1 พันชั่วโมงสร้าง “ผู้จัดการไปรษณีย์”

เมื่อร้านเซเว่น อีเลฟเว่นที่มีกว่าสี่พันสาขา มีผู้จัดการสาขาที่ถูกฝึกฝนมาจากโรงเรียนปัญญาภิวัฒน์ ไม่ต่างไปจากที่ทำการไปรษณีย์ฯ ซึ่งมีนับพันแห่งก็ต้องมี “ผู้จัดการสาขา” ต้องดูแลสาขาแต่ละแห่งให้ราบรื่นที่สุด แต่กว่าจะได้เป็นผู้จัดการสาขาได้ พวกเขาเหล่านี้ต้องผ่าน “โรงเรียนการไปรษณีย์” ซึ่งเปิดสอนมานานกว่า 120 ปี และปัจจุบันยังเดินสายพานการผลิต “ผู้จัดการสาขา” ออกไปบริหารที่ทำการไปรษณีย์อยู่กว่า 1, 200 สาขาทั่วประเทศไทย สอนอย่างไร และเรียนอย่างไร เป็นประเด็นที่น่าค้นหา เพื่อให้ได้บุคคลากรที่พร้อมแข่งขันในธุรกิจไปรษณีย์ และขนส่ง ร่วมผลักดันบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัดให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น

หนุ่มสาวในวัยเพิ่งเรียนจบตั้งแต่ระดับ ปวช. จนถึงปริญญาตรีนับหมื่นคนนั่งทำข้อสอบกันอย่างคร่ำเคร่งเต็มห้องประชุมของอิมแพ็คเมืองทองธานี เมื่อกลางปี 2551 เพื่อชิงชัยเป็น 1 ในจำนวนเพียง 150 คน เดินเข้าสู่ “โรงเรียนการไปรษณีย์” ก่อนก้าวเป็น “หัวหน้าที่ทำการหรือผู้จัดการสาขาไปรษณีย์” อย่างเต็มตัว

นี่คือปรากฏการณ์ที่คึกคักมากยิ่งขึ้นในการรับนักเรียนใหม่ของโรงเรียนการไปรษณีย์ ซึ่งไม่เพียงจำนวนที่มากขึ้นเท่านั้น แต่ผู้ที่แข่งเข้ามาสอบยังมีดีกรีการศึกษาระดับสูงมากขึ้น

ปริญญาตรีทะลักสนามสอบ

“ไมตรี สังข์สุข” ศิษย์เก่าโรงเรียนไปรษณีย์ ปี 2516 ปัจจุบันในฐานะหัวหน้าฝ่ายพัฒนาบุคลากร บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด และผู้บริหารโรงเรียนการไปรษณีย์ บอกว่า “อัตราการสอบแข่งขันของโรงเรียนเพิ่มสูงขึ้นทุกปี จากหลักพันกลายเป็นหลักหมื่นในไม่กี่ปี ซึ่งปีที่ผ่านมามีผู้สมัครมากถึง 10,300 คน แต่รับได้เพียง 150 คน และจากที่เคยรับนักเรียนที่จบสายสามัญและสายอาชีวะ ปัจจุบันมีนักศึกษาที่กำลังศึกษาระดับปริญญาตรีเข้ามาสมัครสอบมากขึ้น คิดเป็น 80% ของผู้สมัคร”

นอกจากกิจการไปรษณีย์ที่เติบโตมากขึ้นแล้ว “จบแล้วมีงานทำ” เป็นจุดขายที่ทำให้คนเดินเข้ามายังโรงเรียนการไปรษณีย์ เพราะนักเรียน นักศึกษาส่วนหนึ่งจะมองหางานตั้งแต่ตอนเรียนมากขึ้น ทำให้ต้องหาสถาบันที่สามารถรับรองได้ว่าเมื่อเรียนจบแล้วมีงานทำ ซึ่งสถาบันการศึกษาภายนอกไม่รับประกันว่า “เรียนจบแล้วมีงานทำ” แต่ที่โรงเรียนการไปรษณีย์รับประกันได้ว่า “เมื่อเรียนจบแล้วมีงานทำแน่นอน พร้อมบรรจุเป็นพนักงานระดับสอง ของบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด ในอัตราเงินเดือน 7,680 บาท”

