แผนธุรกิจ 10 ปี Apple บนเวที WWDC 2017

ซีอีโอทิม คุก (Tim Cook) ที่งาน WWDC 2017

หลายคนอาจมองว่า งานประชุมนักพัฒนาของ Apple (WWDC 2017) เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นงานตัวสินค้าและบริการแสนธรรมดา ตรงข้ามกับแต่นักวิเคราะห์ ที่มองว่า นี่คือการประกาศแผนธุรกิจ 10 ปีของ Apple กันเลยทีเดียว 

หนึ่งในเสียงวิเคราะห์น่าสนใจมาจากสื่อใหญ่อย่างบิสสิเนสอินไซเดอร์ ที่บอกว่าสิ่งที่แอปเปิลประกาศบนเวทีล้วนไม่ใช่เรื่องใหม่ ทั้งการเปิดตัวแพลตฟอร์มสำหรับสร้างวิดีโอหรือเกมเทคโนโลยีเสมือนจริง AR (augmented reality) ใหม่ หรือการเปิดตัวเครื่องมือพัฒนา VR (virtual reality) รวมถึงการเปิดตัวลำโพงอัจฉริยะ “โฮมพ็อด” (HomePod) และการปรับปรุงความสามารถบนระบบปฏิบัติการไอโอเอสเวอร์ชันใหม่ (iOS 11) เหล่านี้ทำให้เกิดประโยชน์เพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่หากมองให้ลึก จะพบว่าทั้งหมดนี้เป็นจิ๊กซอว์ส่วนเดียวที่แอปเปิลต่อไว้เพื่อวางรากฐานสำหรับการสร้างอาณาจักรในอนาคต

ตัวอย่างเช่นการมุ่งโฟกัสที่ AR งานนี้ซีอีโอทิม คุก (Tim Cook) ลุยสาธิตระบบ AR บนไอแพด (iPad) ให้ช่างภาพถ่ายรูป เหตุผลที่ต้องเป็น AR คือเพราะวันนี้บริษัทไอทีต่างมองว่าสินค้าที่จะมาแทนที่สมาร์ทโฟนในอนาคต คืออุปกรณ์สวมใส่ได้ หรือ wearable ที่มีเทคโนโลยี AR ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้เห็นภาพดิจิทัลฉายทับบนภาพวิวจริงรอบตัว

เรื่องนี้ทำให้แอปเปิลต้องลุย AR บ้าง จากที่ไมโครซอฟท์ (Microsoft) เปิดตัวชุดอุปกรณ์สวมศีรษะ “โฮโลเลนส์” (HoloLens) และกูเกิลที่ชูระบบ “โปรเจกต์แทงโก้” (Project Tango) สำหรับอุปกรณ์แอนดรอยด์และอุปกรณ์อื่นอย่างกูเกิลกลาสมานานระยะหนึ่งแล้ว ด้านเฟซบุ๊ก (Facebook) ก็ประกาศลุย AR ไปเรียบร้อย ซึ่งมาร์ก ชัคเกอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) ยังเคยประกาศว่าแว่น AR จะมาแทนที่หน้าจอของเราทุกคนในอนาคต

แอปเปิลไม่ตามใคร

เช่นเคย Apple มีมุมมองที่ต่างออกไป แทนที่จะโชว์แว่น AR ที่ตัวเองผลิต แต่แอปเปิลเลือกทำให้นักพัฒนามีวิธีใหม่ในการสร้างแอป AR เพื่อไอโฟน เมื่อระบบปฏิบัติการ iOS 11 เริ่มเปิดให้ใช้ในอุปกรณ์แอปเปิลหลาย 10 ล้านเครื่องทั่วโลกช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ เมื่อนั้นแอปเปิลก็จะมีแพลตฟอร์ม AR ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ที่ดีกว่านั้น คือแอป AR เหล่านี้จะสามารถทำงานบนอุปกรณ์ที่ผู้ใช้มีอยู่แล้วในมือ ไม่จำเป็นต้องซื้อแว่นหรืออุปกรณ์เสริมใหม่ ทั้งหมดนี้ทำให้แอปเปิลมีโอกาสสูงที่จะแซงหน้าคู่แข่งทุกรายในสังเวียน AR ด้วยการอัปเดตซอฟต์แวร์ง่าย ๆ ครั้งเดียว

