Alibaba ผนึก Lazada อนาคตอีคอมเมิร์ซไทย จะได้หรือเสียจากปรากฏการณ์ Alizada

ผลสำรวจของ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ โดย พิมพ์นิภา บัวแสง ได้วิเคราะห์ถึง ดีลสะเทือนวงการอีคอมเมิร์ซระหว่าง Alibaba และ Lazada ได้สร้างความกังวลว่า Lazada จะกลายเป็นช่องทางให้สินค้าจากจีนที่มักมีราคาถูกกว่า ไหลทะลักเข้ามาแข่งกับสินค้าไทย ซึ่งสวนทางกับมุมมองของ Jack Ma ที่ว่า SMEs ทั่วอาเซียนจะได้ประโยชน์จากการนำสินค้าไปขยายตลาดที่จีน บทความนี้จะมาเจาะลึกในคำถามที่ว่า ไทยอยู่ในฐานะที่เสียประโยชน์จากปรากฏการณ์ Alizada จริงหรือไม่ หรือยังมีสินค้าประเภทใดที่ไทยอาจเป็นผู้ชนะในเวทีนี้ได้

อีคอมเมิร์ซแข่งเดือด หลัง Alibaba เข้าซื้อกิจการ Lazada

แนวโน้มการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของรายได้ชนชั้นกลางในอาเซียน และฐานจำนวนผู้บริโภคกว่า 618 ล้านคน ซึ่งยังไม่มีการเข้าถึงอีคอมเมิร์ซที่มากนัก ดึงดูดให้ Alibaba ยักษ์ใหญ่ด้านตลาดการค้าออนไลน์ของจีนตัดสินใจลงทุนในตลาดอาเซียนอย่างเต็มตัว

โดยเริ่มจากการเข้าซื้อ Lazada เว็บไซต์อีคอมเมิร์ซขนาดใหญ่ที่มีธุรกิจถึง 6 ประเทศในอาเซียน ตามมาด้วยการประกาศความร่วมมืออย่างเป็นทางการระหว่าง Ant Financial Services บริษัทแม่ของ Alipay ซึ่งดำเนินธุรกิจด้านบริการธุรกรรมการเงินทางออนไลน์อันดับ 1 ของจีนในเครือ Alibaba Group กับบริษัท Ascend Money ในเครือ CP ของไทย และเมื่อไม่นานมานี้ Lazada ได้ประกาศลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC ของไทย เพื่อตั้งอีคอมเมิร์ซพาร์ค ศูนย์กลางโลจิสติกส์ โดยหวังใช้ไทยเป็นประตูสู่ CLMV

ไม่เพียงเท่านั้น Alibaba ยังได้ร่วมมือกับรัฐบาลมาเลเซียในการก่อตั้ง Electronic World Trade Platform (eWTP) เพื่อส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศแบบครบวงจรผ่านการซื้อขายบนแพลตฟอร์ม รวมถึงความพยายามที่จะลดขั้นตอนและกฎเกณฑ์ด้านการค้าระหว่างประเทศเพื่อเพิ่มโอกาสทางการค้าให้กับ SMEs ทั่วโลก

ทุกก้าวย่างของ Alibaba ในอาเซียนต่างมุ่งหมายที่จะวางโครงสร้างพื้นฐานและพัฒนาระบบนิเวศอีคอมเมิร์ซในภูมิภาค เพื่อให้บริการทุกด้านของอีคอมเมิร์ซเป็นไปอย่างครบวงจรภายใต้ธุรกิจของ Alibaba

Alizada คือการเชื่อมตลาดจีนและอาเซียนเข้าด้วยกัน

Jack Ma ผู้ก่อตั้งและประธานบริษัท Alibaba กล่าวว่า การวางโครงสร้างพื้นฐานและพัฒนาระบบนิเวศอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคอาเซียนทั้งในด้านโลจิสติกส์และระบบการชำระเงิน เพื่อต้องการให้การค้าระหว่างจีนและอาเซียนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสให้ SMEs ทั่วอาเซียนสามารถเข้าถึงตลาดจีนที่มีประชากรกว่า 1,370 ล้านคน ผ่านแพลตฟอร์ม Tmall.com ของ Alibaba ได้ นอกจากนี้ ยังช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถขยายตลาดผ่านแพลตฟอร์ม โดยสามารถทดลองขายสินค้าในประเทศต่างๆ ได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำลงและไม่ต้องเสี่ยงไปลงทุนทางตรง อีกทั้งระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นอาจช่วยลดต้นทุนด้านการบริหารสินค้าคงคลังและการขนส่งของ SMEs ได้ และในอนาคต การที่ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบการชำระเงิน Alipay จะทำให้ Alibaba มีฐานข้อมูลด้านการเงินของผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อเครดิตในการกู้ยืมเงินเพื่อบริหารสภาพคล่อง