ด้วยธุรกิจที่แข่งขันมากขึ้นการพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่องจึงเป็นเรื่องสำคัญ ปัจจุบันจึงให้นักเรียนที่เรียนดี หลังจบการศึกษาจากโรงเรียนการไปรษณีย์แล้ว สามารถเข้าร่วมโครงการทุนเรียนต่อมหาวิทยาลัยของรัฐบาล โดยบริษัทจะออกค่าใช้จ่ายให้ 80% ซึ่งตอนนี้มีนักเรียนทุนแล้ว 10 กว่าคน

เรียน ฝึกงานรวม 1, 097 ชั่วโมง

สำหรับการเรียนการสอนของโรงเรียนการไปรษณีย์ ที่ย่านหลักสี่ จะใช้เวลา 1 ปี ส่วนในเรื่องของที่พักทางโรงเรียนมีหอพักคอยบริการสำหรับนักเรียนที่มาจากต่างจังหวัด หรือนักเรียนที่ต้องการอยู่หอพักของโรงเรียน

การเรียนครอบคลุมตั้งแต่เรื่องความรู้พื้นฐานทั่วไปเกี่ยวกับธุรกิจไปรษณีย์ กฎหมาย การบริหารจัดการ การเงินและการบัญชี คอมพิวเตอร์พื้นฐานวิชาการไปรษณีย์และบริการการเงิน ไปจนถึงวิชาการตลาด บริการหลังการขาย การบริการลูกค้าธุรกิจ

เมื่อได้ศึกษาภาคทฤษฎีในห้องเรียน 797 ชั่วโมงแล้ว ต้องฝึกงานกับที่ทำการไปรษณีย์อีก 300 ชั่วโมง รวมกว่าจะจบได้เป็นผู้จัดการสาขานั้นต้องเรียนรู้นาน 1,097 ชั่วโมงต่อปี

เมื่อจากจบการศึกษาแล้ว ต้องไปประจำอยู่ ณ ที่ทำการไปรษณีย์ที่อยู่ต่างจังหวัดอีกหนึ่งปี หลังจากนั้นสามารถย้ายเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ได้

สู่ยุค Hi-Tech

เวลาผ่านไป บริการต้องเปลี่ยนไป เพราะหากใช้ระบบบริการด้วยสองมือของเจ้าหน้าที่เพียงอย่างเดียวบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด คงไม่สามารถบริการลูกค้าได้ทันความต้องการ เพราะฉะนั้นโรงเรียนการไปรษณีย์เองก็ต้องปรับตัว

การปรับปรุงหลักสูตรได้นำเอาระบบ Hi-Technology มาใช้ จากในอดีตงานบริการของไปรษณีย์ไทยนั้นใช้ระบบ Manual ทั้งหมด การทำงานหน้าเคาน์เตอร์มีเจ้าหน้าที่รับผิดชอบหนึ่งคนต่อหนึ่งบริการ ทำให้บริการไม่ทันความต้องการของผู้ใช้บริการ บางบริการหนักช่วงเช้า บางบริการก็ไม่มีงาน เป็นการใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง จึงนำเอาระบบ Counter Automation มาแก้ไขปัญหา

ปัจจุบันพนักงานหนึ่งคนสามารถทำงานได้ทุกบริการ หรือเรียกได้ว่า One Stop Service เข้าสู่โครงสร้างหลักสูตรการเรียนการสอน ที่เรียกว่า “รายวิชาการปฏิบัติงานรับฝากไปรษณีย์ระบบ Counter Automation Point of Service หรือ CA POS” ตั้งแต่ ปี2540

ส่วนพนักงานมีทั้งหญิงและชายที่อยู่หลังเคาน์เตอร์บริการนั้น หลายคนอาจไม่ได้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนแห่งนี้ เพราะส่วนใหญ่จะสอบคัดเลือกมา และใช้การ Training on the Job โดยมีผู้จัดการสาขาที่จบมาจากโรงเรียนการไปรษณีย์เป็นผู้ฝึกสอนและคอยดูแลแทน

ผู้หญิงก็เป็นได้

ตลอดระยะเวลาที่ศึกษาในแหล่งเพาะบ่มต้นกล้าไปรษณีย์หนึ่งปีเต็ม ก็เพื่อให้เกิดความรู้เข้าใจในระบบธุรกิจไปรษณีย์อย่างครบวงจร โดยหลักสูตรจะถูกปรับเปลี่ยนไปตามความทันสมัยและทันกับการแข่งขันในธุรกิจในยุคปัจจุบัน

