เวทีสุดท้ายของซิคเว่

“ผมแทบไม่เชื่อหูตัวเองเมื่อเลขาฯ ผมบอกว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะติดต่อให้ผมมาบรรยาย ผมถึงกับต้องถามซ้ำอีกครั้งว่าเธอพูดชื่อองค์กรผิดไปไหม” ซิคเว่ เบรคเก้ ซีอีโอของดีแทคถึงกับเอ่ยปากเช่นนี้

เมื่อเขายืนอยู่หน้าห้องประชุมอาคาร 2 ของธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อบ่ายวันหนึ่งของต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นการบรรยายครั้งสุดท้ายของเขาในฐานะของซีอีโอดีแทค ก่อนที่จะเข้ารับตำแหน่งใหม่เป็นซีอีโอของเทเลนอร์ เอเชียแทน ในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้

ว่ากันว่า ไม่ว่าครั้งไหนที่เขาเดินทางไปบรรยาย ห้องประชุมขององค์กรนั้นๆ จะเนืองแน่นไปด้วยผู้ฟังเข้ามาจับจองเก้าอี้รอคอยการมาของเขา รวมถึงวันเดียวกันนี้ ที่แม้แต่ ธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย ก็เป็นหนึ่งในผู้ที่มาจับจองเก้าอี้ด้านหน้าเวที และใช้เวลากว่าชั่วโมงเศษในการนั่งฟังซิคเว่บรรยายในหัวข้อ “Effective Corporate Culture”

ตลอดระยะเวลาร่วม 6 ปีของการเป็นซีอีโอให้กับดีแทค ซิคเว่ต้องเจียดเวลาส่วนหนึ่งของการทำงานและการพบปะกับพันธมิตรทางธุรกิจ เจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อใช้ไปกับการบรรยายอย่างน้อยเดือนละ 2-3 ครั้ง โดยเฉพาะการให้ประสบการณ์ในฐานะของซีอีโอดีแทค ซึ่งเขาเปรียบเปรยว่าเหมือนกับเป็น “โค้ช” ให้กับพนักงานในองค์กร

ซิคเว่ กลายเป็นต้นแบบของผู้บริหารยุคใหม่ที่ต้องการจะให้ตัวเองเป็น “โค้ช” บ้าง ทุกครั้งผู้ฟังมักจะถูกสะกดสายตาให้นิ่งอยู่กับเขา และทึ่งกับทุกคำพูดที่เขาบอกเล่าว่าเข้ามาเปลี่ยนวัฒนธรรมการทำงานขององค์กรอย่างดีแทค ซึ่งเคยอยู่ในจุดต่ำสุดเมื่อ 6 ปีที่แล้ว ให้กลายมาอยู่ในยุคเฟื่องฟู เป็นเบอร์สองที่เข้มแข็งและยืนได้ด้วยขาตัวเองดังเช่นทุกวันนี้ได้อย่างไร

ในบทบรรยายของซิคเว่หลายต่อหลายครั้ง รวมถึงวันที่เขาไปบรรยายที่ธนาคารแห่งประเทศไทย มักจะกล่าวถึงการเป็นผู้บริหารที่ลุกขึ้นมาแสดงกิจกรรมแปลกใหม่บนเวทีงานแถลงข่าว แทนการนั่งบนโต๊ะและตอบคำถามแบบเดิม อาทิ ใส่ชุดนักมวย หรือแม้แต่ใส่ชุดนักร้องแร็ป เพื่อซื้อใจพนักงาน และคนรอบข้าง

เขาต้องการละลายปราการน้ำแข็งตรงหน้า เพื่อให้คนรอบข้างมองว่าเขาเป็นคนง่ายๆ สบายๆ กว่าการเป็นคนมีพิธีรีตองและเข้าถึงยาก เพื่อที่จะบอกว่า หากองค์กรต้องการจะเปลี่ยนให้สามารถแข่งขันได้ ก็ต้องเริ่มเปลี่ยนกันที่หัวเรือ

ตลอดจนการปฏิวัติองค์กรที่ไม่ให้พนักงานต้องใส่สูท ผูกไท แต่หันมาใส่กางเกงยีนส์ เสื้อยืด ไปทำงาน

ซิคเว่ มีวิธีการคัดเลือกพนักงานแบบเฉพาะตัว เขาสัมภาษณ์นอกสถานที่ วัดทัศนคติและดูลักษณะท่าทางของเขาเหล่านั้นจากวิธีการรับประทานอาหารและการพูดคุยสนทนา เพื่อให้ได้คนที่มีทัศนคติตรงกับทิศทางขององค์กร โดยที่เขามองว่า ทัศนคตินั้นเปลี่ยนยากยิ่งกว่าทักษะ เมื่อได้คนที่มีทัศนคติที่ตรงกันแล้ว อะไรก็ไม่สำคัญไปกว่าสิ่งนี้อีกต่อไป