แน่นอนว่าความเคลื่อนไหวนี้ไม่สามารถเปลี่ยนเกมหรือ game-changing ได้เต็มที่ เพราะ AR บนไอโฟนและไอแพดนั้นย่อมให้ความสมจริงน้อยกว่าจากอุปกรณ์เสริมเฉพาะทาง แต่อย่างน้อย นักพัฒนาย่อมมองเห็นจุดเด่นของแอปเปิลไม่แพ้แพลตฟอร์ม AR อื่น ทำให้แอปเปิลสามารถคว้าหัวใจของนักพัฒนาให้สร้างแอปพลิเคชัน AR สำหรับไอโฟนได้ในเวลารวดเร็ว

กรณีของเทคโนโลยี VR ซึ่งแอปเปิลดึงสตูดิโอดังอย่างลูคัสฟีลม์ (LucasFilm) มาสาธิตบนเวที WWDC 2017 ถึงวิธีสร้างวิดีโอ VR บนเครื่องแมคอินทอชได้ง่ายดายและรวดเร็ว กรณีนี้ก็ไม่ต่างจาก iOS 11 เพราะแอปเปิลใช้วิธีเพิ่มชุดเครื่องมือในซอฟต์แวร์ macOS Sierra เวอร์ชันใหม่ ให้นักพัฒนาสามารถเชื่อมต่อเฮดเซต VR เพื่อสร้างวิดีโอหรือเกมสามมิติ (3D) และ VR ได้ง่าย

ทั้งหมดนี้ไม่ได้แปลว่าแอปเปิลต้องการดึงดูดเกมเมอร์ให้หันมาใช้แมค แต่เป็นการการันตีว่าผู้ใช้สินค้าแอปเปิลจะมีเครื่องมือสำหรับสร้างคอนเทนต์ล้ำสมัยสำหรับอนาคต ซึ่งที่ผ่านมา แอปเปิลสร้างชื่อจากการเป็นแพลตฟอร์มที่เหล่าศิลปิน ผู้สร้างภาพยนตร์ รวมถึงมืออาชีพด้านอื่นเลือกใช้ แน่นอนว่าการเพิ่มคุณสมบัติด้านการพัฒนาคอนเทนต์ VR ย่อมทำให้แอปเปิลมีฐานตลาดที่แข็งแกร่งขึ้นอีกในอีก 10 ปีข้างหน้า

iMac Pro, iPad Pro ความหวังใหม่

แอปเปิลไม่ทิ้งธุรกิจคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ ล่าสุดเปิดตัวเครื่องแมครุ่นใหญ่พร้อมกับเพิ่มคุณสมบัติทั้งจอใหม่ เพิ่มพลังกราฟิก อัดฉีดชิป และเพิ่มพอร์ต ทั้งหมดนี้เพื่อรองรับการสร้างวิดีโอเทคโนโลยีเสมือนจริงหรือ VR

หนึ่งในเครื่องแมคใหม่ที่ได้รับความสนใจมากที่สุด คือไอแมคโปร (iMac Pro)

หนึ่งในเครื่องแมคใหม่ที่ได้รับความสนใจมากที่สุด คือไอแมคโปร (iMac Pro) ซึ่งมีหน้าจอความละเอียด 5K พร้อมระบบระบายความร้อนที่ปรับใหม่เย็นกว่าเดิม ชิป 8-core Xeon ที่สามารถอัปเกรดได้เป็น 18-core รับ SSD ได้สูงสุด 4TB และหน่วยความจำ ECC สูงสุด 128GB มี 4 พอร์ต Thunderbolt 3 ฝัง 10GB Ethernet ในตัว ทั้งหมดนี้ราคาเริ่มต้นที่ 4,999 เหรียญสหรัฐหรือ 170,200 บาท กำหนดจำหน่ายคือธันวาคมนี้

