“มีนา โชติคำ” ไม่มีจริง ! “ครีเอทีฟ” แจง ตั้งใจให้เป็นไวรัล ไม่มีเจตนาหลอกลวง

กลายเป็นดราม่าเดือดจัด สำหรับคลิปโฆษณา “วินมอเตอร์ไซค์” เรียกร้องให้มีพื้นที่เรียนรู้สาธารณะ จน”ครีเอทีฟ” ต้องออกมาแจง “มีนา โชติคำ” ไม่มีตัวตนจริง ยันไร้เจตนาหลอกลวง ต้องการให้เป็นไวรัล ใช้คนอีสานเพื่อดึงความสนใจ ไม่ตั้งใจดูถูก ใช้วินมอเตอร์ไซค์ เพื่อแทนคนทั่วไป เข้าถึงความรู้ได้ ไม่ใช่เฉพาะคนมีเงิน

หลังจากคลิปวิดีโอเรียกร้องให้สร้างศูนย์การเรียนรู้ มีคาแร็กเตอร์ชื่อมีนา โชติคำอาชีพวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง เรียกร้องให้มีพื้นที่เรียนรู้สาธารณะ National Knowledge Center โดยเนื้อหาในโฆษณารณรงค์ให้คนร่วมลงชื่อสนับสนุนโครงการดังกล่าวในเว็บไซต์ change.org/knowless ซึ่งโด่งดังอย่างมากในโลกออนไลน์ แต่ต่อมาก็ได้กลายเป็นดราม่า เกิดการจับผิดกันว่า “มีนา” วินมอเตอร์ไซค์ ตัวละครหลักในโฆษณานั้นไม่มีจริง และเรื่องทั้งหมดถูกแต่งขึ้น ซึ่งเข้าข่ายหลอกลวงคนดู และยังเลยเถิดไปถึงการโจมตีว่ามีเนื้อหาดูถูกคนอีสาน

ล่าสุดครีเอทีฟของแคมเปญนี้ประสิทธิ์ วิทยสัมฤทธิ์ได้แถลงเกี่ยวกับประเด็นนี้ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Prasit Vitayasamrit มีใจความสำคัญว่า มีนา โชติคำไม่มีจริง ไม่ได้มีเจตาหลอกลวง หรือดูถูกคนอีสาน ใช้วินมอเตอร์ไซค์เพื่อแทนคนทั่วไป

เนื้อหาที่แถลงมีข้อความดังนี้

… เนื่องด้วย 2-3 วันมานี้ ผมต้องตอบคำถามกับ Clip VDO ชุดนี้ที่ปล่อยออกมา จากเพื่อนฝูงคนใกล้ชิดที่ถามกันมาหลายช่องทาง ด้วยความสงสัย บ้างด้วยความเป็นห่วงเป็นใย ผมเลยขออนุญาตมาเขียนตอบและชี้แจงตรงนี้ถึงเพื่อนๆ ผมก่อนละกันครับ

ก่อนอื่นเลย ต้องบอกว่าผมคือหนึ่งในทีมครีเอทีฟผู้ที่รับผิดชอบทำงานชิ้นนี้ และก็เป็นคนที่อยู่ในคลิปที่เปิดเรื่องมาทำหน้าเหยียดๆ นั่นแหละครับ

ตอนได้โจทย์ครั้งแรกผมไม่ได้ฟังแค่ในฐานะครีเอทีฟ แต่ผมฟังในฐานะคนเมืองคนหนึ่งที่ก็รู้สึกว่า น่าจะดีถ้าพื้นใจกลางเมืองที่คนมากมายอยู่อาศัยใช้ชีวิต จะมีสักพื้นที่ที่มันจะมีประโยชน์เพื่อทุกคนจริงๆ ไม่ใช่พื้นที่ในแบบที่คุณภาพดีๆ ได้รับการดูแลครบครันครบเครื่องไม่แพ้พื้นที่เชิงพาณิชย์ที่เบียดกันขึ้น มันเป็นภาพฝันในอุดมคติเลยครับ

ในรูปแบบไหนเรายังไม่รู้ แต่ถ้ามีจริงๆ ก็ดี แต่ก็ไม่รู้ว่าคนอื่นๆ อยากให้มีหรือเปล่า ?

