“โรงหนัง” ธุรกิจขายของหวาน! รายได้ 80% มาจากป๊อปคอร์น-น้ำอัดลม

ธุรกิจภาพยนต์ยังคงทำเงินได้อย่างร้อนแรง หากแต่ไม่ใช่จากยอดขายตั๋วหนังโดยตรง แต่เป็นการขายขนม และน้ำอัดลมหน้าโรงภาพยนตร์ต่างหาก

ปัจจุบันการไปดูหนังแต่ละเรื่อง ผู้ชมหนึ่งแทบจะเสียเงินเฉลี่ยให้กับ “อย่างอื่น” มากกว่าค่าตั๋วหนังไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นขนมขบเคี้ยว, น้ำอัดลมแก้วใหญ่ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งแก้วรูปภาพยนตร์สุดฮิตที่กำลังลงโรงฉายอยู่ในขณะนั้น

โรงหนังทุกแห่งในปัจจุบันแทบจะให้ความสำคัญกับการขายของเหล่านี้พอๆ กับการโปรโมตหนังแต่ละเรื่องก็ว่าได้ มีขนมแบบใหม่ๆ มาเสนอให้ลองอยู่เรื่อย และแก้วน้ำอัดลมที่หลายๆ คนเก็บเป็นของสะสมก็ดูจะยิ่งเว่อวังอลังการขึ้นไปแบบไม่หยุดหย่อน …. และเหตุผลที่โรงหนังเน้นโปรโมตของกินเล่นพวกนี้อย่างเป็นเรื่องเป็นราวชนิดเป็น “วาระ” สำคัญ ก็เพราะคือนี่ “รายได้หลัก” ของธุรกิจสายนี้นั่นเอง

อย่างที่เคยมีคนในวงการหนังของสหรัฐฯ เองเคยพูดติดตลกในหมู่คนแวดวงธุรกิจเดียวกันว่า “พวกเราทำธุรกิจขายขนมหวานต่างหาก” 

ค่าตั๋วแบ่งคนละครึ่ง แต่โรงรับกำไรจากขนม และน้ำดื่มไป “เต็มๆ”

เป็นที่รู้กันดีว่าตามปกติแล้วว่าค่าตั๋วหนังแต่ละเรื่องจะแบ่งให้กับเจ้าของโรง และเจ้าของหนังอย่างละครึ่ง นั่นก็หมายความว่าโรงหนังจะได้รับเงินจากค่าตั๋วแค่ส่วนเดียว แต่จะได้รับเงินจากำไรของของกินแบบเต็มๆ ซึ่งว่ากันว่าคำนวนออกมาแล้ว รายได้จากของกินจะสูงกว่ารายได้จากการขายตั๋วเป็นสัดส่วน 70:30 หรือ 80:20 กันเลยทีเดียว

นั่นก็เป็นเหตุผลว่าทำไมโรงภาพยนตร์ จึงพร้อมที่จะลดราคาตั๋วในบางวัน และมอบโปรโมตชั่นหลากหลายให้กับผู้ชมมากมาย ก็เพราะโรงหนังมีจุดประสงค์ในการดึงคนมาดูหนัง (และซื้อของกิน) ให้มากที่สุดนั่นเอง

ฮาเวิร์ด อเดลแมน แห่ง Movieland Cinemas เครือโรงหนังอิสระในสหรัฐฯ ก็ยอมรับตรงๆ ว่าธุรกิจโรงหนังแทบจะกลายเป็นธุรกิจขายขนมแล้ว “หนังก็แค่เอาไว้ดึงคนมาซื้อป๊อปคอร์น กับขนมเท่านั้นแหละครับ เราทำเงินจากตรงนั้น”

80 ปีที่ผ่านมาราคา “ป๊อปคอร์น” หน้าโรงหนัง “พุ่งกระฉูด” อย่างเหลือเชื่อ

ยุคสมัยหนึ่งเราอาจจะนั่งแกะถั่วต้มไปดูหนังไป หรือ เคี้ยวฟั่นอ่อยไปพร้อมๆ กันดูหนังได้อย่างสบายใจ แต่ปัจจุบัน ป๊อปคอร์น หรือ ข้าวโพดขั้วเท่านั้นที่คือขนมกินเล่นอันดับ 1 ในโรงภาพยนตร์

ป๊อปคอร์มเริ่มได้รับความนิยมในฐานะขมกินเล่นระหว่างดูหนังในช่วงยุค 1930s อันเป็นยุคเริ่มต้นยุคทองของวงการหนังสหรัฐฯ ซึ่งจากวันนั้นจนมาถึงปัจจุบัน เจ้าของโรงหนังก็แสดงออกอย่างชัดเจนว่าต้องการ “เอาดี” กับการขายขนม เพราะคณะทีค่าตั๋วมีราคาขึ้นมาพอสมควร แต่ค่าป๊อปคอร์นกลับแพงขึ้นอย่าง “บ้าคลั่ง” เลยก็ว่าได้