เขายังเปลี่ยนวิธีการประเมินผลงานจากการให้คะแนนแบบ KPI ที่องค์กรใหญ่ๆ นิยมใช้ มาให้คะแนนตามความสามารถในการทำงานตามรายไตรมาส หรือแม้แต่การเปลี่ยนภาพลักษณ์ของผู้นำองค์กรที่นั่งอยู่บนยอดพีระมิดของโครงสร้างบริษัท มาเป็นองค์กรที่โครงสร้างแบบหลวมๆ และยุ่งเหยิง

เช่นเดียวกันกับการพยายามให้ทุกคนในองค์กรทำงานโดยคิดถึงความเสี่ยง เหมือนกับการยืนอยู่บนปากเหว การกลับบ้านโดยมีปัญหาให้ขบคิดคือความสำเร็จในแต่ละวัน มากกว่าการกลับบ้านมือเปล่าเพราะสามารถแก้ปัญหาค้างคาได้เสร็จสิ้น

องค์กรในอุดมคติของเขาจะมีการเปลี่ยนตำแหน่งของพนักงานไปมาระหว่างหน่วยงาน เพื่อทลายการเมืองภายในองค์กร และให้ทุกคนเคยชินกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นระหว่างการทำงานอยู่ตลอดเวลา

ปฏิเสธไม่ได้ว่า แม้แต่ลูกหม้อของดีแทคอย่าง ธนา เธียรอัจฉริยะ ก็เริ่มโดดเด่นขึ้นในการบรรยายด้านการตลาดและการบริหารจัดการองค์กรที่ทันสมัยตามรอยเขาได้อย่างไม่ยากเย็นนัก

ความโดดเด่นของการบรรยายที่ซิคเว่ทำได้ดีกว่าวิทยากรรายอื่นๆ คือ การหยิบยกเอาถ้อยคำ ประโยคกินใจของบุคคลสำคัญของโลก และเป็นที่รู้จักของคนหมู่มาก อาทิ เชอชิล, สตีฟ จ๊อบส์, หรือผู้ก่อตั้งองค์กรสำคัญ อาทิ ฟอร์ด มอเตอร์ มาเชื่อมโยงเข้ากับเนื้อหาการบรรยายของเขาแทบทุกครั้ง ซึ่งทำให้เนื้อหาไม่ยืดเยื้อและเข้าใจง่าย ผู้ฟังสามารถคล้อยตามคำพูดนั้นและจดจำได้ดียิ่งกว่า

ซิคเว่ ใช้เวลาในการบรรยายได้ยาวต่อเนื่องถึง 2 ชั่วโมงเต็ม ซึ่งไม่เคยทำได้มาก่อน แต่การบรรยายครั้งสุดท้ายนี้ เขายังเลือกหยิบใช้ถ้อยคำใหม่ๆ ในการดึงสายตาของผู้ฟังให้จดจ่ออยู่กับเขาอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนด้วยเช่นกัน

การขึ้นเวทีในครั้งหน้าของเขา จะเป็นตำแหน่งใหม่และใหญ่กว่าเดิม “ต้องลุ้นว่าประสบการณ์ครั้งใหม่ที่ใหญ่กว่าเก่า จะตื่นเต้นและสร้างสีสันได้เหมือนกับที่ทำกับดีแทคหรือไม่

10 คำถามคาใจกับซิคเว่ เบรคเก้

POSITIONING : ถ้าให้คุณให้คะแนน 1-10 แทนความสำคัญในการตัดสินใจอะไรบางอย่างในชีวิต คุณจะให้คะแนนการตัดสินใจออกจากดีแทคเพื่อไปรับตำแหน่งที่ใหญ่กว่าครั้งนี้เท่าไร?

