DNA of KAIZEN โมเดลฝ่าวิกฤตด้วยดีไซน์สไตล์ MK

ในขณะที่ผู้บริหารหลายๆ คน นั่งกุมขมับเมื่อต้องเผชิญกับคำถามที่ว่า จะรับมือกับสึนามิทางเศรษฐกิจรอบนี้อย่างไร

แต่ชายคนหนึ่งกลับยิ้มร่า แล้วตอบคำถามอย่างอารมณ์ดีว่า เขาแทบไม่ต้องทำอะไรเพิ่มเติมจากที่เคยทำ…

ชายผู้นั้นคือ ฤทธิ์ ธีระโกเมน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอ็มเค สุกี้ จำกัด เจ้าพ่อแห่งวงการสุกี้ไทย

ย้อนกลับไปในปี 2529 ที่เขาเริ่มเข้ามาดูธุรกิจนี้ของครอบครัวอย่างจริงจัง จวบจนวันนี้เขาขยายสาขา MK ในไทยไปแล้ว 280 สาขา มีพนักงานทั้งสิ้นกว่า 13,000 คน ขยายสาขาไปที่ประเทศญี่ปุ่นแล้ว 16 สาขา และในปีหน้ากำลังจะขยายเข้าไปยังประเทศเวียดนามในรูปแบบแฟรนไชส์

อะไรคือปัจจัยให้เขาประสบความสำเร็จ ???

เขาเล่าว่า “ดีไซน์สไตล์ MK” คือ Key Success

ปัญหาทุกปัญหาในสายตาของฤทธิ์ จะถูกมองด้วยสายตามุมกว้างเสมอ ทุกปัญหาสำหรับเขาจึงมิใช่เรื่องเล็กที่ต้องดูดาย หากแต่เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องแก้ไขด้วยการดีไซน์กระบวนการ เทคโนโลยี พร้อมสุนทรียะให้มีความเหมาะสม ประหยัด และปลอดภัย เพื่อทลายภูเขาน้ำแข็งแห่งปัญหาอย่างถึงรากถึงโคน

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผ้าเช็ดโต๊ะ ไข่ หม้อสุกี้ เขียงสับเป็ด ไปจนถึงระบบโลจิสติกส์ และการเอนเตอร์เทนลูกค้าในร้านด้วยการเต้นของพนักงาน

ทำอย่างไรให้ผ้าเช็ดโต๊ะสะอาดอยู่เสมอ เขาเลือกที่จัดกระบวนการบริหารจัดการผ้าเช็ดโต๊ะอย่างมีระบบ ด้วยการ กำหนดประเภทของผ้า กำหนดสีให้กับผ้า กำหนดจำนวนครั้งในการเช็ด กำหนดวิธีในการเช็ด และกำหนดขั้นตอนในการซักล้าง ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนผ้าไม่รู้จบสิ้น

ทำอย่างไรให้ไข่สะอาดปลอดภัย เขาเลือกที่จะขอความร่วมมือให้ Supplier ทำความสะอาดไข่ด้วยการฆ่าเชื้อก่อนส่งมาที่โรงงานของ MK จากนั้นบรรจุไข่ในลังกระดาษที่สั่งทำเป็นพิเศษ ใช้ครั้งเดียวทิ้งทันที และเขากำลังพัฒนาไข่เหลวบรรจุขวดเพื่อความปลอดภัย 100% ไม่ใช่รอให้ไข้หวัดนกมาเยือนอีกรอบแล้วค่อยขายผ้าเอาหน้ารอด

ทำอย่างไรให้หม้อสุกี้มีความปลอดภัย เขาเลือกที่จะเปลี่ยนระบบเตาสุกี้ จากเตาแก๊ส เป็นเตาไฟฟ้า ตั้งแต่เมื่อ 23 ปีที่แล้ว ทุกวันนี้ยังคงใช้งานอยู่ นอกจากนี้เขายังใส่ระบบตัดไฟ ELCB เข้าไปที่ทุกโต๊ะ เปลี่ยนปลั๊กทุกตัวให้เป็นโพลีคาร์บอเนตเพื่อความทนทาน และทำวงแหวนครอบเตาเพื่อป้องกันความร้อนลวกมือเด็กๆ

ทำอย่างไรให้เขียงสับเป็ดสะอาดปราศจากเชื้อโรค เขาเพิ่มจำนวนเขียงให้แต่ละสาขามีเขียงอย่างน้อย 2-4 อัน เพื่อให้มีการสับเปลี่ยนหมุนเวียนเขียงไปทำความสะอาดด้วยการลวกน้ำร้อน

เขายังมีกระบวนการจัดการกับผักได้อย่างน่าอัศจรรย์ ตั้งแต่การคุยกับฟาร์มให้ลดการใช้สารเคมีให้มากที่สุด การคิดค้นเครื่องล้างผักด้วยระบบสายพานเป็นเครื่องแรกในประเทศไทย จากนั้นสร้างไมโครแล็บขึ้นมาเพื่อไว้ตรวจหาเชื้อโรคและสารตกค้างในผักทุกวัน

