูเกิลก็ต้องการให้บริการดิจิตอลของกูเกิลเข้าถึงผู้บริโภคให้มากที่สุดเช่นกัน เพราะนั่นหมายถึงธุรกิจโฆษณาของกูเกิลก็จะเติบโตตามไปด้วย

คำถามใหญ่อันดับสองก็คือ อะไรคือแพลตฟอร์มของแอปเปิล ที่จะช่วยส่งเสริม “โฮมพ็อด”

อย่าลืมว่าแอมะซอนมีผู้ช่วยดิจิตอล อเล็กซ่า (Alexa) ที่เปิดให้เธิร์ดปาร์ตี้นำอเล็กซ่าไปใช้งานในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ มากมาย ทำให้ปัจจุบันมีกลุ่มสินค้าที่ใช้อเล็กซ่าอยู่เต็มไปหมด ตั้งแต่หลอดไฟไปจนถึงเครื่องซักผ้า การใช้งานอเล็กซ่าที่กว้างขวางนี้ทำให้นักพัฒนาเห็นโอกาส และลงมาสร้าง “สกิล” ให้กับอเล็กซ่ามากขึ้นเรื่อย ๆ

กูเกิลโฮมก็เช่นกัน ผู้ช่วยดิจิตอลของกูเกิลกำลังเริ่มทำงานข้ามแพลตฟอร์ม คือไม่เฉพาะบนแอนดรอยด์ แต่ข้ามไปทำงานกับไอโฟนได้แล้ว

แต่สำหรับสิริ (Siri) นั้นตรงกันข้าม ทุกวันนี้สิริทำงานได้เฉพาะกับอุปกรณ์จากแอปเปิล ซึ่งการตั้งตนเป็นสินค้าพรีเมียม ทำให้จำนวนผู้ใช้งานถูกจำกัดตามไปด้วย

นอกจากนั้น จำนวนผู้ใช้งานสิริในตลาดลำโพงอัจฉริยะยังตามหลังแอมะซอนถึง 3 ปี หากข้อเสียในจุดนี้ทำให้นักพัฒนาไม่สนใจสิริ ก็อาจทำให้โฮมพ็อดไปต่อไม่ได้เช่นกัน และนั่นอาจทำให้ในท้ายที่สุดแล้ว โฮมพ็อดจะกลายเป็นสินค้าที่เติบโตอย่างเงียบ ๆ ทำกำไรเงียบ ๆ ให้แอปเปิลอยู่เบื้องหลังเหมือนเช่นสินค้าหลาย ๆ ตัวที่ปรากฏตัวบนเวที WWDC ปีนี้


ที่มา : http://www.manager.co.th/Cyberbiz/ViewNews.aspx?NewsID=9600000057361