ไขรหัส ทำไมคลื่น 2300 MHz ตอบโจทย์ดูวิดีโอบนมือถือ

ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในยุคดิจิทัลไม่ได้เสพติดแค่โซเชียลมีเดียอย่างเดียวแล้ว แต่เทรนด์ที่เห็นได้ชัดคือ “วิดีโอ คอนเทนต์” ที่มีการเติบโตอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เห็นได้ชัดจากสถิติการเติบโตของทั้ง YouTube ที่มีคนดูผ่านทางมือถือมากขึ้นถึง 90% และยอดเข้าชม LINE TV สูงกว่าปีก่อน 136% ในช่วงปีที่ผ่านมา

สิ่งหนึ่งที่ทำให้ผู้ใช้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการใช้งานนั้น ส่วนหนึ่งมาจากโครงสร้างพื้นฐานอย่างการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ยิ่งในยุคที่การให้บริการ 4G LTE หรือการใช้โมบายดาต้า เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ผู้ใช้งานเข้าถึงเนื้อหาที่หลากหลาย รอบด้านมากขึ้น

ในมุมของผู้ให้บริการ หรือโอเปอเรเตอร์ ที่เห็นข้อมูลสถิติเหล่านี้ชัดเจน จากปริมาณการใช้งานดาต้าเฉลี่ยต่อคนต่อเดือนที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากในปีที่ผ่านมาอยู่ประมาณเฉลี่ยเดือนละ 2 GB กลายเป็น 5-6 GB ต่อเดือน จากจำนวนผู้ใช้งานโมบายอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยที่มีอยู่ทั่วประเทศ

รู้จักกับเทคโนโลยี FDD

เมื่อปริมาณแบนด์วิดท์ส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้งานกับการสตรีมมิ่งคอนเทนต์ที่เป็นวิดีโอ ซึ่งต้องใช้ความเร็วที่มากขึ้นหลายเท่าตัวเมื่อเทียบกับการรับ-ส่งข้อมูลที่เป็นรูปภาพ หรือตัวอักษร ดังนั้นการให้บริการ 4G LTE จึงได้ถูกปรับแต่งให้รับกับพฤติกรรมเหล่านี้

เพียงแต่ว่าในปัจจุบันการให้บริการ 4G LTE ในประเทศไทย จะอยู่บนคลื่นที่ใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า FDD (Frequency Division Duplex) มาให้บริการ เช่น บนคลื่น 1800 MHz และ 2100 MHz

โดยรูปแบบการทำงานของ FDD จะใช้วิธีการรับ-ส่งข้อมูลบนคลื่นความถี่ที่แบ่งเป็นคนละชุด และต้องใช้งานรับ-ส่งไปพร้อมๆ กันเป็นคู่กัน เช่น คลื่น 2100 MHz ที่ให้บริการด้วยแบนด์วิดท์ 15MHz นั่นคือจะมีคลื่นแบนด์วิดท์ 15 MHz สำหรับรับข้อมูลหรือดาวน์โหลด และคลื่นอีกชุดที่มีแบนด์วิดท์ 15 MHz เช่นกันเพื่อทำการส่งข้อมูล คลื่น 2 ชุดทั้งรับและส่งจะต้องใช้งานควบคู่กันตลอดเวลา แม้ว่าโดยส่วนใหญ่แล้วพฤติกรรมผู้ใช้จะเน้นการดาวน์โหลดข้อมูลก็ตาม

นึกภาพง่ายๆ ถึงถนนซูเปอร์ไฮเวย์ 6 เลนส์ ที่มีทั้งขาเข้าเมืองและขาออกเมือง มีจำนวนเลนส์ถนนใช้งานเท่ากันฝั่งละ 3 เลนส์ โดยมีกำแพงปูนกั้นกลางแบ่งแนวถนนสำหรับสองฝั่งชัดเจน ดั้งนั้น การใช้งานแม้ว่าตอนเช้าขาเข้าเมืองจะมีปริมาณรถมาก ขาออกนอกเมืองปริมาณรถจะน้อย ด้วยการที่ถนนแบ่งชัดเจน เราอาจจะเห็นว่าอีกฝั่งใช้งานหนาแน่นรถติด อีกฝั่งโล่งมีรถไม่กี่คันวิ่งกันสบาย แต่เราก็ต้องใช้งานตามที่กำหนดมาตายตัวแบบนั้น

โดยพื้นฐานการให้บริการของคลื่นที่ใช้เทคโนโลยีแบบ FDD จะถูกจำกัดด้วยปริมาณแบนด์วิดท์ที่สามารถมาจัดสรรให้บริการ หรือนำออกมาประมูลใบอนุญาตในปัจจุบันที่ใบละไม่เกิน 15-20 MHz

