เจาะเบื้องหลังไอที ติดสปีดด้วย RFID

บริษัทไปรษณีย์ไทย กำลังก้าวถึงจุดเปลี่ยนสำคัญของการเป็นผู้ให้บริการครบวงจร ที่เรียกว่า Logispost ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างไปรษณีย์และธุรกิจโลจิสติกส์ อย่างเต็มรูปแบบ เพราะจะทำให้ไปรษณีย์ไทยรับส่งสิ่งของต่างๆ ขนาดใหญ่ และหนักขึ้นได้ถึง 200 กิโลกรัม จากเดิมให้บริการได้ไม่เกิน 20 กิโลกรัม และไม่ได้ไปด้วยมอเตอร์ไซค์เท่านั้น แต่เป็นรถกระบะที่ปรับเป็นตู้ใส่สินค้าจำนวนมากพร้อมบรรทุกทั้งทีวี มอเตอร์ไซค์ ตู้เย็น

การจะก้าวไปสู่ธุรกิจ Logispost จะต้องมีเทคโนโลยีใหม่ที่เตรียมนำมาใช้ที่เรียกว่า Radio-Frequency Identification หรือ RFID ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเทคโนโลยี กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อง ทั้งในธุรกิจโลจิสติกส์ และซัพพลายเชน รวมถึงธุรกิจคอนซูเมอร์โปรดักส์ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาระบบ คาดว่าจะนำมาใช้ให้บริการได้ในกลางปี 2552

“วชิระ โพธิ์เงิน” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ บริษัทไปรษณีย์ไทย บอกว่า ระบบไอทีที่ไปรษณีย์ไทยใช้อยู่ปัจจุบัน คือระบบที่ให้บริการลูกค้าที่เรียกว่า CA POS หรือ Counter Automation Point of Sale ทำให้เจ้าหน้าที่ประจำเคาน์เตอร์ 1 คน สามารถให้บริการได้ทุกอย่าง ตั้งแต่จำหน่ายแสตมป์ ส่งจดหมายลงทะเบียน และรับชำระค่าน้ำค่าไฟ จากเดิมที่พนักงาน 1 คนใน 1 เคาน์เตอร์สามารถให้บริการได้ทีละบริการ ทำให้บริการได้เร็วขึ้นและสะดวกมากขึ้น

ตัวอย่างที่เห็นชัดคือ หากใช้ระบบปกติหรือ Manual สำหรับผู้ใช้บริการที่ต้องการส่งจดหมายหรือพัสดุลงทะเบียน เมื่อส่งซองหรือกล่องให้เจ้าหน้าที่ชั่งน้ำหนักแล้ว เจ้าหน้าที่เคาน์เตอร์จะคำนวณราคา จากนั้นจะฉีกแสตมป์ แล้วให้ผู้ใช้บริการนำน้ำแตะเพื่อติดแสตมป์
แต่ระบบ CA POS จะสามารถสั่งเครื่องให้พิมพ์แสตมป์รูปช้างออกมาตามราคาที่ชั่งตามน้ำหนัก เป็นสติกเกอร์ให้เจ้าหน้าที่ติดได้ทันที หรือหากลูกค้าจะจ่ายค่าบริการน้ำประปา หรือบัตรเครดิต ผ่อนสินค้า ไปจนถึงลงทะเบียนเรียน เจ้าหน้าที่ก็สามารถสแกนบาร์โค้ดที่ใบเรียกเก็บเงินได้ทันที แม้จะมีถึง 8 ประเภทบริการ 195 บริการก็ไม่สับสน

ระบบนี้เป็นไฮเทคโนโลยีเดียวกับที่ไปรษณีย์ของแคนาดาใช้

นอกจากนี้ยังมีระบบธนาณัติออนไลน์ ที่สามารถให้ผู้รับปลายทางขึ้นเงินได้ภายใน 15 นาที หลังจากที่ต้นทางส่งไปให้แล้ว จากเดิมที่ต้องใช้เวลาถึง 5 วัน ธนาณัติออนไลน์ทำให้ยอดผู้ใช้เพิ่มขึ้นถึง 300-400% และระบบธนาณัตินี้ยังไม่หยุดเพียงเท่านี้ เพราะเครือข่ายที่เข้าถึงชุมชนทำให้ธนาคารหลายแห่ง เริ่มเดินเข้าหาไปรษณีย์ไทย เพื่อให้ลูกค้าธนาคารสามารถโอนเงินผ่านตู้เอทีเอ็มถึงปลายทางของที่ทำการไปรษณีย์ สำหรับประชาชนที่ยังคุ้นเคยกับการใช้ธนาณัติอยู่

