ฮึ่ม เฟซบุ๊ก-กูเกิล ไม่ลงทะเบียน OTT ทำธุรกิจลำบากแน่

กสทช. ขีดเส้นตาย “เฟซบุ๊ก-ยูทูป” ลงทะเบียนผู้ประกอบการ OTT ภายใน 22 ก.ค. ขู่ แม้ยังคงเปิดบริการ แต่รับรองว่าทำธุรกิจยากแน่   

พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ OTT (Over The Top) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2560 สภานักธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน เดินทางมาพบคณะกรรมการ กสทช.เพื่อสอบถามเรื่องการกำกับ OTT จึงได้อธิบายไปถึงขั้นตอนการดำเนินการที่ทำมาตั้งแต่วันที่ 24 เม.ย. มีการรับฟังความคิดเห็น 10 ครั้ง และมีการเชิญทั้งเฟซบุ๊กและกูเกิลทั้งในประเทศไทยและสิงคโปร์ มาร่วมรับฟังความคิดเห็นด้วย 3-4 ครั้ง

แต่ทั้ง 2 บริษัทก็ส่งเพียงตัวแทนฝ่ายกฎหมายมาบ้าง ตัวแทนผ่านทางสมาคมธุรกิจมาบ้าง จนกระทั่งวันนี้เองก็ไม่เห็นว่า บริษัททั้ง 2 รายมาพูดคุยด้วยแต่อย่างใด จึงเป็นเรื่องที่น่าเสียใจมาก เพราะได้แจ้งผ่านทางสภานักธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน ว่า หากทั้ง 2 บริษัทไม่มาแจ้งลงทะเบียนเป็นผู้ให้บริการ OTT กับ กสทช.แม้ว่าจะยังให้บริการต่อไปได้ก็ตาม แต่การประกอบธุรกิจอาจลำบาก แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ว่า ลำบากอย่างไร เพราะอยู่ระหว่างการหารือเพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนก่อน

ขณะที่ในวันเดียวกัน ผู้ประกอบการกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล และผู้ประกอบการโครงข่ายกระจายเสียง หรือโทรทัศน์ จำนวนกว่า 24 รายเข้าร่วมประชุม และยังมีผู้ให้บริการโครงข่ายกระจายเสียง หรือโทรทัศน์ Over The Top ได้แก่ True Visions Anywhere, AIS Play, Primetime, Doonee, Monomaxxx, Viu, Line TV และ Kapook.com รวมทั้งสิ้นจำนวน 11 ราย ยินดีลงทะเบียนเป็นผู้ให้บริการ OTT แล้ว ซึ่งมีผลทำให้ได้รับการคุ้มครองตาม พ.ร.บ. ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมใบอนุญาต ไม่ต้องทำตามกฎมัสแฮฟ มัสแคร์รี ไม่ถูกจำกัดเวลาในการโฆษณา รวมถึงไม่ต้องเสนอผังรายการก่อนออกอากาศ ซึ่งเป็นไปตามมติ กสท. เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 2560 โดยจะให้เวลาผู้ประกอบการที่ยังไม่ได้มาแจ้งการเป็นผู้ให้บริการ OTT ถึงวันที่ 22 ก.ค. ที่จะถึงนี้ หากผู้ประกอบการไม่มาแจ้งจะไม่มีตัวตนในระบบกฎหมายของประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม ภายในสัปดาห์หน้าจะมีการเชิญผู้ผลิตคอนเทนต์ที่เผยแพร่ในยูทูป 55 ช่องแรก ที่มีคนดูสูงสุดมาประชุมในลักษณะนี้ด้วย เพื่อให้มาแจ้งเป็นผู้ประกอบการ OTT ส่วนแฟนเพจในเฟซบุ๊กนั้น คณะอนุกรรมการกำลังอยู่ระหว่างการกำหนดนิยามว่า จะเชิญกลุ่มไหนมา เพราะคอนเทนต์ในเฟซบุ๊ก ไม่ใช่กิจการกระจายเสียงที่ชัดเจนเหมือนยูทูป


ที่มา : http://www.manager.co.th/Cyberbiz/ViewNews.aspx?NewsID=9600000063827