กสทช. บีบหนัก เฟซบุ๊ก-ยูทิวบ์ ! เอเยนซีลงโฆษณาบน OTT เถื่อนหลัง 22 ก.ค. เจอผิดกฎหมาย

กสทช. แจงเอเยนซี ลงโฆษณาบนแพลตฟอร์ม “โอทีที” เถื่อน มีความผิดฐานสนับสนุนผู้ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีโทษ 2 ใน 3 ตามกฎหมายอาญา ชี้ยูทิวบ์-เฟซบุ๊ก มีเวลาเข้าระบบถึง 22 ก.ค. นี้

ดูท่า 2 แพลตฟอร์มยักษ์ เฟซบุ๊ก (Facebok) และยูทิวบ์ (Youtube) จะเจอสถานการณ์ยากลำบากซะแล้ว เมื่อ กสทช.เดินเครื่องเร่งมือนำผู้ให้บริการ OTT ทั้งไทยและต่างประเทศเข้าระบบ แต่ปรากฏว่า เฟซบุ๊ก และยูทิวบ์ ยังไม่ตอบรับมาลงทะเบียนเป็นผู้ให้บริการ OTT  กับทาง กสทช.

ล่าสุด  พ.อ.นที ศุกลรัตน์ ประธานคณะอนุกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ Over The Top หรือ OTT  ได้หารือกับสมาคมมีเดียเอเยนซี และธุรกิจสื่อดิจิตอลแห่งประเทศไทย, สมาคมโฆษณาดิจิทัลแห่งประเทศไทย และสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย เพื่อชี้แจงแนวทางการกำกับดูแลการให้บริการในรูปแบบโอทีที โดยระบุว่า เอเยนซีไม่ควรสนับสนุนโฆษณาให้กับผู้ให้บริการที่ไม่เข้าระบบกำกับดูแล

กสทช.ได้แจ้งกับมีเดียเอเยนซีถึงข้อกฎหมาย ถึงการนำ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 มาปรับใช้กับการกำกับดูแล OTT ซึ่งมาตรา 27 วรรคหนึ่ง (6) กำหนดว่า การอนุญาต และกำกับดูแลการประกอบกิจการ เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้รับบริการที่มีคุณภาพ, ประสิทธิภาพ, รวดเร็ว, ถูกต้อง และเป็นธรรม กสทช.มีหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการเกี่ยวกับการกำกับการอนุญาตเงื่อนไขดังกล่าว

มาตรา 66 ผู้ใดประกอบกิจการโดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยจะปรับวันละไม่เกินห้าหมื่นบาทตลอดระยะเวลาที่ยังฝ่าฝืน มาตรา 83 กรณีความผิดที่เกิดขึ้นจากการกระทำของบุคคล

นอกจากนี้ กสทช.ได้นำรูปแบบการกำกับดูแลโดยอ้างอิงประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ที่เชื่อมโยงฐานการกระทำความผิดระหว่างตัวการ ผู้ใช้ และผู้สนับสนุน โดยระบุว่า การสนับสนุนผู้ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือกระทำความผิดตามกฎหมาย มีโทษ 2 ใน 3 ตามกฎหมายอาญา

ด้าน ไตรลุจน์ นวะมะรัตน นายกสมาคมมีเดียเอเยนซี กล่าวว่า แนวทางที่ กสทช.ได้ชี้แจงเป็นสิ่งที่มีเดียเอเยนซีจะปฏิบัติตาม โดยจะแจ้งกับเจ้าของลูกค้าถึงกรอบแนวทางของ กสทช. หากผู้ให้บริการแพลตฟอร์มทั้ง 2 รายไม่มาแจ้งเป็นผู้ให้บริการกับ กสทช. ย่อมหมายความว่า เอเยนซีไม่สามารถลงโฆษณาในแพลตฟอร์มทั้งสองได้

อย่างไรก็ตาม สมาคมยังเชื่อว่า ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มทั้งสองรายจะมาแจ้งเป็นผู้ให้บริการ OTT กับ กสทช. ตามกำหนดเวลา

ทั้งนี้ มูลค่าโฆษณาของยูทิวบ์ และเฟซบุ๊ก ในตลาดโฆษณาออนไลน์ในประเทศไทย มีสัดส่วนประมาณ 45% แบ่งเป็นเฟซบุ๊ก 27% ยูทิวบ์ 18% โดยในปี 2559 มูลค่าการลงโฆษณาออนไลน์อยู่ที่ 9,700 ล้านบาท สมาคมคาดว่า ปีนี้ (2560) มูลค่าโฆษณาจะอยู่ที่ 12,000 ล้านบาท

สำหรับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มโอทีที ที่ยังไม่เข้าสู่ระบบตอนนี้มีเพียง 3 ราย คือ เน็ตฟลิกซ์ ซึ่งแจ้งว่า จะมาหารือภายในเดือน ก.ค. นี้ ส่วนเฟซบุ๊ก และยูทิวบ์นั้น ยังไม่มีการติดต่อกลับมา ซึ่งหากพ้นกำหนดวันที่ 22 ก.ค. 2560 ยังไม่มาลงชื่อจดแจ้งเข้าเป็นกิจการโอทีทีในไทยจะถือว่าเป็นผู้ให้บริการที่ไม่ได้รับอนุญาต ถือเป็นการให้บริการที่ผิดกฎหมาย ฝ่าฝืน พ.ร.บ. การประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551

“ผู้เข้าร่วมประชุมเห็นพ้องว่า การประกอบกิจการโอทีที ต้องคำนึงถึงเรื่องบรรษัทภิบาล และธรรมาภิบาลประกอบด้วย พร้อมทั้งยินดีสนับสนุนการให้บริการโอทีที ที่ดำเนินการสอดคล้องภายใต้กรอบกฎหมายไทย การสนับสนุนการประกอบกิจการที่ไม่ได้อยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย จะส่งผลกระทบต่อบรรษัทภิบาล และธรรมาภิบาลของผู้ที่สนับสนุนด้วย” พ.อ.นที กล่าว


ที่มา : https://www.manager.co.th/Cyberbiz/ViewNews.aspx?NewsID=9600000065885