เมื่อบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด วางโพสิชั่นขององค์กรให้เป็น “Service provider” ที่มีบริการหลากหลายตั้งแต่ส่งจดหมายเอกสาร จนถึงโลจิสติกส์ ทำให้การคัดเลือกนักเรียนของโรงเรียนการไปรษณีย์ ต้องคำนึงถึงการตอบสนองบริการใหม่ๆ โดยเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา เริ่มรับผู้หญิงประมาณ 50-60 คนต่อปี เพื่อรองรับงานใหม่ ๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการลูกค้า การตลาด และการบริหารจัดการ แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพนักงานเหมือนกับองค์กรเอกชนทั่วไป ซึ่งมีพนักงานเคาน์เตอร์เป็นผู้หญิง

“ในภาวะปัจจุบันของการแข่งขันทางด้านธุรกิจ เป็นที่ยอมรับในศักยภาพของผู้หญิงว่าสามารถเป็นแรงขับเคลื่อนให้องค์กรได้อย่างทัดเทียมกับผู้ชาย” ไมตรีให้เหตุผล

เลือด “ไปรษณีย์” แรง

โรงเรียนไปรษณีย์ไทยมิใช่เป็นเพียงสถาบันที่ผลิต “ผู้จัดการสาขา” อย่างเดียว แต่สถานที่แห่งนี้ยังเป็นที่ปลูกฝังค่านิยม บ่มเพาะกลุ่มคนสายเลือดไปรษณีย์ ทำให้ “ไมตรี” กล่าวว่า นักเรียนไปรษณีย์ไทยทุกคนต้องมีศักยภาพ และคุณสมบัติตรงกับบริษัทไปรษณีย์ไทย ที่มีความซื่อสัตย์ สามัคคี มีวินัย และที่สำคัญคือการสำนึกในการให้บริการ ทำให้เวลาเดินผ่านห้องเรียนหรือบอร์ดในโรงเรียนจะได้เห็นคำพูดเหล่านี้คอยตอกย้ำอยู่ในจิตใจของนักเรียนไปรษณีย์เสมอ สิ่งเหล่านี้คือหัวใจของคนไปรษณีย์ที่ถูกปลูกฝังตลอดระยะเวลาหนึ่งปีเต็ม

“เพราะนักเรียนที่ออกไปต้องทำหน้าที่บริการลูกค้า สิ่งของที่ลูกค้าฝากส่งเป็นสิ่งของที่ต้องรับผิดชอบ ต้องดูแลอย่างดีมีความซื่อสัตย์ และต้องมีวินัยในตัวเองโดยเฉพาะวินัยที่ต้องให้บริการลูกค้า และเน้นในความสามัคคี”

และก่อนจบการศึกษาโรงเรียน จะมีโปรแกรมให้นักเรียนไปเข้าค่ายใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน โดยใช้สถานที่ของในโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า เพื่อสร้างความสามัคคี ปลูกฝังให้นักเรียนมีจิตสำนึกในการให้บริการที่เรียกว่า Service Mind

“สินค้าบริการทุกชิ้นที่คุณรับมาจากลูกค้าคือเงินเดือนและโบนัสของคุณ” ไมตรีย้ำและสอนนักเรียนทุกครั้งที่มีโอกาส พร้อมกับชี้ให้เห็นถึงคุณค่าของการบริการและลูกค้าตลอดเวลา

โรงเรียนการไปรษณีย์ ไม่ใช่มีหน้าที่ผลิตพนักงานให้กับบริษัทไปรษณีย์อย่างเดียว แต่ที่แห่งนี้คือสถานที่บ่มเพาะ ปลูกฝังพนักงานใส่หัวใจรักในงานบริการลงไป มากกว่าจบออกมาแล้วได้ชื่อว่าเป็น “พนักงานไปรษณีย์” เพราะภาพลักษณ์ของบริษัทไปรษณีย์กำลังเปลี่ยนไป และเป้าหมายไกลกว่าที่เคยเป็น

