จีนเข้าสู่ยุค “ไร้เงินสด”

ไชน่าเดลี / กลุ่มสื่อจีน – เมื่อวิถีชีวิตและทุกสิ่งในจีนกำลังจะปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีดิจิทัล โดยเฉพาะกับคนหนุ่มสาว ซึ่งชอบใช้แอปพลิเคชันโทรศัพท์มือถือ จ่ายเงินแทนเงินสดในการซื้อของต่างๆ ตั้งแต่อาหาร ไปจนถึงตั๋วเครื่องบิน ไม่ต้องสงสัยแล้วว่า ระบบชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ อาทิ วีแช็ทเพย์ (WeChat Pay) และ อาลีเพย์ (Alipay) คือแอปพลิเคชันสำคัญที่สร้างพฤติกรรมใหม่นี้อย่างรวดเร็ว

อาลีเพย์ ยังส่งเสริมการใช้ชีวิตปลอดเงินสดในบางเมืองแล้วด้วย จนเกิดความขัดแย้งบ้าง หลังจากที่มีพ่อค้าแม่ค้ากลุ่มหนึ่ง เริ่มปฏิเสธลูกค้าที่จะชำระเงินสด

ธนาคารประชาชนจีน ซึ่งเป็นธนาคารกลางของประเทศ ได้ก้าวรับปรับตัวเข้าสู่ตลาดใหม่นี้อย่างรวดเร็วเช่นกัน ทั้งในส่วนได้และส่วนเสีย โดยเมื่อพบว่าการปฏิเสธรับเงินสดกำลังจะเกิดมากขึ้น ธนาคารสาขาท้องถิ่นแห่งหนึ่ง ของธนาคารกลางจึงร้องขอไปยัง แอนท์ ไฟแนนเชียล (Ant Financial) ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการระบบชำระเงิน อาลีเพย์ ให้เปลี่ยนข้อความในการส่งเสริมการขาย โดยลบคำว่า “ปลอดเงินสด” (cashless) ออกจากโฆษณาประชาสัมพันธ์ต่างๆ ที่กำลังปลุกกระแสร้อนแรง

การแทรกแซงของธนาคารกลางเช่นนี้ ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียของจีน โดยกล่าวหาว่าหน่วยงานรัฐล้ำเส้นลุอำนาจ ขณะที่ก็มีอีกฝ่ายเห็นควรและสนับสนุนความเคลื่อนไหวของธนาคารกลาง

บทความของคอลัมนิสต์ไชน่าเดลี ซิน จื่อหมิง ให้ความเห็นว่า การประชาสัมพันธ์ทั่วไปของอาลีเพย์ สำหรับการชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ เป็นที่ยอมรับและไม่ควรถูกระงับโดยหน่วยงานกำกับดูแลใดๆ และในความเป็นจริง หากธนาคารกลางไม่เห็นด้วยกับการชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ ระบบการชำระเงินแบบใหม่นี้ คงไม่ประสบความสำเร็จ มีระดับการเติบโตที่แข็งแกร่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมใหม่นี้เกิดขึ้นเร็วและไปถึงขนาดที่พ่อค้าบางราย ปฏิเสธการรับเงินสด อันเสมือนการข้ามเส้นแดงตามกฎหมาย ละเมิดข้อหนดของการบริหารและตรวจสอบเงินหยวน ที่ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า “ห้ามบุคคลหรือกิจการใดปฏิเสธไม่ยอมรับเงินสกุลหยวนในการทำธุรกรรม”

เมื่อเป็นอย่างนี้ แอนท์ไฟแนนเชียล จึงยุติการใช้คำว่า “ปลอดเงินสด” ในการโฆษณาส่งเสริมการขาย และการดำเนินการของธนาคารกลางก็เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายในการตรวจสอบฯ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง การแทรกแซงของธนาคารกลาง ไม่ใช่การละเมิด ล้ำเส้น หรือลุอำนาจอย่างที่กระแสวิจารณ์ในโลกออนไลน์ แถมอ้างไปถึงหลักการตลาดเสรี นอกจากนั้นกิจการชำระเงินมือถือ ก็ไม่ได้ถูกระงับการบริการ หากยังไม่พบการละเมิดกฎหมายใดๆ

