จริงหรือ ? ชาวมิลเลนเนียล ยังฮิตฟังวิทยุ AM/FM-พ็อดแคสต์ พอๆ กับ “สตรีมมิ่ง ออนดีมานด์”

นีลเส็น  (Nielsen) เปิดตัวเลข Music 360 Report ซึ่งเป็นรีพอร์ตเกี่ยวกับการใช้งานบริการดิจิตอลของกลุ่มมิลเลนเนียล (18 – 34 ปี) ทั้งในแอปพลิเคชันเพื่อการติดต่อสื่อสารและแอปพลิเคชันด้านการสตรีมมิ่งเพลง พบมีการใช้งานตลอดทั้งวัน แถมยังใช้หลายค่าย ไม่ได้จงรักภักดีต่อแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่งเป็นการเฉพาะด้วย

โดย Nielsen พบว่า 60 เปอร์เซนต์ของชาวมิลเลนเนียลมีการใช้งานแอปพลิเคชันสตรีมมิ่งเพลง 2 ยี่ห้อขึ้นไป ซึ่งในกลุ่ม Generation X ที่มีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไปนั้น มีเพียง 39 เปอร์เซ็นต์ที่มีพฤติกรรมในลักษณะเดียวกัน

Nielsen ชี้ว่า นี่คือสัญญาณที่แสดงให้เห็นว่ากลุ่มมิลเลนเนียลเป็นกลุ่มที่สนใจในมีเดียที่จะเสพมากกว่าแบรนด์ จึงทำให้ไม่ยึดติดกับแบรนด์ใดเป็นพิเศษ

การสำรวจนี้ยังมีข้อมูลที่เอื้อประโยชน์ให้กับบริการสตรีมมิ่งเพลงอย่าง Spotify ที่กำลังจะเปิดตัวในประเทศไทยเร็ว ๆ นี้ด้วยว่า 21 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มคนรุ่นใหม่นั้นต้องการเลือกเพลงแบบ On-Demand มากกว่าแค่สตรีมมิ่งเพลงมาฟังเฉย เพราะตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มมิลเลนเนียลได้ลงตัวกว่า รวมถึงยังชี้ด้วยว่า เพราะเหตุนี้ทำให้มีการใช้งาน Spotify เพิ่มสูงในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา และทำให้บริการสตรีมมิ่งเพลงรุ่นพี่อย่างแพนโดรา (Pandora) ต้องปรับตัวสู่บริการแบบ On-Demand บ้างเพื่อตามเทรนด์ตลาดให้ทัน

ขณะที่ผู้บริโภคกลุ่มอายุ 35 ปีขึ้นไปนั้นกลับเป็นกลุ่มที่มีความจงรักภักดีมากกว่า โดยพบว่าคนเหล่านี้อาจเลือกฟังเพลงจากบริการสตรีมมิ่งเพลงแค่แอปพลิเคชันเดียว

กลุ่มมิลเลนเนียลยังทำให้บริการอย่างพ็อดแคสต์ (Podcast) กลับมาได้รับความนิยมใหม่ด้วย โดยพบว่า 37 เปอร์เซ็นต์ฟังพ็อดแคสต์อย่างน้อย 1 ครั้งต่อสัปดาห์ และ 13 เปอร์เซ็นต์ฟังทุกวัน ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงกว่าเจเนอเรชั่นอื่น ๆ เกือบ 3 เท่า

สิ่งที่น่าสนใจที่สุดของงานวิจัยชิ้นนี้อาจเป็นการพบว่า ชาวมิลเลนเนียลยังฟังวิทยุแบบดั้งเดิมอยู่สูงถึง 10 ชั่วโมง 14 นาทีต่อสัปดาห์ (ค่าเฉลี่ย) และ 95 เปอร์เซ็นต์พบว่าเป็นการฟังทั้งวิทยุ AM/FM

แม้อาจฟังดูแปลก ในยุคที่มีสื่อมากมายให้ฟัง แต่ Nielsen อธิบายว่า นี่อาจเป็นหนึ่งในพฤติกรรมของผู้บริโภคกลุ่มนี้ที่ต้องการบริโภคสื่อให้หลากหลาย

การใช้งานแอปพลิเคชันส่งข้อความนั้น พบว่าชาวมิลเลนเนียล 70 เปอร์เซ็นต์ใช้แอปพลิเคชันส่งข้อความมากกว่า 2 ยี่ห้อขึ้นไป ขณะที่ในกลุ่ม Gen X พบว่ามีเพียง 42 เปอร์เซ็นต์ที่ทำเช่นนี้ ซึ่ง Nielsen ชี้ว่าชาวมิลเลนเนียลค่อนข้างเปิดพื้นที่ให้เทคโนโลยีได้เข้ามาในชีวิตมากขึ้นนั่นเอง

ส่วนความแตกต่างของชาวมิลเลนเนียลและกลุ่มที่อายุ 35 ปีขึ้นไปต้องการจากแอปพลิเคชันส่งข้อความก็คือ กลุ่มคนอายุมากต้องการแอปพลิเคชันที่เรียบ ๆ มากกว่า แต่ถ้าเป็นกลุ่มมิลเลนเนียลแล้วอาจต้องการความมีสีสัน

ทั้งนี้ เวลาที่ชาวมิลเลนเนียลใช้ไปกับสมาร์ทโฟนนั้นพบว่า ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2017 อยู่ที่ 1,062 นาทีต่อคน ส่วนกลุ่มที่มีอายุ 35 – 49 ปีนั้นอยู่ที่ 1,196 นาทีต่อคน 


ที่มา : manager.co.th/Cyberbiz/ViewNews.aspx?NewsID=9600000085748