แต่แน่นอนว่าเมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปมาเน้นการใช้งานดาต้าความเร็วสูง รูปแบบการให้บริการ 4G บนแค่คลื่นที่ใช้การรับ-ส่งแบบ FDD คงไม่ตอบโจทย์การใช้งานต่อเนื่องในอนาคต

เทคโนโลยี TDD ตอบโจทย์อินทอร์เน็ตความเร็วสูง

เทคโนโลยีอย่าง 4G LTE-TDD (Time Division Duplex) จึงถูกพัฒนาขึ้นมา เพื่อตอบโจทย์กลุ่มผู้ใช้งานที่ต้องการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง โดยเฉพาะการดาวน์โหลดข้อมูลที่สามารถขึ้นไปใช้งานระดับ Gigabit Network ได้ (ขึ้นอยู่กับอุปกรณ์ที่รองรับ)

ยกตัวอย่างกรณีที่ดีแทคเข้าไปเป็นพันธมิตรกับทางทีโอทีในการให้บริการ 4G LTE-TDD บนคลื่นความถี่ 2300 MHz มาเปิดให้บริการจะสามารถตอบโจทย์ความต้องการใช้งานดาต้าในไทย เพราะคลื่น 2300MHz จะใช้เทคโนโลยีการรับ-ส่งข้อมูลแบบ TDD บนแบนด์วิดท์ที่กว้างถึง 60 MHz และเป็นผืนเดียวติดกัน

ในขณะที่ประเทศอื่นๆ แม้แต่ในเกาหลี จีน และญี่ปุ่น ที่มีการนำ 4G LTE-TDD ไปใช้งาน ก็ไม่มีแบนด์วิดท์บนคลื่นเดียวกันที่กว้างขนาดนี้

ที่น่าสนใจคือ TDD จะมีรูปแบบการรับ-ส่งข้อมูลที่แตกต่างจาก FDD เพราะใช้คลื่นเดียวสำหรับการรับ-ส่งข้อมูล แต่เป็นการสลับช่วงเวลาในการรับ-ส่งข้อมูลแทน ทำให้สามารถใช้งานคลื่นเดียวได้เต็มที่ด้วยการออกแบบคลื่นให้มีปริมาณการรับ-ส่งข้อมูลตามพฤติกรรมของผู้ใช้งาน ซึ่งนี่คือจุดเด่นของ TDD คลื่นที่จะนำมารองรับการใช้งานดาต้าในอนาคต เพราะส่วนใหญ่ผู้ใช้งานดาต้านั้นจะใช้งานรูปแบบ downlink มากกว่า ก็คือการดูหนัง โหลดเพลง

ทำให้ภาพเปลี่ยนไปเป็นถนนซูเปอร์ไฮเวย์ภาพเดิมที่มีทั้งขาเข้าเมืองและขาออกเมือง แต่ถ้าจำนวนถนนที่เรามีทั้งหมด 6 เลนส์ สำหรับรองรับการใช้งาน ไม่ต้องแบ่งเป็นขาเข้าเมือง 3 เลนส์ ขาออกเมือง 3 เลนส์เหมือนเดิม เพราะถ้าคนใช้งานฝั่งขาเข้าเมืองมากกว่า เราจะออกแบบให้ถนนฝั่งขาเข้าเมืองมี 4 เลนส์ ฝั่งขาออกนอกเมืองมี 2 เลนส์ หรือถ้าคนใช้งานกันแต่ฝั่งเข้าเมืองเรามาออกแบบเป็น ถนนฝั่งขาเข้าเมือง 5 เลนส์ และฝั่งขาออกนอกเมือง 1 เลนส์พอ มีความยืดหยุ่นในการใช้งาน

สุดท้ายการมาของ 4G LTE-TDD จะกลายเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยยกระดับการใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านเครือข่ายไร้สายในประเทศไทย ผู้ใช้จะได้ประโยชน์ก็คือ จะได้ความเร็วในการใช้อินเทอร์เน็ตที่เร็วขึ้น โดยเฉพาะในแง่ของการดาวน์โหลดคอนเทนต์ เมื่อเทียบกับ 4G บนคลื่นแบบFDD ดังนั้น 4G บนคลื่น 2300MHz จะให้การใช้งานสตรีมมิ่งวิดีโอคอนเทนต์ ไม่ว่าจะเป็น Youtube Facebook Live LINE TV และดูคลิปวิดีโอผ่านช่องทางต่างๆ ก็จะรวดเร็วขึ้น ลื่นขึ้น