การยอมรับเงินสดโดยไม่มีเงื่อนไข ยังเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล ไม่ว่าระบบการชำระเงินโทรศัพท์มือถือจะก้าวหน้าไปเพียงใดในประเทศจีน แต่ในแผ่นดินซึ่งกว้างใหญ่ไพศาล มีพื้นที่การพัฒนาแตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค เสรีภาพในการเลือกของพวกเขาทุกคนควรได้รับความเคารพ และมีกฎหมายรับรอง ดังนั้น การที่ธุรกิจปฏิเสธไม่ยอมรับเงินสดจะทำให้เกิดความลำบาก ก่อความขัดแย้ง และผลกระทบกับประชาชน

ตามข้อมูลของกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศ ในประเทศจีนมีผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือเกือบ 900 ล้านบัญชี แต่หากเปรียบเทียบกับประชาชนทั้งประเทศ มากกว่า 1,300 ล้านคน ยังคงมีคนอีกจำนวนมหาศาลที่ต้องการใช้เงินสด ไม่ใช่ชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ

เมื่อไม่นานมานี้ กลุ่มสื่อจีนรายงาน (30 ก.ค.) ว่า สถาบันการเงินศึกษาฉงหยัง (Chongyang Institute for Financial Studies) ของมหาวิทยาลัยเหรินหมิน ร่วมมือกับ “อิปซอสส์” (Ipsos) บริษัทสำรวจและวิจัยตลาดจากฝรั่งเศส ทำการสำรวจความสบายใจ ในการใช้จ่ายเงินโดยไร้เงินสด จากกลุ่มตัวอย่างในเมืองต่างๆ ทั่วประเทศ จำนวน 324 แห่ง

ผลการสำรวจชี้ว่า ชาวปักกิ่งมีความสบายใจในการจ่ายเงินโดยไร้เงินสดมากที่สุด โดยมากกว่าร้อยละ 70 สามารถใช้ชีวิตได้อย่างสบายๆ โดยมีเงินสดติดตัวเพียงอาทิตย์ละ 100 หยวน หรือราว 500 บาท ในขณะที่อีกร้อยละ 84 ระบุว่า พวกเขาสามารถออกจากบ้านได้โดยไม่ต้องมีเงินสด ขอเพียงแค่พกโทรศัพท์มือถือไปเครื่องเดียวก็พอ

นอกจากนี้ ชาวเมืองเซินเจิ้น ก่วงโจว และเซี่ยงไฮ้ ก็ทำคะแนนไล่ตามหลังมาติดๆ

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา “อาลีบาบา” ยักษ์ใหญ่ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซจีน ได้เผย 10 อันดับภูมิภาคที่ใช้บริการการเงินผ่านอาลีเพย์ (Alipay) มากที่สุด ในปี 2558 โดยพบว่าอันดับหนึ่งได้แก่ นครเซี่ยงไฮ้ โดยมีการใช้จ่ายผ่านระบบอาลีเพย์เฉลี่ยคนละ 148,000 หยวนต่อปี

สำหรับ 10 อันดับเมืองและภูมิภาค ที่มีการใช้จ่ายเงินผ่านระบบอาลีเพย์ เรียงตามลำดับได้แก่ เซี่ยงไฮ้, กรุงปักกิ่ง, มณฑลเจ้อเจียง, มณฑลเจียงซู, มณฑลฝูเจี้ยน, เทียนจิน, มณฑลหูเป่ย, มณฑลไห่หนัน, มณฑลกวางตุ้ง และเขตปกครองตนเองทิเบต

ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ การชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ จะกลายเป็นรูปแบบการชำระเงินหลักในประเทศจีน และบางประเทศอื่นๆ แต่สำหรับตอนนี้ ยังไม่ใช่ระบบการชำระเงินส่วนใหญ่ของคนในประเทศ กิจการต่างๆ สามารถใช้นโยบายพิเศษ เช่น ส่วนลด ฯลฯ เพื่อจูงใจลูกค้า แต่ต้องไม่ปิดช่องทางสำหรับการใช้เงินสดของผู้บริโภค


ที่มา : manager.co.th/China/ViewNews.aspx?NewsID=9600000084864