4 ข้อต้องรู้ ก่อนถูก AI แย่งงาน

ใครที่ยังปฏิเสธว่าคงต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะเข้าสู่โลกยุค AI หรือปัญญาประดิษฐ์ครองเมือง อาจต้องพิจารณาบทความนี้กันสักนิด เพราะในระยะนี้พบว่า มีบรรดาผู้นำในโลกเทคโนโลยีออกมาเตือนเกี่ยวกับการไม่เตรียมตัวรับมือยุคของ AI หรือปัญญาประดิษฐ์กันหนาหูมากขึ้นเรื่อย ๆ แล้ว

โดยสิ่งที่น่าเป็นห่วงมากกว่านั้นคือ หลายคนรู้ว่า AI กำลังจะมา และจะเกิดอิมแพกต์กับโลกอย่างมาก แต่ก็ไม่่รู้ว่าจะเตรียมตัวอย่างไรดี วันนี้เราจึงรวบรวมมุมมอง ความคิดความเห็นและคำแนะนำของผู้รู้จากหลาย ๆ วงการมาฝากกัน ว่าเขาเหล่านั้นแนะนำให้เตรียมตัวรับมืออย่างไรได้บ้าง

1. ยอมรับความจริงว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ต้องเกิดขึ้น

คำแนะนำให้ยอมรับความจริงอาจเป็นออกที่ดี เพราะแม้กระทั่ง Klaus Schwab ผู้ก่อตั้ง World Economic Forum ก็ยังเคยกล่าวเอาไว้ว่า บางทีอาจเป็นการดีกว่าหากเราจะยอมรับแต่เนิ่น ๆ ว่ากำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกิดขึ้นกับโลกใบนี้

โดย Klaus Schwab มองว่า ทุกคนในตอนนี้มีชีวิตอยู่ท่ามกลาง “ฝุ่นควันแห่งความเปลี่ยนแปลง” ซึ่งทำให้เรามองสิ่งต่าง ๆ ได้ไม่ชัดเจน ไม่รู้ว่าทิศทางไหนคือสิ่งที่จะต้องเดินต่อไป ไม่รู้ว่าอะไรคือสิ่งสำคัญที่ควรต้องโฟกัสเป็นอันดับแรก

ท่ามกลางฝุ่นแห่งความเปลี่ยนแปลงนี้ สิ่งหนึ่งที่แน่ใจได้ก็คือ เรากำลังอยู่ช่วงคาบเกี่ยวของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ที่มีปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์เข้ามาเกี่ยวข้อง และความพยายามทำให้ปัญญาประดิษฐ์นั้น กลายเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือในการทำงานที่มีประสิทธิภาพ

สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมา จึงอาจเป็นการที่มนุษย์ถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์มากขึ้น การมาถึงของอาชีพใหม่ ๆ ที่ต้องการทักษะพิเศษจึงจะทำงานได้ การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะทำให้คนส่วนหนึ่งไม่มีงานทำ และสามารถนำไปสู่ความขัดแย้งครั้งใหญ่ในสังคมได้เลยทีเดียว

ช่วงเวลานี้จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญที่มนุษย์ต้องยอมที่จะเหนื่อยมากขึ้น เรียนรู้ให้มากขึ้น และเป็นการเรียนรู้ชนิดที่ไม่อาจรับประกันได้ด้วยว่า สิ่งที่เรียนรู้ไปนั้น จะสามารถตอบโจทย์ความต้องการของสังคมในอนาคตหรือไม่ 

2. งานที่ AI จะมาทำแทนยังมีแค่สองประเภท

ข้อดีของ AI คือ AI (ในตอนนี้) ไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อแทนที่งานทุกประเภท โดยงานหลัก ๆ ที่ AI จะเข้ามาแทนที่ในตอนนี้ จากผลการวิจัยของ McKinsey และ OECD พบว่ามีอยู่สองประเภท คือ 1. งานรูทีน เหตุเพราะงานในลักษณะนี้เริ่มได้รับความนิยมน้อยลงมาก ๆ ในหมู่คนรุ่นใหม่ การเข้ามาของ AI จึงเป็นคำตอบที่ลงตัว กับแบบที่สอง คือ งานที่มีความท้าทายสูง หรืองานที่ต้องแก้ไขโจทย์ยาก ๆ ภายในเวลาจำกัด ซึ่งยากเกินความสามารถของมนุษย์ที่จะทำได้ดี และการพัฒนา AI ขึ้นทำงานแทน แม้จะมีต้นทุนสูงแต่ก็คุ้มค่าที่จะลงทุน

ในส่วนนี้ เพื่อไม่ให้ตกงาน หรือต้องทำงานที่ควบคุมโดย AI อาจเป็นการดีกว่า หากเราได้ศึกษาเครื่องมือที่มีความเกี่ยวพันกับ AI เอาไว้บ้าง หรืออย่างน้อยเฉพาะในฟิลด์ที่ทำงานอยู่ ลองไปศึกษาดูว่า จะใช้งานมันได้อย่างไร ควบคุมมันได้อย่างไร และใช้มันเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของเราได้อย่างไร เพื่อให้เมื่อเวลานั้นมาถึงตำแหน่งงานของเราจะยังคงอยู่ในฐานะผู้ควบคุม AI