ยังมี iMac รุ่นใหม่ราคา 1,099 เหรียญ (ราว 37,500 บาท) หน้าจอ 21.5 นิ้ว และราคา 1,299 เหรียญ (45,000 บาท) สำหรับหน้าจอ 4K

ไม่เพียงคอมพิวเตอร์ตัวเต็ม แอปเปิลยังเปิดตัวไอแพดโปร (iPad Pro) ขนาดใหม่หน้าจอ 10.5 นิ้ว ตัวเครื่องขนาดเท่ารุ่น 9.7 นิ้ว แต่ขยายขนาดหน้าจอให้ใหญ่ขึ้นเพื่อจำหน่ายราคาเริ่มต้น 649 เหรียญสหรัฐหรือประมาณ 22,000 บาท แต่ล่าสุดแอปเปิลประกาศราคาไทยอย่างเป็นทางการแล้ว เริ่มต้นที่ 24,500 บาท (สำหรับความจุ 64GB Wi-Fi อย่างเดียว) ทำให้สาวกที่เพิ่งซื้อรุ่น 9.7 นิ้วอกหักระนาว

ประเด็นของ iPad ยังมีจุดน่าสนใจเพิ่มเติมจากงาน WWDC ปีนี้ เนื่องจากนักวิเคราะห์มองว่าข่าวใหญ่ของการเพิ่มคุณสมบัติ iOS 11 นั้นไม่ได้อยู่บนไอโฟน แต่อยู่บนไอแพด เพราะในที่สุดแล้ว แอปเปิลก็เริ่มคิดได้ว่าควรปรับซอฟต์แวร์ให้ iPad มีความสามารถเหมือนคอมพิวเตอร์วางตักมากขึ้น

ไอแพดโปร (iPad Pro) ขนาดใหม่หน้าจอ 10.5 นิ้ว
สาวกที่เพิ่งซื้อ iPad รุ่น 9.7 นิ้วอกหักระนาว

หลังจากสัญญามาหลายปี แอปเปิลเพิ่มให้ผู้ใช้ iPad มีระบบไฟล์ใหม่ด้วย iOS 11 แถมมีแถบเมนูหรือ app dock สไตล์เครื่องแมค ผู้ใช้สามารถลากวางข้อความระหว่างแอปคนละหน้าต่างได้ ทั้งหมดนี้ทำให้ iPad เริ่มให้ความรู้สึกเหมือนไอโฟนขนาดใหญ่ที่ผสมความเป็นเครื่องแมคทัชสกรีนมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ได้ทดสอบ iPad Pro แล้วชี้ว่าแอปเปิลยังมีงานรออยู่อีกมาก โดยเฉพาะคีย์บอร์ดที่ยังไม่ลงตัว ซึ่งเป็นหนึ่งในหลายเหตุผลที่ทำให้สื่อฟันธงว่า iPad Pro ยังไม่สามารถแทนคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กได้

ถึงบรรทัดนี้เราขอสรุปเลยว่า ไม่ว่าแอปเปิลในอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้าจะสร้างอาณาจักร AR และ VR ได้มั่นคงเพียงไร แต่แอปเปิลจะยังคง “ค่อยๆทยอย” เพิ่มคุณสมบัติโน่นนี่ ขยักไว้เพื่อให้ตัวเองสามารถขายสินค้าคุณภาพในราคาไม่ธรรมดาเช่นเดิม


ที่มา : http://manager.co.th/CyberBiz/ViewNews.aspx?NewsID=9600000058828