สินค้าไทยเผชิญกับการแข่งขันราคา

อย่างไรก็ตาม การค้าระหว่างประเทศที่คล่องตัวมากขึ้นทำให้ต้นทุนของสินค้าจากต่างประเทศลดลงมาใกล้เคียงกับสินค้าในประเทศ และส่งผลให้ความอยู่รอดของผู้ประกอบการไทยถูกกำหนดด้วยกลไกตลาด

แม้ว่าการค้าระหว่างประเทศที่คล่องตัวและเปิดกว้างมากขึ้นจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าเจาะตลาดต่างประเทศได้ แต่ในขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการที่มีฐานลูกค้าในประเทศจะประสบปัญหาจากสินค้าต่างประเทศที่ไหลหลั่งเข้ามาแข่งขันกับสินค้าในประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

โดย “สินค้าที่ผลิตแบบเดียวกันและผลิตเป็นจำนวนมาก (mass product) จะเผชิญกับสงครามราคา และผู้ชนะคือผู้ประกอบการที่มีความสามารถในการแข่งขันสูงที่สุด หรือต้นทุนการผลิตต่ำที่สุด” ตัวอย่างที่พบเห็นได้แล้วในปัจจุบัน เช่น อุปกรณ์เคสโทรศัพท์มือถือที่แม้ว่าจะเป็นสินค้าที่มูลค่าไม่สูงมากนักและอาจไม่คุ้มทุนหากเป็นการสั่งซื้อจากต่างประเทศ แต่กลับพบว่าในเว็บไซต์ Lazada มีจำนวนสินค้าเพียง 2.8% เท่านั้นที่เป็นการจัดส่งจากภายในประเทศไทย

ซึ่งนั่นหมายความว่าอาจมีสินค้าจากต่างประเทศกว่า 97.2% ที่สามารถผลิตได้ด้วยต้นทุนต่ำ แม้จะต้องเสียค่าขนส่งและภาษีนำเข้าก็ยังสามารถนำสินค้าเข้ามาขายแข่งกับผู้ประกอบการไทยผ่านอีคอมเมิร์ซได้

ทั้งนี้ ราคาสินค้าที่ถูกกว่าท้องตลาดและการจัดโปรโมชั่นส่วนลดต่างๆ เป็นเหตุผลหลักที่ดึงดูดให้ผู้บริโภคในปัจจุบันหันมาซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ โดยร้านค้าก็จำเป็นที่จะต้องขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มดังกล่าวเพื่อเข้าถึงฐานลูกค้าให้ได้มากที่สุด

เหตุผลหลักที่ดึงดูดให้ผู้บริโภคในปัจจุบันหันมาซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ คือ ราคาสินค้าที่ถูกกว่าท้องตลาดและการจัดโปรโมชั่นส่วนลดต่างๆ


หน่วย: % ของผู้ตอบแบบสอบถามที่ซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ทั้งหมด และผู้ที่ซื้อสินค้าผ่าน Lazada

ไทย ได้ประโยชน์หรือเสียเปรียบกันแน่

ประเด็นที่มักเป็นความกังวลต่อการที่ Alibaba เข้าซื้อกิจการ Lazada คือ Lazada จะกลายเป็นช่องทางให้สินค้าจากจีนที่มักมีราคาถูกกว่าไหลทะลักเข้ามาในไทย โดยปรากฏการณ์ Alizada จะทำให้ต้นทุนของสินค้าจากต่างประเทศลดลงมาใกล้เคียงกับสินค้าในประเทศยิ่งขึ้นอีก และอาจทำให้เกิดการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในอีกหลายอุตสาหกรรม ซึ่งผลเสียนี้อาจจะมากกว่าผลดีที่ไทยได้รับจากการนำสินค้าไปขยายตลาดที่จีน

อย่างไรก็ดี อีไอซี มองว่าปรากฏการณ์ Alizada จะไม่ได้เป็นเพียงการแข่งขันระหว่างไทยกับจีนเพียงเท่านั้น แต่จะเป็นการแข่งขันในระดับภูมิภาคอาเซียนกับประเทศจีน หากแพลตฟอร์มของ Lazada สามารถเชื่อมโยงร้านค้าจากประเทศต่างๆ ในอาเซียนและจีนเข้าด้วยกันได้ ดังนั้น ในอนาคตอาจมีประเทศอื่นที่มีความสามารถในการแข่งขันที่ทัดเทียมกับจีนที่ไทยต้องกังวล หรืออาจมีสินค้าบางประเภทที่ไทยยังสามารถมีบทบาทในเวทีนี้ได้