3. แรงงานระดับกลางยังปลอดภัยไปอีกสักพัก

ในมุมมองของ Stephane Kasriel ซีอีโอ UpWork เผยว่า ทักษะในการทำงานระดับกลางเป็นงานที่ถูกแทนที่่ได้ยากที่สุด เพราะแรงงานในระดับดังกล่าว หากจะพัฒนา AI ให้ขึ้นมาแทนได้ ต้องมีค่าใช้จ่ายในการพัฒนาที่สูงมากกว่า AI ระดับล่าง และมูลค่าของงานเมื่อเทียบกับการพัฒนา AI ขึ้นมาแทนก็ยังไม่สูงเท่า จึงอาจกล่าวได้ว่า งานที่ใช้ทักษะระดับกลางเป็นงานที่ “ปลอดภัย” และไม่ถูกเลิกจ้างในอนาคตอันใกล้

อย่างไรก็ตาม หากวันหนึ่งแรงงานระดับกลางถูกแทนที่ด้วย AI ขึ้นมา ถ้าคนเหล่านั้นไม่มีทักษะการทำงานขั้นสูง พวกเขาก็จะไม่ได้ไปต่อ และอาจต้องเปลี่ยนไปทำงานที่ได้รับค่าแรงต่ำแทน ซึ่งในจุดนี้จะทำให้เกิดปัญหาคนล้นงาน และปัญหาสังคมตามมาได้มากมาย

ขณะเดียวกัน งานที่ต้องการทักษะระดับสูงก็จะขาดแคลนมากขึ้น ทำให้เกิดการจ้างงานคนกลุ่มดังกล่าวด้วยค่าตอบแทนที่สูงลิ่ว นำไปสู่ปัญหาช่องว่างด้านรายได้ที่กว้างมากขึ้น

เพื่อลดปัญหานี้ สังคมต้องให้การศึกษา และให้โอกาสในการทำงานกับกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบจากการมาถึงของระบบออโตเมชันเอาไว้แต่เนิ่น ๆ เพื่อให้พวกเขามีบันไดได้ก้าวต่อไปนั่นเอง 

4. การกระจายตัวของโอกาสไม่ได้เกิดอย่างเท่าเทียม

ในสหรัฐอเมริกามีการศึกษาของสองนักวิจัยอย่าง Daron Acemoglu และ Pascual Restrepo ที่พบว่า ทุก ๆ ครั้งที่มีการเปิดตัวหุ่นยนต์ใหม่ ๆ ขึ้นนั้น คาดการณ์ได้ว่าจะเกิดการลดการจ้างงาน 6.2 ตำแหน่งตามมา

โดยงานที่แรงงานคนนั้น ยังทำได้อาจมีหลงเหลืออยู่ แต่อาจไม่ได้อยู่ในพื้นที่เดียวกันแล้ว ยกตัวอย่างเช่น งานออโตเมชันอาจเข้ามาในภูมิภาคหนึ่งของประเทศจนทำให้เกิดการตกงานจำนวนมาก แต่ในภูมิภาคอื่น อาจยังหางานในลักษณะเดียวกันนี้ทำได้ ซึ่งอาจเกิดการย้ายถิ่นฐานไปเรื่อย ๆ ถ้าอยากทำงานในลักษณะเดิมอยู่

ในจุดนี้ไม่เฉพาะคนที่ถูกหุ่นยนต์แย่งงานที่ต้องได้รับการศึกษาเพิ่ม แต่เด็ก ๆ ที่กำลังเติบโตก็เช่นกัน เราต้องการการศึกษาแบบใหม่ที่สามารถสร้างคนให้รองรับกับงานในอนาคตให้ได้ด้วย

คำเตือนเรื่องการสร้างเทคโนโลยีที่มาพร้อมความรับผิดชอบดูจะเป็นคำเตือนที่ยากที่สุด เพราะหากเป็นเมื่อก่อน การสร้างหุ่นยนต์อาจเป็นแค่งานอดิเรก หรืองานที่ทำตามคำสั่งของมนุษย์ แต่ในตอนนี้ทำแค่นั้นไม่เพียงพออีกต่อไปแล้ว เพราะหุ่นยนต์ในทุกวันนี้เข้ามาอยู่ใกล้ชิดกับมนุษย์มากขึ้น ดังนั้น หุ่นยนต์ก็ต้องถูกป้อนโปรแกรมให้มีจริยธรรม และคนที่จะทำให้เกิดสิ่งนั้นได้ก็คือ ผู้สร้างหุ่นยนต์นั่นเอง


ที่มา : manager.co.th/Cyberbiz/ViewNews.aspx?NewsID=9600000084986