จากข้อมูลของ gizmodo ในปี 1930 เมื่อปรับค่าเงินเฟ้อแล้ว ราคาตั๋วหนังของที่สรหัฐฯ จะอยู่ที่ 4.32 เหรียญฯ (ราคาจริง 0.35 เหรียญฯ) โดยในอัตราเดียวกันป๊อปคอร์นหน้าโรงหนังหนึ่งถุงจะมีราคา 0.62 เหรียญฯ (ราคาจริง 0.05 เหรียญฯ) กระทั่ง 80 ปีต่อมา ตั๋วหนังราคาเพิ่มขึ้นตามลำดับเป็น 7.20 เหรียญฯ คิดเป็น 1.6 เท่า ขณะทีป๊อปคอร์นราคาสูงถึงเป็น 4.75 เหรียญฯ หรือ 7.6 เท่ากันเลยทีเดียว!!!

ทำไม “ป๊อปคอร์น” โรงหนังจึงอร่อยแบบนี้!?

แน่นอนว่าคนดูจำนวนมาก “เซ็ง” และ “บ่น” เรื่องป๊อปคอร์นราคาแพงมาโดยตลอด แต่หลายคนก็ยัง “อดไม่ไหว” ต้องจ่ายเงินซื้อข้าวโพดคั้วมากินเล่นตอนดูหนังในโรงภาพยนตร์อยู่ดี ทั้งๆ ป๊อปคอร์น ไม่ได้เป็นขนมที่หาได้ยากอะไรเลย แต่ผู้ชมจำนวนไม่น้อยต่างยอมรับว่าป๊อปคอร์นโรงหนังมัน “อร่อยจริงๆ”

โดยมีคำอธิบาย 3 ข้อที่น่าจะตอบคำถามได้บ้างว่าทำไมเราถึงยอมกินป๊อปคอร์นในโรงหนัง

ประการแรก “จำนวน และขนาด” ป๊อปคอร์นเป็นอาหารประเภทที่ “ยิ่งกินยิ่งมัน” การได้กินป๊อปคอร์นในโรงหนังยังเป็นความเพลิดเพลินแบบที่หาไม่ได้จากที่อื่นด้วย ทั้ง “ถังขนาดใหญ่” และจำนวนที่ “กินเท่าไหร่ก็กินไม่หมด” ก็ทำให้การกินป๊อปคอร์นในโรงหนังพิเศษมากขึ้นไปอีก

ประการที่ 2 “รสชาติ และวิธีปรุง” ป๊อปคอร์นโรงหนังจะเน้นใช้ “น้ำมันเนย” แทนที่จะเป็น “เนย” ธรรมดาๆ เพื่อไม่ให้ออกมาแฉะเกินไป นอกจากนั้นโรงหนังยังขยันหา “สูตร” แปลกๆ ใหม่ๆ มานำเสนออยู่ตลอดเวลา ทั้ง หวานทั้งเค็มทั้งมัน

ประการที่ 3 “ความเคยชิน” ที่สำคัญที่สุดก็คือการกินป๊อปคอร์นกลายเป็นส่วนหนึ่งของ วัฒนธรรมในโรงหนังไปแล้ว เรามี “ความทรงจำ” กับการ “จก” ข้าวโพดขั้วฝังอยู่ในหัว ความทรงจำสมัยเด็ก หรือเดตแรก ล้วนมีโรงหนัง และป๊อปคอร์นเป็นส่วนประกอบสำคัญ จนการดูหนังจอใหญ่ในที่มืด จะขายขนมชนิดนี้ไปไม่ได้แล้ว


ด้วยข้อมูลเหล่านี้ก็คงแสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าทำไม “กฎเหล็ก” การ “ห้ามนำของกินจากที่อื่นเข้าไปโรงภาพยนตร์” เป็นเรื่องคอขาดบาดตายสำหรับธุรกิจโรงหนังมาก เพราะการปล่อยให้ผู้ชมซื้อน้ำ และขนมจากที่อื่นเข้าไปกินกันตามสบายจะกระทบต่อรายได้หลักของหนังโดยตรงนั่นเอง

ส่วนคำแก้ตัวจากฝ่ายโรงหนังนั้นว่ากันว่า จริงๆ แล้วผู้ชมภาพยนตร์ต้อง “ขอบคุณ” ป๊อปคอร์น และน้ำอัดลมด้วยซ้ำไป เพราะการทำโรงหนังมีต้นทุนที่สูงมาก ถ้าไม่ขาดป๊อปคอร์นราคากระฉูด (และอัดโฆษณากันยาวเหยียด) แบบนี้ เจ้าของโรงในสหรัฐฯ ได้ถามกลับว่า “ขึ้นค่าตัวเอาไหม?” 


ที่มา : manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9600000072173