จุดแข็งไทย สินค้าสุขภาพและควางามเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน

จากการศึกษาพบว่า เมื่อเทียบกับภูมิภาค ไทยมีบทบาทเป็นผู้ผลิตในเกือบทุกหมวดสินค้า ยกเว้นเฟอร์นิเจอร์และของแต่งบ้าน และสินค้าที่ไทยทำได้ดีกว่าภูมิภาค คือ ผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงาม และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ซึ่งสอดคล้องกับความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในหมวดดังกล่าวบนแพลตฟอร์ม Lazada (ประเทศไทย) ที่มีสินค้าจากภายในประเทศอยู่มากกว่า 70%

ไทยมีบทบาทผู้ผลิตที่โดดเด่นในผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงาม และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ขณะที่จีนและเวียดนามเป็นผู้ผลิตหลักของภูมิภาคในกลุ่มเสื้อผ้าและรองเท้า และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ 

ดัชนีการส่งออกสุทธิต่อคน – รายสินค้าและประเทศ


หน่วย: ดัชนี, >1: มีความสามารถในการส่งออกสุทธิสูงกว่าภูมิภาค

ผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงาม และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เป็นสินค้าที่ผู้ประกอบการไทยมีบทบาทบนแพลตฟอร์ม Lazada (ประเทศไทย) อย่างชัดเจน

แหล่งที่มาของสินค้าที่ขายในแพลตฟอร์ม Lazada (ประเทศไทย) – รายสินค้า


หน่วย: % สัดส่วนต่อจำนวนสินค้าในหมวดดังกล่าวทั้งหมด

หมายเหตุ: สินค้านำเข้า คือ สินค้าที่ไม่ได้มีการจัดส่งจากภายในประเทศ

ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ Lazada ณ วันที่ 24 มิถุนายน 2017

แบรนด์สินค้าความงามและสุขภาพไทยฮิตจีนอาเซียน

ผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงามของไทย โดยเฉพาะเครื่องสำอาง ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคในอาเซียนและจีน ทั้งนี้ ตลาดเครื่องสำอางของไทยมีขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน ด้วยส่วนแบ่งการตลาดกว่า 30% 

ตัวอย่างความสำเร็จ คือ แบรนด์เครื่องสำอาง SNAIL WHITE ของไทย ซึ่งติดอันดับที่ 3 เครื่องสำอางแบรนด์เนมนำเข้าของจีนในปี 2015 โดยที่แหล่งนำเข้าสำคัญอื่นๆ ของจีน ได้แก่ ฝรั่งเศส เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น 

นอกจากนี้ จากการสำรวจยังพบสินค้าเครื่องสำอางแบรนด์ไทยที่ได้รับความนิยมและจำหน่ายได้ดีในตลาดจีน ได้แก่ Beauty Buffet, ele, Herb Basics และ Mistine เป็นต้น

ในปัจจุบันผู้บริโภคต่างชาติมักจะซื้อสินค้าของไทยผ่านตัวแทนจำหน่ายที่นำสินค้าเข้ามา อีกทั้งยังมีนักท่องเที่ยวที่นิยมซื้อเครื่องสำอางกลับไปใช้ที่ประเทศเป็นจำนวนมากเช่นกัน

ดังนั้น โครงสร้างพื้นฐานด้านอีคอมเมิร์ซที่พัฒนาขึ้นจากปรากฏการณ์ Alizada จึงเป็นโอกาสดีที่ผู้ประกอบการไทยจะสามารถใช้เป็นช่องทางในการพบผู้บริโภคต่างชาติได้มากยิ่งขึ้น และขยายตลาดได้อย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้ ประเทศที่มีบทบาทเป็นผู้บริโภคในผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงามที่ไทยสามารถไปเจาะตลาดได้ คือ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และจีน รวมถึงประเทศที่อาจเข้าถึงแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซได้ในอนาคตอย่าง กัมพูชา เมียนมา และลาว เช่นกัน

อย่างไรก็ดี สินค้าไทยควรเลือกเจาะตลาดระดับกลาง-สูง และเลือกสร้างจุดขายที่ไม่ซ้ำกับรายอื่น เพราะหากเลือกเจาะตลาดล่างหรือตลาด mass อาจต้องเจอการแข่งขันที่ค่อนข้างสูงในระยะยาว เนื่องจากรูปแบบและคุณภาพสินค้าที่คู่แข่งจะสามารถทำตามได้ง่ายกว่า โดยเฉพาะคู่แข่งจากจีน