ยิ่งได้ฟังเรื่องการจัดการ “ลัง” ยิ่ง Amazing เพราะเขาคิดตั้งแต่ลักษณะของลังที่ต้องโปร่งด้านข้าง แต่ทึบด้านล่าง เพื่อให้ความเย็นทั่วถึงเวลาแช่ในห้องเย็นแต่ของเหลวไม่ไหลซึมเมื่อขนย้าย การคิดขนาดของลังเพื่อให้จุน้ำหนักได้ประมาณ 15 กิโลกรัม เพื่อสะดวกในการขนย้าย

ฤทธิ์ ยังดีไซน์ระบบล้อเลื่อนเพื่อใช้ขนส่งภายในโรงงาน เขาออกแบบให้วางลังได้ 2 ลัง และสามารถซ้อนลังได้ 10 ชั้น นั่นทำให้พนักงานของฤทธิ์ 1 คน สามารถขนย้ายของภายในโรงงานได้ถึง 300 กิโลกรัม

แต่เขายังไม่หยุดแค่นั้น เพราะระบบล้อเลื่อนของเขามีตะขอเกาะเกี่ยวกัน เพื่อให้สามารถโยงล้อเลื่อนเข้าด้วยกัน ราวกับรถไฟขบวนน้อยๆ ส่งผลให้พนักงานในโรงงานของฤทธิ์สามารถขนย้ายสินค้าที่มีน้ำหนักถึง 1 ตัน ด้วยคนเพียงคนเดียว และทำให้ MK ประหยัดค่าแรงคนงานได้อย่างน้อย 10 เท่าตัว

MK เป็นร้านอาหารรายแรกๆ ของประเทศไทย ที่นำระบบ PDA เข้ามารับออเดอร์อย่างแพร่หลาย แม้ต้องกัดฟันลงทุนถึง 70 ล้าน แต่ฤทธิ์บอกว่าคุ้มเมื่อแลกกับความพึงพอใจของลูกค้า ที่สั่งสุกี้ยังไม่ทันเสร็จ น้ำก็มาเสิร์ฟถึงโต๊ะเรียบร้อยแล้ว

ระบบโลจิสติกส์ของ MK จากเดิมที่ Supplier ต้องวิ่งส่งสินค้ากว่า 16,400 เที่ยวในแต่ละวัน ฤทธิ์จัดการให้มีคลังกระจายสินค้ากลาง ทำให้รอบการวิ่งส่งสินค้าเหลือเพียงวันละ 300 กว่าเที่ยว และระบบนี้ยังสามารถรองรับการขยายสาขาในอนาคตได้ถึง 500 สาขา

แม้กระทั่งการ Entertain ลูกค้าด้วยการเต้นของพนักงาน ก็มาจากการปรับปรุงกระบวนการสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ด้วยการรับฟังความคิดเห็นจากลูกค้าที่ผ่านมาเห็นพนักงานของฤทธิ์ยืดเส้นยืดสายตอนเช้าๆ นำมาสู่การทดลองเต้นในบางสาขา และขยายไปทั่วประเทศเมื่อได้ Feed Back ที่ดี ฯลฯ

จะเห็นได้ว่า MK เป็นองค์กรที่มีการดีไซน์ระบบต่างๆ เพื่อปรับปรุงและพัฒนาประสิทธิภาพขององค์กรอย่างต่อเนื่อง จึงไม่น่าแปลกใจหากเขาไม่สะทกสะท้านเมื่อเผชิญกับคำถามว่า จะทำอย่างไรในช่วงที่เศรษฐกิจหดตัว เพราะเขาแทบไม่ต้องทำอะไรผิดแผกจากที่เคยทำ มีเพียงการระมัดระวังในบางเรื่องเพิ่มเติมขึ้นเท่านั้น

“การขยายสาขาที่ยังไม่แน่ใจก็ชะลอไว้ก่อนได้ ส่วนพนักงานเราไม่ต้องไปเลย์ออฟใคร เพราะธุรกิจบริการมีการหมุนเวียนพนักงานอยู่แล้ว เราแค่ไม่ต้องรับคนใหม่เพิ่มเข้ามา ส่วนองค์กรของเราก็มีวัฒนธรรมในการคิดเรื่องประหยัดอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่มีวิกฤตจึงค่อยมาคิด”

โมเดลในการฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจของ MK จึงเป็นดั่ง DNA ที่ฝังตัวอยู่ในองค์กรมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน เป็น DNA ของการพยายามปรับปรุงและพัฒนาอย่างสม่ำเสมอไม่หยุดยั้ง ดังหลักการที่ฤทธิ์ยึดถือ ทำ และบอกอยู่เป็นนิตย์ว่า “เขาชอบ KAIZEN”