ซิคเว่ เบรคเก้ : ผมคงให้ 6 คะแนน เหตุที่ผมไม่ให้น้อยกว่านี้นั่นเป็นเพราะว่า ผมคิดว่าการที่ผมไปรับตำแหน่งซีอีโอของเทเลนอร์ เอเชีย ทำให้ผมยังดูธุรกิจและภาพรวมของธุรกิจเทเลนอร์ในเอเชียอยู่ นั่นรวมถึงในไทยอย่างดีแทคด้วย สำนักงานก็อยู่ในเมืองไทย ดังนั้นก็ไม่ได้ห่างกันไปไกล และเหตุที่ไม่ให้มากกว่านี้ก็เป็นเพราะว่า ผมเองยังต้องทำงานให้กับเทเลนอร์อยู่ แถมยังเป็นตำแหน่งที่ใหญ่ขึ้น จึงยังมีเรื่องให้ท้าทายและตัดสินใจอีกมาก ผมว่าให้ 6 คะแนนดูสมเหตุสมผลดี

POSITIONING : คิดอย่างไรกับการที่หุ้นร่วงในทันทีที่นักลงทุนทราบข่าวว่าคุณจะไม่ได้เป็นซีอีโอของดีแทคอีกต่อไปแล้ว เป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกอย่างหนึ่งถึงการที่นักลงทุนต่างชาติเชื่อมั่นในตัวคุณหรือเปล่า?

ซิคเว่ เบรคเก้ : จริงๆ แล้วผมคิดไว้แล้วว่าจะมีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น มันเป็นธรรมชาติของบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ที่มีการเปลี่ยนมือของซีอีโอเสมอ แต่หลังจากที่ผมได้ยกหูหานักวิเคราะห์และได้อธิบายว่าการออกไปเป็นการรับตำแหน่งที่ใหญ่กว่า ราคาหุ้นก็กลับมาเหมือนเดิม

POSITIONING : คุณช่วยบอกหน่อยได้ไหมว่าผู้ชายที่ชื่อ “ซิคเว่ เบรคเก้” จะมีบทบาทและมีความสำคัญอย่างไรกับเทเลนอร์นับจากนี้บ้าง

ซิคเว่ เบรคเก้ : ผมว่าประสบการณ์ของผมที่เคยเข้ามาในช่วงที่ดีแทควิกฤต และพลิกฟื้นให้กลับมาแข็งแกร่งและยืนได้ดังเช่นทุกวันนี้ น่าจะเป็นสิ่งที่ผมจะนำไปใช้ในการขยายธุรกิจของเทเลนอร์ในภูมิภาคเอเชียได้ จริงๆ แล้วเบอร์หนึ่งของเทเลนอร์ก็บอกถึงสาเหตุที่เลือกผม เพราะประสบการณ์ตรงนี้ ที่เหลือก็หวังว่าผมจะสามารถนำรูปแบบในการพัฒนาวัฒนธรรมในองค์กรไปใช้กับองค์กรอื่นบ้าง

POSITIONING : คำถามที่ได้รับมากที่สุดในช่วงที่คุณประกาศลาออกจากดีแทคคืออะไร? และคำถามที่คุณไม่อยากจะได้ยินคืออะไร? ส่วนคำถามที่อยากจะตอบมากที่สุดคืออะไร?

ซิคเว่ เบรคเก้ : คำถามที่ได้ยินบ่อยๆ ก็คือ ทำไมถึงลาออก ที่ไม่อยากได้ยินก็เห็นจะเป็นคำถามที่ถามผมว่า ที่ออกจากดีแทคเพราะขัดแย้งกับเทเลนอร์ใช่ไหม ผมว่ามันไม่ Make Sense เพราะหากผมลาออกเพราะขัดแย้ง สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือการที่ผมถูกแขวน ไม่มีตำแหน่งหรือออกจากองค์กรนี้ไปเลย ซึ่งเป็นสิ่งที่องค์กรเอกชนส่วนใหญ่จะเลือกทำมากกว่าการที่ให้ผมมีตำแหน่งที่ใหญ่ขึ้น หรือเปลี่ยนไปเป็นเบอร์สองขององค์กรอย่างเช่นที่เป็นอยู่ตอนนี้

POSITIONING : คิดอย่างไรกับคำพูดที่ว่า ซีอีโอเป็นอย่างไร องค์กรจะเป็นแบบนั้น และประโยคนี้ใช้กับคุณตลอดระยะเวลาที่อยู่กับดีแทคได้หรือไม่?

ซิคเว่ เบรคเก้ : นั่นคือสิ่งที่ผมพยายามจะไม่ให้คนรู้สึกแบบนั้นตลอดระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมา ผมอธิบายได้จากรูปแบบการทำงานของผมทั้งหมด ผมพยายามให้ทุกคนเคยชินกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา การจับเขาแยกจากกลุ่มคนทำงานเดิมๆ ให้เขาไปทำงานตำแหน่งอื่น ในแผนกอื่น และผมว่าทุกวันนี้พนักงานของดีแทคน่าจะเคยชินกับการเปลี่ยนแปลงได้ดี แม้ช่วงวันศุกร์ที่ผมประกาศลาออก ทุกคนอาจจะเสียใจไปบ้าง แต่วันจันทร์ถัดมา ทุกคนก็กลับมางานยุ่งกันเหมือนเดิม ผมว่านี่คือสิ่งที่เห็นได้ชัด ว่าองค์กรจำเป็นต้องเรียนรู้อยู่กับการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

