“มหากิจศิริ” ปรับพอร์ต เตรียมเงิน 7 พันล้าน ซื้อธุรกิจเครื่องดื่ม-อาหาร-ขนส่ง

“กึ้ง-เฉลิมชัย มหากิจศิริ” ปรับกลยุทธ์ลงทุน “โทรีเซนไทย” ลดความเสี่ยงธุรกิจเดินเรือ เตรียมเงินสด 7 พันล้าน ทุ่มซื้อกิจการ ธุรกิจเครื่องดื่ม-อาหาร-ขนส่ง รวมทั้ง“สตาร์ทอัป” อีก 300 ล้าน

ธุรกิจอาหาร เครื่องดื่ม ขนส่ง กำลังเป็นเป้าหมายหลักของ “กึ้ง -เฉลิมชัย มหากิจศิริ” กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTA หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ได้กระโดดเข้าลงทุนธุรกิจอาหาร ด้วยการซื้อไลเซ่นส์ ร้าน “พิซซ่า ฮัท” ทั้งหมดในไทย มาจาก ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

การซื้อสิทธิ์แฟรนไชส์ในครั้งนั้น บริษัทฯ ได้ลงทุนไปประมาณ 300-500 ล้านบาท และได้วางแผนจะขยายสาขาพิซซ่าฮัทเพิ่มให้ได้อีกอย่างน้อย 100 สาขา ภายในปี 2563 และจะเน้นกระจายสาขาใหม่ไปยังต่างจังหวัดให้มากขึ้น

ล่าสุด ยังได้ประกาศปรับยุทธศาสตร์ ปรับพอร์ตลงทุน โดยลดน้ำหนักธุรกิจเดินเรือ หันมาลงทุนธุรกิจอาหาร เครื่องดื่ม ขนส่ง แทนที่ธุรกิจเดินเรือ

“กึ้ง เฉลิมชัย” กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTA ได้เปิดเผยถึงแผนธุรกิจในครึ่งหลังของปี 2560 ว่า บริษัทคาดการณ์ว่า ผลประกอบการปีนี้จะพลิกกลับมามีกำไรได้ สาเหตุมาจากการที่ค่าระวางเรือได้มีปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดขึ้นมาอยู่ที่ 8,614 เหรียญสหรัฐต่อวัน ทำให้ครึ่งปีแรกบริษัทฯ มีกำไรแล้ว 301.93 ล้านบาท หลังจากที่ก่อนหน้านี้บริษัทฯ ประสบปัญหาขาดทุนต่อเนื่อง 2 ปีติดต่อกัน

แต่ถึงแม้ค่าระวางเรือจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนปีนี้มีอัตราเพิ่มขึ้นเท่าตัว หลังจากที่ตกต่ำอย่างมากในปีที่แล้ว แต่ก็ยังมีปัจจัยเสี่ยงเรื่องความผันผวนของค่าระวางเรือและราคาน้ำมัน และราคาการแข่งขันในตลาดโลก

ด้วยเหตุนี้ บริษัทฯ ได้ปรับกลยุทธ์ ปรับพอร์ตการลงทุนใหม่ ลดสัดส่วนรายได้ธุรกิจหลักที่มาจากการเดินเรือ และการให้บริการวิศวกรรมใต้น้ำลงเหลือเพียง 40% จากเดิม 60% และเพิ่มรายได้ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม จากเดิม 15% เป็น 30% ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมการเกษตรและปุ๋ย อยู่ที่ 20% เท่าเดิม และธุรกิจอื่นๆ อีก 15% โดยจะเห็นผลภายในปี 2563

ขณะนี้บริษัทได้มีการเข้าเจรจาเพื่อลงทุนซื้อกิจการอยู่หลายรายการ โดยจะเน้นหนักไปในธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มเป็นหลัก ตลอดจนถึงธุรกิจโลจิสติกส์ละที่เกี่ยวกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น น้ำประปา โรงไฟฟ้า เป็นต้น แต่ยังไม่สามารถสรุปความชัดเจนได้ โดยจะใช้เงินลงทุนจากเงินสดหมุนเวียนในบริษัทฯ ที่มีอยู่ในมือกว่า 7,600 ล้านบาท

ในการลงทุนธุรกิจ จะใช้หลักนโยบายการลงทุน ในทุกธุรกิจจะต้องมีผลตอบแทน (IRR) เป็นตัวเลขอย่างน้อย 2 หลักขึ้นไป

นอกเหนือจากนี้ ยังกันเงินลงทุน 300 ล้านบาท เพื่อลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัป โดยระหว่างนี้อยู่ในช่วงของการศึกษาว่า เทรนด์อุตสาหกรรมไหนในกลุ่มสตาร์ทอัป ที่จะมีโอกาสเติบโต โดยไม่จำกัดประเภทของธุรกิจที่จะเข้าไปลงทุน

ต้องจับตามองกันต่อว่า ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม รายไหนจะเป็นคิวต่อไปที่ถูกหมายตา เพราะแน่ๆ มหากิจศิริ เป็นอีก 1 ในตระกูลที่พร้อมแล้วสำหรับธุรกิจนี้


ที่มา : manager.co.th/ibizchannel/