บุรุษไปรษณีย์ Local Network

“บุรุษไปรษณีย์” อาจเข้ามาเป็นได้ไม่ยากนัก เพียงแค่จบการศึกษาระดับชั้น ม.3 มีใบขับขี่ ก็สามารถเข้ามาได้ แต่จะเป็นได้ดีและเข้าถึงใจชาวบ้านผู้ใช้บริการได้เพียงใดนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ท้าทาย เพราะบุรุษไปรษณีย์ไม่เพียงแต่แค่จัดส่งสิ่งของที่มีที่อยู่ชัดเจนเท่านั้น หากบ้านเลขที่เลือน อ่านไม่ชัด มีเพียงนามสกุล จดหมายฉบับนั้น หรือของกล่องนั้นก็สามารถไปถึงมือผู้รับปลายทางได้ ทำให้หลายคนมีความสุขจากข้อความ หรือสิ่งของเหล่านั้นมามากมาย

จากชุดสีน้ำตาลในอดีตของบุรุษไปรษณีย์ เปลี่ยนลุคใหม่ในปัจจุบันอยู่ภายใต้เสื้อคลุมสีดำคาดด้วยแถบสีแดง มีสัญลักษณ์จรวดบินสีขาวติดอยู่บนอกเสื้อข้างขวา ที่ทีมงานการตลาดของบริษัทไปรษณีย์ออกแบบเองทั้งหมด มาพร้อมกับกระเป๋าหนังใบใหญ่สีน้ำตาลเข้ม ที่ติดอยู่กับเบาะหลังรถมอเตอร์ไซค์ นอกจากจดหมายซองเล็กๆ จำนวนมากแล้ว ยังมีเอกสารมากมายและกล่องน้อยใหญ่ที่รอจัดส่งที่ผู้รับ

หากสังเกตในระยะหลัง หลายซอย หลายหมู่บ้านจะเห็นบุรุษไปรษณีย์แวะเข้ามาอย่างน้อยวันละ 2 เที่ยว คือช่วงเช้า และบ่าย นั่นเพราะบริการส่งด่วนที่มีมากขึ้นจนต้องเพิ่มรอบส่ง

“เจริญศักดิ์ ดวงฤทัย” หรือ เอก อายุ 30 ปี พนักงานนำจ่ายประจำศูนย์ไปรษณีย์หลักสี่ ทำหน้าที่นี้มาหลายปี ทุกเช้า 7.30-8.30 น. เขาต้องนำระบบการจัดเรียงบ้านเลขที่บริษัทไปรษณีย์ไทยทำขึ้นมาเป็นคัมภีร์ในการคัดแยกจดหมายเพื่อเตรียมส่ง เพราะบ้านเลขที่ ตรอก ซอกซอย ของเมืองไทยไร้ระบบ บ้านเลขที่ 1 อาจอยู่ต้นซอย บ้านเลขที่ 2 อาจอยู่ท้ายซอย ทำให้ต้องมีคัมภีร์เป็นของตัวเอง เพราะไม่เช่นนั้นบุรุษไปรษณีย์ขับรถวนหัวหมุนกว่าจะส่งได้หมดกระเป๋า

8.30 น. ล้อหมุน เพื่อ “นำจ่ายเช้า” ซึ่งส่วนใหญ่คือพัสดุ EMS เอกสารสำคัญในกรุงเทพฯ เช่น เช็ค และที่เพิ่มเข้าไปอยู่ในกระเป๋าใบใหญ่อีกรายการคือ พัสดุจากแคมเปญ “อร่อยทั่วไทย” เช่น แหนมเนือง ไส้อั่ว ไก่ย่างวิเชียรบุรี ฯลฯ เป็นพัสดุที่ “เจริญศักดิ์” ต้องนำจ่ายให้เสร็จก่อนบ่ายสองโมงตามที่ได้สัญญากับลูกค้าไว้

ส่วนการ “นำจ่ายบ่าย” เป็นจดหมาย และพัสดุลงทะเบียน พัสดุ EMS (ส่งด่วน) ที่ส่งมาจากต่างจังหวัด นอกจากการภารกิจดังกล่าวแล้ว “เจริญศักดิ์” บอกว่ายังมีพนักงานนำจ่ายบางนายที่สมัครร่วมแคมเปญเติมเงินผ่านบุรุษไปรษณีย์ หรือแม้กระทั่งขายประกัน บริการจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ และรับฝากส่งของ ส่วนตัวเขานั้นเพียงแค่ยิ้มและบอกว่า “ยังไม่ได้ร่วมกับแคมเปญเหล่านี้”