ถ้าไม่มีใครอยาก…ก็จบไป หนังเรื่องนี้มันก็เหมือนทำโพลไปในตัว

Q : แล้วถึงคำถามที่ถามกันมาเยอะที่สุด “มีนา” นี่จริงไหม ? นี่หลอกลวง ?
A : ตอบนะครับ “ไม่มีจริง” มีนา เป็นแค่ตัวละคร คาแร็กเตอร์ที่สร้างขึ้นในหนังโฆษณาที่เราเลือกจะนำเสนอแบบสารคดี

ไม่มีอะไรต้องปิดบัง ทุกคนที่ถามผมเข้ามาส่วนตัวก่อนหน้านี้ ผมก็บอกหมดว่าเป็นเพียงโฆษณา

เราไม่มีเจตนาจะให้ทุกคนเชื่อว่ามีนามีจริง เราก็ตั้งใจทำเพียงแบบนักโฆษณาที่จะหาวิธีเล่าเรื่องนี้ออกมายังไงให้มันแบกเนื้อหาสาระข้อมูลมหาศาลที่เป็นวิชาการแบบนี้ เแถมเป็นเรื่องที่ใหม่สำหรับประเทศของเราไปจนจบเรื่อง

แน่นอนเราทำสื่อออกมา เราก็อยากให้คนดูเยอะๆ เราก็อยากให้ไวรัลโดยเฉพาะเรื่องนี้ เพียงแต่เราก็ไม่ได้คิดว่ามันจะไปไกลขนาดนี้ จึงไม่ได้เตรียมที่จะตอบอะไรกับข่าวโซเชียลเลย ไม่ได้เตรียมคิดเอาไว้ เราก็เตรียมทีท่าไม่ถูกเหมือนกันครับ ว่าจะต้องเฉลยไหม แต่เขาเป็นตัวละครจะดูร้อนตัวไปหรือเปล่า ยอมรับว่าทำตัวไม่ถูกจริงๆ ในการรับมือแบบนี้ กลัวว่าลำพังตัวหนังสือเล็กๆ น้อยๆ จะต่อความยาวสาวความยืด หรือเบี่ยงประเด็นไปอีก

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เพราะเราคิดว่ามันเป็นเพียงโฆษณา เราไม่ได้มีความคิดเลยไปมากกว่านี้ โดยเฉพาะที่จะเอาชนะใจด้วยการหลอกลวงให้เชื่อ ให้ไปลงชื่อง่ายๆ แบบนั้น เพราะถ้าผม จะหลอกลวงให้ได้ยอดลงชื่อ ก็คงไม่ใส่โลโก้ OKMD ไว้ท้ายเรื่องให้มันมีคำถามขึ้นมา หรือแม้กระทั่งจะเอาตัวผมเองเข้าไปนั่งอยู่ในหนัง และยังมีอีกหลายๆ จุดที่คนใน Social พยายามตั้งคำถามหลายๆ จุดในหนัง ซึ่งเราก็ไม่ได้หลบหลีกอะไรให้มันแนบเนียน หรือแม้กระทั่งน้องที่แสดงเป็นมีนา ถ้าเราจะหลอกจริงๆ น้องคนนี้คงใช้ชีวิตลำบากน่าดู

ถ้าจะขอโทษ ก็คงต้องขอโทษที่ทำให้หลายคนเข้าใจผิด แล้วต้องไปถกเถียงกัน อย่างที่บอก เราไม่ได้มีเจตนานั้นจริงๆ ครับ เราเพียงร้อยตามเรื่องราวที่เขียนไว้ เราทำด้วยเจตนาเท่านี้จริงๆ

Q : แล้วทำไมต้องวินมอไซค์ / เว้าอีสาน
A : ในเนื้อหาคือเราต้องการคนที่เป็นตัวแทนคนทั่วๆ ไปในสังคม ด้วยสถานที่แห่งนี้ไม่ใช่ที่ที่เฉพาะคนมีเงินจะใช้ได้เท่านั้น คนทุกคนต้องการพื้นที่นี้ จริงๆจะเป็นแม่ค้าก็ได้ เด็กนักเรียนก็ได้ เราลองกันหลายอาชีพ จนมาลงตัวที่ได้ยินข่าว วินมอไซค์ที่ติด Wifi ให้คนใช้บริการฟรี เราก็รู้สึกว่าเราประทับใจ เออทุกอาชีพต้องการปรับตัวให้ได้ มันก็เข้ากับสถานที่แห่งนี้ที่อยากให้คนไม่ต้องไปดิ้นรนเรียนรู้เอง

