“ระดมทุน” เตรียมเสบียงก่อนวิกฤต

วิกฤตเศรษฐกิจ ไม่เพียงแต่ทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคหาย ยอดขายลดลงเท่านั้น แต่สภาพคล่อง หรือเงินที่ใช้หมุนเวียนในโลกก็พลอยหายไปด้วย ทำให้ใครที่ต้องการระดมทุนจะมีต้นทุนการเงินสูงกว่าภาวะปกติ สถานการณ์นี้จะบริหารจัดการกับวิกฤตได้อย่างไร มีตัวอย่างกรณีศึกษาจากบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่วิ่งมาถึงทางตัน แม้จะไม่วิกฤตเท่ากับปี 2540 ที่ทรูฯ แทบล้มละลาย แต่ครั้งนี้คือต้องเร่งเพิ่มทุนเพื่อระดมเงินก้อนใหญ่มาจ่ายหนี้และสะสมไว้ส่วนหนึ่งเพื่อลงทุน 3G พร้อมแต่งตัวให้ดูดีเพื่อต่อรองกับพาร์ตเนอร์ใหม่ในอนาคต และที่ลืมไม่ได้คือการตัดงบการตลาดแล้ว 10%

“ทรู คอร์ปอเรชั่น” มีหนี้สิน ณ ไตรมาส 2 ปี 2551 ตามที่ระบุอยู่ในงบการเงินรวม 109,681.26 ล้านบาท โดยมีหนี้เงินกู้ และหุ้นกู้ครบกำหนดชำระในปี 2552 จำนวน 7,827 ล้านบาท และปี 2553 อีก 8,528 ล้านบาท ขณะที่ในปี 2551 คาดว่าจะขาดทุน 654 ล้านบาท

หลังจากคิดแผนแก้ปัญหามาหลายเดือน ผู้บริหารทรูฯตัดสินใจประกาศเพิ่มทุน 19,500 ล้านบาท เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยให้สิทธิผู้ถือหุ้นเดิมซื้อก่อน ซึ่งผู้บริหารทรูฯชี้แจงต่อนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ว่า กำหนดซื้อ 1 ต่อ 2.63 หุ้น ในราคาหุ้นละ 1.95 บาท ซึ่งปัจจุบันผู้ถือหุ้นหลักในทรูฯ คือกลุ่มซีพี รวมทั้งผู้ถือหุ้นรายย่อยในตลาดหุ้น หากจำหน่ายไม่หมด ก็จะให้สิทธิผู้ถือหุ้นเดิมอีกครั้ง โดยคาดว่าเงินจะเข้าบริษัทในไตรมาสแรกของปี 2552

กรณีศึกษาจาก “ทรู คอร์ปอเรชั่น” คือแผนกู้วิกฤตเก็บเงินสด แม้จะย้ายจากกระเป๋าของบริษัทแม่เป็นหลัก แต่ก็ถือว่าเป็นการเตรียมพร้อมก่อนที่สภาพคล่องของโลกหายไป เพราะปี 2552 ทรูฯมีภาระหลัก และหนักถึง 3 ข้อ คือ 1.หนี้สินที่ต้องจ่ายรวม 8,900 ล้านบาท 2.การซื้อหุ้นในทรูมูฟ จากบริษัทบิทโก (BITCO) ในเครือซีพี มูลค่า 3,500 ล้านบาท และ 3.การลงทุนในโครงการโทรศัพท์มือถือ 3G ที่ยังไม่เปิดเผยว่าต้องใช้เงินลงทุนเท่าไหร่

เป็นแผนการแก้ไขก่อนที่ทรูฯจะวิกฤตตามสภาวะของเศรษฐกิจโลก ซึ่ง “ศุภชัย เจียรวนนท์” กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหาร บริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บอกว่า ที่ผ่านมาถูกถามตลอดว่าทรูฯจะแก้ปัญหาเรื่องหนี้อย่างไร แม้วิกฤตครั้งนี้จะหนัก แต่ก็ยังถือว่า “เด็ก ๆ” เมื่อเทียบกับปัญหาเมื่อปี 2540 ที่ทรูฯเจอปัญหาหนี้สินต่อทุนถึง 13.5 ต่อ 1 แต่ขณะนี้มีหนี้เพียง 5-6 เท่า และแผนการระดมทุนปรับโครงสร้างทุนครั้งนี้ จะทำให้หนี้สินต่อทุนลดลง และเข้าสู่เป้าหมายหนี้สินต่อทุนเหลือ 2 ต่อ 1 ภายใน 2 ปีนับจากนี้

นั่นหมายถึงหากสถานะหนี้ดีขึ้น ทำให้ทรูฯเจรจากับพันธมิตรได้ง่าย มีอำนาจต่อรองดีขึ้น และการระดมทุนเพื่อโครงการใหม่ก็ได้ต้นทุนทางการเงินที่ดีกว่า เพราะอนาคตทรูฯจะต้องลงทุน 3G ที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญสำหรับทรูฯที่มีแผนคอนเวอร์เจนซ์รองรับแล้วอย่างเต็มที่

ตัดงบตลาด 10%

ไม่เพียงการเตรียมเรื่องสถานะทางการเงินเท่านั้น “ศุภชัย” บอกด้วยว่าตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมาจริงจังมากยิ่งขึ้นกับแผน Cost Control เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าวิกฤตเศรษฐกิจทำให้คนใช้จ่ายน้อยลง รวมทั้งรายได้จากค่าโทรต่อเลขหมาย ก็ลดลงแล้วประมาณ 5-10% ทำให้ทรูฯต้องรัดเข็มขัด

การควบคุมรายจ่ายที่เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมแล้วคืองบการตลาด การขาย และการสร้างแบรนด์ ที่ต้องใช้จ่ายอย่างระมัดระวังมากขึ้น ไม่ใช้จ่ายจนเกินความจำเป็น โดยในปีหน้าลดงบประมาณลง 10% เหลือประมาณ 2,200 ล้านบาทจากปีนี้ที่ใช้ประมาณ 2,400 ล้านบาท

นี่คือการเริ่มต้นเพื่อเตรียมพร้อมก่อนที่จะเข้าสู่วิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่ง “ศุภชัย” ยืนยันว่า “ทรูฯ” มีบทเรียนที่ดีจากวิกฤตต้มยำกุ้ง จนทำให้มีภูมิคุ้มกัน และนาทียังคงมั่นใจว่า โมเดลธุรกิจคอนเวอร์เจนซ์ที่ทำมาตลอดกว่า 3 ปีจะส่งผลให้เห็นชัดเจนในปีหน้า

ความต้องการใช้เงินของกลุ่มทรูฯ ในปี 2552-2553
หน่วย : ล้านบาท ปี 2552 ปี 2553 รวม
———————————————————————————-
ทรู
เงินกู้บาท 2,800 2,800 5,600
หุ้นกู้ (1/2547) 804 804 1,609
หุ้นกู้ (1/2550) 1,000 – 1,000
หุ้นกู้ (1/2550) – 2,000 2,000
เงินกู้ของบริษัทในเครือ 248 180 428
———————————————————————————
ทรูมูฟ
เงินกู้ Kfw 1,689 1,418 3,107
เงินกู้ IFC 228 192 420
————————————————————————————–
ทรูวิชั่นส์
เงินกู้ (240 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) 1,058 1,134 2,192
รวม 7,827 8,528 16,355
ซื้อหุ้น BITCO คืน 3,540 – 3,540
รวมทั้งหมด 11,367 8,528 19,895
—————————————————————————————
ที่มา : บริษัทหลักทรัพย์เอเชีย พลัส