POSITIONING : คุณกับคุณบุญชัยเคยบอกว่า ซีอีโอคนใหม่ที่มาแทนคุณนั้นมีประสบการณ์เรื่อง 3G มาก่อน และเหมาะกับดีแทคในช่วงเวลาที่ดีแทคกำลังให้ความสำคัญเรื่องนี้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว เราทราบกันดีกว่า 3G จะยังไม่เกิดในเร็ววันนี้แน่ เลยมีคนตั้งคำถามว่า เขาจะเหมาะกับดีแทคจริงๆ เหรอ?

ซิคเว่ เบรคเก้ : ผมรู้จักซีอีโอใหม่ที่จะมารับช่วงต่อจากผมมาร่วม 10 ปี ผมว่าเขาเป็นคนง่ายๆ หรือ Easy Going ดังนั้นผมเชื่อว่าเขาจะเข้ากับดีแทคได้ง่าย จริงๆ แล้วผมเลือกเขามาเพราะผมเชื่อว่าแม้ 3G จะยังไม่เกิดขึ้นเร็ววัน แต่มันก็จำเป็นที่ดีแทคต้องวางแผนรองรับการเกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ ส่วนเรื่องที่ว่าเขาจะใส่กางเกงยีนส์เหมือบกับผมไหม ก็ต้องคอยดูกันต่อไป เรื่องวัฒนธรรมเขาก็ต้องมาเรียนรู้กันต่อไป ไม่ยากเย็นอะไร

POSITIONING : คนที่บอกกับคุณว่า คุณจะต้องรับตำแหน่งใหม่นี้คือใคร

ซิคเว่ เบรคเก้ : คนที่โทรมาหาผมสองสามหนระหว่างที่เรานั่งคุยกันนี่แหละ จริงๆ เราคุยกันมาสักระยะแล้ว แต่ผมใช้เวลาในการตัดสินใจพอสมควร ก่อนที่จะพิจารณาว่ามันเหมาะสมแล้ว แต่จริงๆ แล้วผมคิดเผื่อเอาไว้แล้วว่าจะมีวันนี้ เพียงแต่ไม่คิดว่าจะเร็วขนาดนี้เท่านั้นเอง

POSITIONING : คุณเคยทำงานมาหลายรูปแบบ และเปลี่ยนมาหลายตำแหน่งแล้ว คุณเคยร้องไห้เหมือนกับที่ออกจากดีแทคในครั้งนี้ไหม? และความแตกต่างของการออกจากดีแทคในหนนี้กับการออกจากงานก่อนหน้าคืออะไร?

ซิคเว่ เบรคเก้ : ผมเคยร้องไห้เมื่อครั้งผมตัดสินใจเลิกเล่นการเมืองสมัยที่อยู่นอร์เวย์ (ซิคเว่เคยรั้งตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมก่อนเข้าสู่วงการโทรคมนาคม) ผมรู้สึกว่าผมไปกับการเมืองต่อไปไม่ได้มาก รู้สึกเสียใจมาก ครั้งที่สองก็เมื่อต้นปี 2548 ที่ผมลาออกจากการเป็นซีอีโอร่วมกับคุณวิชัย และก็ครั้งนี้ ผมว่าแม้จะพูดง่ายว่าต้องเคยชินกับการเปลี่ยนแปลง แต่เย็นวันนั้นเมื่อผมกลับบ้านไปแล้วไม่เจอคนในครอบครัวซึ่งเดินทางไปรอผมที่นอร์เวย์ เพื่อพักร้อน และเราจะเจอกันวันมะรืนนี้ ผมก็รู้สึกได้ว่ามันเศร้ามากแค่ไหน มันอธิบายได้ยากว่าเรารู้สึกอย่างไร

POSITIONING : สิ่งที่คุณอยากทำมาตลอดเมื่อครั้งเป็นซีอีโอของดีแทค แล้วคุณไม่ได้ทำ หรือไม่เคยทำได้เลย คืออะไร

ซิคเว่ เบรคเก้ : ไม่มีเลย

POSITIONING : จนถึงวันนี้ หากให้คุณตัดสินใจอีกครั้งถึงการรับตำแหน่งใหม่ คุณจะยังตัดสินใจออกจากดีแทคอยู่ไหม? เพราะอะไร?

ซิคเว่ เบรคเก้ : ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ผมจะยังตัดสินใจเหมือนดังที่คุณทราบในตอนนี้