เมื่อสตาร์ทอัพเมินตลาดหุ้น หันมาระดมทุนเงินตราดิจิทัลของตัวเอง

กลายเป็นกระแสร้อนแรงของโลกที่วงการสตาร์ทอัพต้องจับตามอง เมื่อทุกวันนี้บริษัทสตาร์ทอัพเกิดใหม่จำนวนมากทั่วโลกกำลังเมินการเข้าตลาดหุ้นเพื่อระดมทุนผ่าน IPO แต่หันมาระดมเงินหลายร้อยล้านเหรียญสหรัฐ ด้วยการออกเหรียญเงินตราดิจิทัลใหม่ของตัวเอง เทรนด์นี้นำไปสู่ทั้งความตื่นเต้นและความกังวล บนความแรงสุดขีดเพราะเม็ดเงินมากกว่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐหลั่งไหลเข้ามาสู่วงการที่เรียกกันว่า ‘Initial Coin Offering’ (ICO) แล้วตั้งแต่ต้นปีนี้

โดยเทรนด์แรงที่กำลังเกิดขึ้นคือสตาร์ทอัพจะสร้างเหรียญเงินตราดิจิทัลของตัวเอง ไม่ผูกติดกับเงินดิจิทัลที่ค่าเงินโตกระฉูดไปแล้วก่อนหน้านี้อย่างบิตคอยน์ (Bitcoin) รวมถึงเงินสกุลอันดับ 2 และ 3 อย่าง Ethereum และริปเปิล (Ripple)

แม้ว่าค่าเงินดิจิทัลเหล่านี้จะสุดสูง แต่นาทีนี้ค่าเงินกลับลดลงจนมูลค่าเงินรวมในตลาดเหลือเพียง 8.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ จากที่เคยพุ่งสูง 1.14 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

วันนี้เงินสกุลใหม่จึงไม่ได้มีแค่ Bitcoin, Ethereum และ Ripple แต่มีเงินสกุลใหม่อย่าง Steem, Dash, AntShares และ Dogecoin โดยหากประเมินให้เห็นภาพ มูลค่าตลาด Bitcoin ในวันนี้คิดเป็นเพียง 45.5% ของตลาดเงินตราดิจิทัลรวมเท่านั้น ลดลงจาก 94% ที่เคยมีการบันทึกไว้เมื่อปีที่ผ่านมา

ริชาร์ด คาสเทเลน (Richard Kastelein) แห่งบริษัทคริปโตแอสเซ็ตส์ดีไซน์กรุ๊ป (Cryptoassets Design Group) ผู้ช่วยให้บริษัทเกิดใหม่สามารถเปิดขาย ICO ได้ง่าย เป็นผู้ให้ข้อมูลนี้กับสำนักข่าวบิสสิเนสอินไซเดอร์ ว่ายอดเงินระดมทุนของสตาร์ทอัพผ่าน ICO ในขณะนี้มีมากกว่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐแล้ว ตัวเลขนี้รวมกรณีของบริษัทโอมิเซะ (Omise) น้องใหม่ฟินเทคชื่อดังของไทยที่เข้าซื้อกิจการเพย์สบาย (Paysbuy) หลังจากขาย ICO ระดมทุนได้ 25 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพียงไม่กี่วัน

ไม่เพียง Omise ยังมีบริษัทเทคโนโลยีทำนายทิศทางค่าเงินสกุลเอเธอเรียม (Ethereum) อย่าง Gnosis ที่สามารถเพิ่มทุนมากกว่า 12 ล้านเหรียญสหรัฐในเวลา 10 นาทีหลังประกาศ ICO เมื่อเดือนเมษายน และยังมีบริษัทชื่อ Brave สตาร์ทอัปผู้พัฒนาเว็บเบราว์เซอร์ของผู้ก่อตั้งมอสซิลา (Mozilla) ที่สามารถระดมทุน 35 ล้านเหรียญสหรัฐในเวลาไม่ถึง 30 วินาที ในการขายเหรียญดิจิทัลชื่อเบสิคแอเทนชันโทเคนส์‘ (Basic Attention Tokens) เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

สำหรับการระดมทุนผ่าน ICO บริษัทนั้นจะใช้วิธีเปิดตัวเงินดิจิทัลสกุลใหม่ซึ่งจะสามารถใช้ในระบบของบริษัท และสามารถนำไปแลกเปลี่ยนมือ หรือนำกลับมาขับเคลื่อนธุรกิจได้ด้วย

ตัวอย่างที่น่าสนใจของการขาย ICO ในสัปดาห์ที่ผ่านมาคือคิกแมสเสนเจอร์ (Kik Messenger) แอปพลิเคชันรับส่งข้อความสนทนายอดนิยมจากแคนาดา ที่ประกาศทำสกุลเงินของตัวเองชื่อว่าคิน‘ (Kin) สกุลเงินนี้ถือเป็นสกุลเสมือนที่อยู่บนระบบของ Ethereum อีกชั้น โดยสกุลเงิน Kin จะถูกนำไปใช้ในระบบของ Kik Messenger ที่มีผู้ใช้ประจำราว 300 ล้านคน (15 ล้านรายต่อเดือน) เหมือนเงินดิสนีย์แลนด์ดอลลาร์ที่ใช้ซื้อสินค้าภายในสวนสนุกได้

เพื่อความชัดเจน วงการเงินดิจิทัลจึงเรียกสกุลเงินเสมือนสไตล์ Kin ว่า โทเคน (Token) ดังนั้นการขาย ICO จึงเป็นการเสนอขาย Token เหล่านี้ต่อสาธารณชนและนักลงทุน

เงิน Kin สามารถใช้ซื้อสิ่งของและบริการบนเครือข่ายสังคม Kik เช่น อีโมจิ สติกเกอร์ บริการโฮสติง และบริการอื่นเช่นระบบตอบคำถามอัตโนมัติ ซึ่งเป้าหมายสูงสุดในอนาคต คือเงิน Kin อาจจะสามารถใช้ซื้อขายบริการอื่นนอกแอปพลิเคชัน Kik ได้

แต่ไม่ใช่ว่าทุกบริษัทจะต้องเปิดเงินสกุลของตัวเอง บางบริษัทสามารถใช้บริการแพลตฟอร์มเงินดิจิทัลเพื่อระดมทุนได้รวดเร็วขึ้น จุดนี้ แจน ไอซาโกวิก (Jan Isakovic) ซีอีโอบริษัทให้บริการแพลตฟอร์ม ICO ชื่อโคฟาวด์ (Cofound.it) ประเมินว่าการระดมทุนในระบบ VC นั้นใช้เวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือนในการเตรียมการ แต่ ICO นั้นสามารถทำได้เลย

โดยเฉพาะเมื่อ Ethereum เป็นระบบบล็อกเชนแบบเปิด (blockchain-based public system) ที่ให้ทุกคนสามารถสร้างชุดคำสั่งหรือพัฒนาเงินสกุลเสมือนได้ง่าย ซึ่งผู้ที่อยู่ในวงการนี้เชื่อว่า ทั้งหมดกำลังเข้าสู่ช่วงการขยายตัวอย่างยั่งยืน ไม่ใช่ฟองสบู่


ที่มา : http://manager.co.th/Cyberbiz/ViewNews.aspx?NewsID=9600000071566