มันลงตัวในแง่การทำหนัง เราแค่ต้องการตัวละครสักตัว ที่แบกเนื้อหาเหล่านี้แล้วอย่างที่ว่ามา ให้คนอยากจะฟังมันจนจบ เรื่อง Human Deverlopment อยู่บนสำเนียงอีสาน ในแง่หนังมันน่าจะน่าสนใจมากกว่า เล่าด้วยนักวิชาการ

Q : เรื่องดูถูกคนอีสาน
A : ไม่มีเจตนาเลยครับ เป็นความตั้งใจเราอีกอย่างด้วยซ้ำ อย่างที่บอกสถานที่แห่งนี้เป้าหมายมันคือให้ทุกคนเข้าถึงความรู้ได้ ไม่ใช่เป็นของคนมีเงิน ที่เราอยู่ระบบความคิดการศึกษาแบบเดิมๆ ที่ไม่มีพื้นที่นอกหลักสูตรเพื่อพัฒนาคน การแสดงที่ดูถูกของคนเมืองในหนังเรื่องนี้เราก็พยายามแทรกเข้าไปให้เห็นย้อนกลับว่า มีนา เขาฉลาดกว่าเราเสียอีก เหมือนประโยคที่ว่า “เป็นมอไซค์วินต้องโง่กว่าพวกพี่ด้วยเหรอ”

การตั้งกลุ่มเพื่อนมีนาใน Change ก็เพียงเป็นพื้นที่แสดงพลังของคนภาคประชาชนว่าต้องการสิ่งใด แล้วด้วยระบบมันจับต้องได้เป็น DATA ในการรวบรวมมากว่าเก็บแค่ วิว แชร์ ยอด like

เราคุยกันด้วยสายตาประชาชนที่ทุกคนก็อยากเห็นสถานที่ที่มีประโยชน์แบบนี้เกิดขึ้น ไอเดียนี้มันยังไม่เกิดขึ้นด้วยซ้ำ เขามาชวนเราด้วยว่าจะมาช่วยกันทำเรื่องแบบนี้ ถึงจะไม่สำเร็จแต่อย่างน้อยก็ให้คนตื่นตัวและสนใจ ถ้าทุกคนจะตำหนิ ถ้าวิธีนำเสนอนี้แบบนี้ไม่ถูกใจใคร ก็ให้ตำหนิพวกผมที่พยายามนำเสนอไอเดียนี้ให้ลองดูกันสักตั้ง

แล้วก็ขอโทษสำหรับคนที่ผิดหวังกับตัวมีนานะครับ ผมก็รู้สึกผิดหวังที่ได้ยินเสียงผิดหวังทุกที แต่ก็อย่าผิดหวังกับแนวคิดศูนย์การเรียนรู้แบบนี้เลยครับ อาจจะไม่ต้องถึงภาพฝันไว้ แต่ก็ให้มีพื้นที่สาธารณะดีๆ สักที่เพื่อลูกเพื่อหลานของเรา

ขอบคุณครับ
ประสิทธิ์ วิทยสัมฤทธิ์
กลุ่มเพื่อนมีนา

ข้อมูลเพิ่มเติม OKMD หน่วยงานที่จ้างทำโฆษณาชิ้นดังกล่าวคืออะไร ? คือ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) – สบร. มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Office of Knowledge Management and Development (Public Organization) – OKMD จัดตั้งขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานบริหารพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) .. 2547”

องค์การมหาชน (หมายถึงหน่วยงานของรัฐบาลไทยประเภทที่สาม นอกเหนือจากส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ) มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2547 มีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนได้มีโอกาสแสวงหา พัฒนาความรู้ความสามารถเพื่อสร้างสรรค์และพัฒนาคุณภาพความคิดของประชาชนและเยาวชนของประเทศ ทั้งนี้ สบร. ทำหน้าที่เป็นองค์กรในการผลักดันสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ และใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการนำเสนอผลงานในรูปแบบต่างๆ เพื่อยกระดับให้เป็นประเทศชั้นนำทั้งในภาคเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และสังคม (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ www.okmd.or.th/about