ลูกหนี้มีเฮ! “ทรูมันนี่” เตรียมปล่อยกู้ผ่าน “เซเว่น” กินเปอร์เซ็นต์ แข่งกับนอกระบบ

หลังแปะมือกับ ANT Financial Services Group กลุ่มธุรกิจในเครืออาลีบาบา เมื่อปีที่แล้ว ระหว่างนี้ “ทรูมันนี่” เตรียมปล่อยของล็อตใหญ่ ด้วยการ up level ตัวเอง จากสถานะภาพ “กระเป๋าเงินออนไลน์” มาเป็น “นายหน้าเงินกู้รายย่อย”

และขยายพอร์ตการให้บริการแบบครบทีมมากขึ้น ทั้งการจองตั๋วเครื่องบิน จองห้องพัก สั่งอาหาร และสั่งซื้อกองทุน เพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่

โมเดลใหม่ดังกล่าว ทรูมันนี่ร่วมกับสถาบันการเงิน โดยบริษัทจะทำหน้าที่เป็นคนกลาง ระหว่างผู้กู้กับธนาคาร สร้างรายได้จากการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม ผ่านเครือข่ายเซเว่น-อีเลฟเว่น 1 หมื่นสาขา และจุดบริการของทรูมันนี่ ที่ทำหน้าที่คอยรับชำระและจ่ายเงิน อีกกว่า 1 พันสาขา

เป้าหมายสำคัญคือ ลดช่องว่างการเข้าถึงแหล่งเงินทุนรายย่อย สำหรับลูกค้าที่ไม่มีบัญชีธนาคาร และดึงฐานเงินกู้นอกระบบ ให้เข้ามาอยู่ในระบบ ภายใต้อัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรม

นายปุณณมาศ วิจิตรกุลวงศา

“ระหว่างนี้เรายังต้องศึกษาในรายละเอียดอีกมาก เพื่อให้รัดกุม และชัดเจนมากที่สุด คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีหน้า โดยอาจจะใช้ชื่อ แอสเซนต์ นาโน” ปุณณมาศ วิจิตรกุลวงศา ประธานคณะผู้บริหารกลุ่ม บริษัท แอสเซนด์ กรุ๊ป จำกัด ผู้บริหารทรูมันนี่ บอกถึงความคืบหน้า

ในยุคที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมไร้เงินสด ทำให้ธุรกรรมออนไลน์ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น โดยปัจจุบันสามารถแบ่งผู้เล่นในตลาดแอปพลิเคชั่นชำระเงินได้ 3 กลุ่มคือ

  1. กลุ่มเทเลคอม ได้แก่ ทรูมันนี่ และเอ็มเปย์
  2. กลุ่มธนาคาร มีแอปพลิเคชั่นที่เป็นโมบายแบงกิ้ง
  3. กลุ่มอีเพย์เมนต์ได้แก่ ไลน์เพย์และอาลีเพย์

ทรูมันนี่พยายามเปลี่ยนจุดยืนจาก “อีวอลเล็ต” ที่เน้นการเติมเงินเข้าแอคเคาต์ เพื่อใช้จ่ายผ่านออนไลน์ โดยส่วนใหญ่จะเป็นการโอนเงิน ชำระบิล และเติมเงินมือถือ มาเป็น “ดิจิทัลฟินไลฟ์” ที่เน้นการใช้จ่ายที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ ทั้งการจองตั๋วเครื่องบิน จองที่พัก หรือซื้อบัตรคอนเสิร์ต

ขณะเดียวกัน การให้บริการเงินกู้รายย่อย ซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนว่า จะเน้นให้กู้เพื่อซื้อสินค้า หรือกู้เป็นเงินสดเพื่อการใช้จ่าย หรือทั้งสองรูปแบบ ถือเป็นอีกไฮไลต์ที่สำคัญของธุรกิจ เพราะถือเป็นตลาดที่ยังมีช่องว่างอีกมาก

ต้องไม่ลืมว่า ทรู มันนี่ แอสเซนด์ กรุ๊ป มี “แอนท์ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป” ในเครือ “อาลีบาบา” มาถือหุ้น 20%  ภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว นอกจากลูกค้าอาลีเพย์สามารถชำระเงินผ่านร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่นได้แล้ว ต่อไปจุดรับชำระของอาลีเพย์จะรับชำระเงินของทรูมันนี่ได้ด้วย ปัจจุบันในจีนมีจุดชำระเงินอาลีเพย์มากกว่า 1.5 ล้านแห่ง ส่วนในไทยมีจุดรับชำระทรูมันนี่กว่า 2 หมื่นแห่ง

นอกจากนี้ ทั้งคู่ได้วางแผนความร่วมมือใช้เทคโนโลยีทางการเงิน ซึ่งแอสเซนด์จะใช้แพลตฟอร์มฟินเทคของอาลีเพย์มาพัฒนาระบบชำระเงินและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และร่วมมือแลกเปลี่ยนความรู้และข้อมูลในการทำธุรกิจระหว่างกัน โดยเฉพาะในเรื่องการตลาดชำระเงินที่แตกต่างกัน

รวมทั้งการต่อยอดขยายไปสู่ธุรกิจการให้ “สินเชื่อ” ที่อยู่ในแผนความร่วมมือมาตั้งแต่ต้น และรวมไปถึงธุรกิจที่เกี่ยวกับการลงทุนและประกัน

ปัจจุบันทรูมันนี่มีผู้ใช้บริการอย่างต่อเนื่องเฉลี่ย 3 ล้านคน และตั้งเป้าขยายฐานให้ได้ครบ 4 ล้านคนในปี 2560 นี้ โดยลูกค้าแต่ละรายมียอดการใช้จ่ายเฉลี่ย 200 บาท/ครั้ง/คน มีความถี่ในการใช้เฉลี่ย 7 ครั้ง/เดือน

การขยายจุดยืนทางธุรกิจของทรูมันนี่ จากการเน้นใช้จ่ายเพื่อสาธารณูปโภค มาเป็นการใช้จ่ายเพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ รวมถีงการเพิ่มอำนาจการซื้อให้กลุ่มคนรากหญ้า จะช่วยเพิ่มกล้ามเนื้อให้ทรูมันนี่ไปอีกชั้น จากเครือข่ายธุรกิจที่มีอยู่…