เครื่องใช้ไฟฟ้า ความโดดเด่นที่ไทยยังไม่อาจนิ่งนอนใจ

นอกจากนี้ทยยังเป็นฐานการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าที่สำคัญของอาเซียน โดยประเทศผู้บริโภคในเวียดนาม ยังนิยมซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าจากไทยมากกว่าจีน เพราะเชื่อมั่นในคุณภาพของสินค้าที่ผลิตจากไทยและชื่นชอบราคาที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการแข่งขันของไทยในอนาคตยังขึ้นอยู่กับนโยบายของบริษัทผู้ผลิต ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทต่างชาติที่พร้อมจะย้ายฐานการผลิตออกจากไทย หากข้อได้เปรียบทางด้านค่าจ้าง แรงงาน และสิทธิประโยชน์ทางการค้าต่างๆ ของชาติอื่นดึงดูดกว่าไทย อย่างเช่น เวียดนามที่สามารถดึงดูดบริษัทต่างชาติให้ย้ายฐานการผลิตจากจีนและไทยไปตั้งในเวียดนามได้

ทั้งนี้ ในมุมของผู้ประกอบการและผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าของไทยที่อาจเคยรับจ้างผลิตให้กับบริษัทต่างชาติอาจใช้โอกาสทางการค้าที่มีมากขึ้นจากปรากฏการณ์ Alizada หันมาพัฒนา R&D และผลิตสินค้าที่มีนวัตกรรม หรือ การใช้งานที่ฉีกแนวไปจากเครื่องใช้ไฟฟ้าของผู้ผลิตสัญชาติอื่นๆ และใช้แพลตฟอร์มออนไลน์เพิ่มช่องทางในการขายและขยายตลาด เพื่อสนองความต้องการสินค้าที่เติบโตขึ้นในภูมิภาค

จีนและเวียดนามครอง 4 ตลาด เสื้อผ้า รองเท้า อิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์

แม้ว่าไทยจะมีบทบาทเป็นผู้ผลิตในทั้ง 3 หมวดสินค้าที่ผู้บริโภคนิยมซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ ได้แก่ เสื้อผ้าและรองเท้า ผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงาม และเครื่องใช้ไฟฟ้า

แต่สำหรับผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าและรองเท้า และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ ของไทยบนแพลตฟอร์ม Lazada (ประเทศไทย) มีอยู่เพียง 7% และ 13% ตามลำดับเท่านั้น นั่นหมายความว่าผู้ประกอบการไทยกำลังแข่งขันกับสินค้าจากต่างประเทศที่มีอยู่กว่า 90% ทั้งนี้ เหตุการณ์ดังกล่าวสอดคล้องกับการที่ไทยเป็นผู้ผลิตที่มีศักยภาพต่ำกว่าภูมิภาค โดยประเทศที่มีบทบาทโดดเด่น คือ จีนและเวียดนาม ซึ่งในปัจจุบันสินค้าต่างชาติที่เข้ามาแข่งกับไทยส่วนมากอาจเป็นสินค้าจากจีน แต่ในอนาคตหากการค้าระหว่างจีนและอาเซียนเชื่อมโยงถึงกัน ไทยอาจจะต้องระวังการแข่งขันที่จะมาจากเวียดนามด้วยเช่นกัน

โดยสรุป ประเทศจีนมีบทบาทของการเป็นผู้ผลิตในระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาคในเกือบทุกหมวดสินค้า ยกเว้น ผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงาม จึงอาจกล่าวได้ว่า “การเปิดกว้างทางการค้าผ่าน Alizada มีแนวโน้มที่จะเอื้อประโยชน์ต่อจีนเป็นอย่างมาก โดยอาจมีเพียงผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงามเท่านั้นที่จะเป็นช่องว่างให้ไทยเข้าเจาะตลาดจีนได้”

เสื้อผ้าและรองเท้า ผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงาม และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ เป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมในการซื้อผ่านช่องทางออนไลน์

ความนิยมในการซื้อสินค้าออนไลน์ของผู้บริโภคชาวไทยเปรียบเทียบกับโลก – รายสินค้า


หน่วย: % ของผู้ตอบแบบสอบถามที่ซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์

ที่มา: ผลสำรวจของของ EIC และ PWC Total Retail Survey (2016)