ในกระเป๋าของบุรุษไปรษณีย์ในกรุงเทพฯ แต่ละคนจะมีจดหมายจำนวนประมาณ 700-1,000 ฉบับ หากเป็น EMS จะส่ง 300-400 ฉบับ เพราะต้องใช้ความเร็วมากกว่า ในต่างจังหวัดจดหมายธรรมดา มีประมาณ 200-500 ฉบับ EMS ประมาณ 100 ฉบับ เพราะบ้านในต่างจังหวัดจะไกลกันมากกว่ากรุงเทพฯ

นอกจากนี้ หากกระเป๋าหลังมอเตอร์ไซค์ใส่ไม่พอ บางครั้งรถขนส่งของ Logispost จะนำของมาไว้ในตู้แดง หรือตู้ไปรษณีย์ตามจุดต่างๆ แล้วบุรุษไปรษณีย์ก็ไปไขเพื่อส่งถึงปลายทาง

สิ่งที่สร้างจุดต่างให้กับบริษัทไปรษณีย์ไทยอย่างเห็นได้ชัดคือ บุรุษไปรษณีย์ในต่างจังหวัด ที่ใกล้ชิดกับชาวบ้าน เพราะส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดคือคนในพื้นที่ ลูกหลานในหมู่บ้านที่รู้จักทุกคนในพื้นที่เป็นอย่างดี

นี่คือ “จุดแข็ง” ที่เป็นเครือข่ายของไปรษณีย์ไทย ที่นอกจากมีสาขาตั้งอยู่ในพื้นที่ระดับตำบลแล้ว Brand Ambassador ที่ทำหน้าที่นำสาร สิ่งของถึงมือชาวบ้านยังเข้มแข็งกว่าเมื่อเทียบกับเครือข่ายขนส่งพัสดุต่างชาติ

จุดแข็งนี้คือฐานที่มั่นคงที่ไปรษณีย์ไทยพร้อมขยายธุรกิจไปสู่ความเป็นผู้ให้บริการโลจิสติกส์ครบวงจร งานที่มากขึ้นอาจเหนื่อยและหนัก แม้ผลตอบแทนวันนี้จะยังไม่มากนัก แต่ “คนไปรษณีย์” เหล่านี้ก็ภูมิใจว่าเขาคือส่วนหนึ่งที่ช่วยสร้างบริษัทไปรษณีย์ไทย

สร้าง Brand Ambassador ไม่ง้อดารา

จะขนของย้ายบ้าน ส่งตู้เย็น กินไส้อั่ว หรือเติมเงินมือถือ “บุรุษไปรษณีย์” และ “เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ประจำสาขา” สามารถให้บริการคุณได้ “ถึงหน้าบ้าน” และต่อไปพวกเขาจะไม่เป็นเพียงบุรุษนำส่งจดหมายและสิ่งของเท่านั้น แต่เขาจะเป็น Brand Ambassador ของบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด นำส่งความรู้สึกดีต่อองค์กรถึงลูกค้าอีกด้วย

จากจำนวนพนักงานทั้งหมดของบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด ที่มีอยู่ 20,910 คน กว่า 80% คือพนักงานที่เป็นเป็นผู้ให้บริการตรงถึงผู้ใช้บริการในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ และผู้จัดการสาขา และ “พนักงานนำจ่าย” หรือ “บุรุษไปรษณีย์” กลุ่มนี้เป็น “หัวใจ” ของธุรกิจ และเหมาะที่จะนำส่ง “Brand” ถึงลูกค้ามากที่สุด

ทุกคนจึงสำคัญนับตั้งแต่วันแรกที่เดินเข้ามาสมัครงาน โดยเฉพาะผู้จัดการสาขาซึ่งเป็นผู้จัดระบบการทำงานทั้งหมด ซึ่งตำแหน่งนี้จะต้องผ่านการคัดเลือก สอบเพื่อเข้าเรียนในโรงเรียนการไปรษณีย์ โดยมีพนักงานในสาขาเป็นผู้ช่วย และที่สำคัญอีกส่วนคือบุรุษไปรษณีย์ ที่เสมือน Local Network ที่เข้มแข็ง ทำให้ไปรษณีย์ไทยต่อยอดธุรกิจได้ไม่รู้จบ