หรือแม้แต่ระบบนำจ่าย ก็ทำให้ผู้ใช้บริการมีส่วนร่วมกับระบบไฮเทค คือใช้พีดีเอ ให้ผู้รับจดหมายลงทะเบียนเซ็นรับ ระบบซึ่งศูนย์ควบคุมของไปรษณีย์จะรับทราบได้ทันทีว่าเอกสารหรือจดหมายนั้น ๆ ถึงมือผู้รับเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ยิ่งไปกว่านั้นระบบ CA POS ยังสามารถพัฒนามากยิ่งขึ้น ในการทำ Up Sale หรือ Cross Sale เช่นเดียวกับร้านเซเว่นฯ ที่มักเจอลูกค้ามาซื้อของแล้วเสนอให้ซื้อสินค้าอื่นเพิ่มเติม ในบริการไปรษณีย์ก็เช่นกัน หากมีผู้มาใช้บริการส่งธนาณัติ ระบบ CA POS ใหม่จะแจ้งขึ้นหน้าจอกับพนักงานลองเสนอให้ผู้ใช้บริการซื้อแสตมป์ หรือของที่ระลึกอื่นๆ ซึ่งมาจากการทำฐานข้อมูลอย่างเป็นระบบแล้ว
เมื่อไปรษณีย์ไทย Repositioning เป็น Logispost โดยใช้ RFID จะทำให้บริการโลจิสติกส์ได้สมบูรณ์แบบมากขึ้น

ปัจจุบันบริการโลจิสติกส์ที่ให้บริการอยู่จะใช้วิธีการสแกนบาร์โค้ดทีละกล่อง โดยมีระบบ Track and Trace ที่สามารถตรวจสอบได้เพียงว่ากล่องนั้นๆ ออกจากต้นทาง และถึงต้นทางแล้วหรือยัง

RFID จะทำได้มากกว่า และทำให้การขนส่งรวดเร็วมากขึ้น คือ RFID จะมีอุปกรณ์สแกนรหัส ติดอยู่หน้าคลังสินค้า เมื่อกล่องสินค้าที่มี Tag หรือรหัสที่ติดอยู่ของแต่ละกล่อง เข้าออกคลังสินค้า อุปกรณ์นั้นจะอ่านรับรู้ทันทีว่ากล่องได้ออกหรือเข้ามาอยู่ในคลังแล้ว หากใส่ในรถเข็นหลายกล่อง เครื่องอ่านก็สามารถอ่านได้พร้อมกันหมด และแยกแยะได้อย่างสมบูรณ์ ต่างจากระบบบาร์โค้ดเดิมที่ต้องมีเจ้าหน้าที่มาสแกนทีละกล่อง

RFID ยังทำงานร่วมกับระบบ GPS ที่ติดอยู่ประจำรถขนส่งแต่ละคัน โดยกำลังทำวิจัยร่วมกับระบบของแคท ซีดีเอ็มเอ ระบบนี้จะทำให้สามารถติดตามได้ว่ากล่องสินค้านั้นไปกับรถคนใด และรถคันดังกล่าวเดินทางถึงที่ใด หรือมีเหตุจอดที่ไหน ซึ่งจุดนี้อาจไม่ได้มีเป้าหมายให้บริการบอกว่าสินค้าอยู่ระหว่างทางที่ใด แต่เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถกำหนดเวลาในการเข้ามาทำงานเพื่อรอรับกล่องพัสดุได้ เป็นการคำนวณเวลาได้แม่นยำมากยิ่งขึ้น

ขณะนี้ไปรษณีย์ไทยจึงไม่เพียงแค่อยู่เพื่อรอดเท่านั้น แต่ยังพร้อมติดสปีดเพิ่มความเร็ว เพื่อให้ก้าวสู่ตำแหน่งใหม่ในโลกธุรกิจ กับการเป็นผู้ให้บริการโลจิสติกส์รายใหญ่ของประเทศ