รายย่อยจะรอดได้ต้อง แตกต่างและสร้างแบรนด์

ผู้ประกอบการที่มีแนวโน้มจะเป็นผู้ชนะในโลกของการแข่งขันทางด้านราคา คือผู้ประกอบรายใหญ่ที่มี economies of scale ดังนั้น ทางรอดของผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซรายย่อยที่ไม่ต้องการแข่งขันราคา คือ การสร้างความแตกต่างให้กับสินค้าหรือคิดค้นสินค้าในรูปแบบใหม่เพื่อเจาะลูกค้าเฉพาะกลุ่ม (niche market)

ทั้งนี้ แพลตฟอร์ม Lazada niche product  มีฟังก์ชันให้ผู้บริโภคสามารถค้นหาสินค้าที่มีลักษณะเฉพาะได้ด้วยการใช้ตัวกรอง (filter) โดย function ดังกล่าวจะช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs ที่ผลิตสินค้า niche product สามารถเข้าถึงฐานลูกค้าขนาดใหญ่ได้ด้วยต้นทุนต่ำ และทำให้พบลูกค้ากลุ่มเป้าหมายของตนได้ง่ายขึ้น แต่ผู้ประกอบการรายย่อยที่ยังไม่มีชื่อเสียงมากนักควรสร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้าด้วยระบบบริการหลังการขาย และการรับประกันสินค้า ด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังจำเป็นต้องสร้างแบรนด์ เพราะแบรนด์เป็นการลงทุนระยะยาวที่จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า โดยทำให้ผู้ประกอบการสามารถตั้งราคาที่สูงขึ้นได้

อย่างไรก็ตาม หนึ่งในข้อเสียของแพลตฟอร์มออนไลน์อย่าง Lazada คือ ปริมาณสินค้าจำนวนมากส่งผลให้เกือบทุกสินค้ากลายเป็น mass product ทำให้ยากที่จะเห็นความโดดเด่นเฉพาะตัวของสินค้า และการตั้งราคาที่สูงกว่าคู่แข่งอาจยิ่งทำให้ขายสินค้าได้ยาก

ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงควรเพิ่มช่องทางการขายอื่นๆ เช่น social media หรือเว็บไซต์ของตนเอง เพื่อสร้าง Brand Awareness และ Brand Identity ให้เห็นเด่นชัดมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการใช้ประโยชน์จากความนิยมของคนไทยที่ใช้เวลาในแต่ละวันไปกับ social media ค่อนข้างมาก โดยผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าผ่าน social media มักจะมีแรงจูงใจในการใช้จ่ายมาจากการพบสินค้าโฆษณาบน social media ที่ใช้ประโยชน์จาก recommendation system ในการแสดงผลสินค้าที่ผู้บริโภคแต่ละรายมีแนวโน้มที่จะสนใจมากที่สุด ซึ่งแตกต่างจากผู้ซื้อสินค้าในแพลตฟอร์มที่มักมีความต้องการสินค้าอยู่ก่อนแล้วจึงเลือกหาสินค้า

ท่ามกลางสงครามทางการค้าที่ดุเดือดขึ้นทุกขณะ การสร้างแบรนด์และรักษาคุณภาพสินค้าเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับทุกธุรกิจที่ต้องการเติบโตในระยะยาว ในขณะเดียวกันผู้ประกอบการรายใหม่ที่ต้องการหาช่องว่างทางการค้าก็จำเป็นต้องคิดค้นสินค้าในรูปแบบใหม่ และสร้างจุดขายเฉพาะตัว

นอกจากนั้น สินค้าในหมวดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์ รวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เป็นสินค้าที่ผู้ประกอบการจะสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีให้ลูกค้าชาวไทยได้ด้วยระบบบริการหลังการขาย และการรับประกันสินค้าที่ผู้ประกอบการไทยจะทำได้ดีกว่าต่างชาติ จากการที่เราเข้าใจและเข้าถึงลูกค้าได้มากกว่า

สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการนำสินค้าไปขยายตลาดยังต่างประเทศก็ต้องคำนึงถึงว่าสินค้าของตนสามารถนำไปใช้ในประเทศเหล่านั้นได้หรือไม่ เช่น กำลังไฟฟ้าที่ใช้งานซึ่งแตกต่างกันในแต่ละประเทศ รวมถึงการทำคู่มือการใช้งานที่จะสร้างความสะดวกสบายให้กับผู้บริโภคต่างชาติ นอกจากนี้ สินค้าในหมวดเสื้อผ้าและรองเท้า รวมถึงเฟอร์นิเจอร์และของแต่งบ้าน ยังเป็นสินค้าที่ผู้บริโภคอาจต้องการสั่งทำเฉพาะ (customization) ซึ่งเป็นโอกาสให้ธุรกิจขนาดย่อมได้ดีเช่นกัน