เมื่อ “โมไบค์” ต้องเลือก “ไทย” อยู่บนเส้นทาง

ยุคปัจจุบันธุรกิจประเภทแชริ่งได้รับความนิยมสูงขึ้นเรื่อยๆ และไม่ได้จำกัดแค่การเดินทางโดยรถยนต์อีกต่อไปแล้ว หนึ่งในนั้นก็คือไบค์แชร์หรือธุรกิจการแชร์จักรยาน กำลังเป็นที่พูดถึงอย่างมากในวงการ สตาร์ทอัพที่กำลังเข้ามาเปลี่ยนวิถีการเดินทางในสังคม

“ไบค์แชร์” กำลังได้รับความนิยมในประเทศจีน มีผู้เล่น 2 รายใหญ่อย่าง “โมไบค์” และ “โอโฟ” ต่างฟาดฟันงัดหมัดเด็ดเพื่อดึงดูดผู้ใช้ มีการติดภาพมินมี่เมาส์ และมินเนี่ยนเพื่อเอาใจลูกค้า และมีการขยายตลาดต่างประเทศเพื่อสร้างการเติบโต

โมเดลธุรกิจของไบค์แชร์จะเป็นจักรยานอัจฉริยะบนระบบ Internet of Things (IoT) ด้วยการใช้จักรยานที่ได้รับการออกแบบพิเศษติดตั้งระบบ GPS ที่ทำการค้นหาจักรยานที่ใกล้ที่สุด การจองและปลดล็อกนำไปใช้งานได้ ทุกขั้นตอนทำผ่านสมาร์ทโฟน เข้าใช้งานด้วยแอปพลิเคชั่นและคิวอาร์โค้ด มีการคิดราคาค่าบริการเป็นระยะเวลา ชำระเงินผ่านอีเพย์เมนต์

โมไบค์ได้เริ่มเปิดตัวเมื่อปี 2559 ทำตลาดมาแล้ว 160 เมือง ใน 5 ประเทศ ได้แก่ จีน สิงคโปร์ ญี่ปุ่น อิตาลี และสหราชอาณาจักร ล่าสุดโมไบค์ได้เข้ามาทำตลาดในไทยอย่างเป็นทางการแล้ว ถือเป็นการทำตลาดประเทศที่ 7 เป็นช่วงเวลาเดียวกับประเทศมาเลเซียด้วย แต่มีการเปิดให้บริการก่อน

การเข้ามาทำตลาดในประเทศไทย โดยใช้โมเดลจับมือกับพันธมิตร 3 ราย คือ 1.AIS เข้ามาช่วยในเรื่องเครือข่าย เพราะต้องใช้เครือข่ายที่สนับสนุน IoT รวมไปถึงการใช้ mPay เป็นเพย์เมนต์เกตเวย์ที่ใช้ในการชำระเงินด้วย 2.มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นำจักรยานเข้าไปใช้ในมหาวิทยาลัย โดยที่เกษตรมีภาพลักษณ์เป็นมหาวิทยาลัยจักรยานอยู่แล้ว จึงส่งเสริมมากขึ้น และ 3.เซ็นทรัลพัฒนา อาศัยช้อปปิ้งเซ็นเตอร์ในเครือของเซ็นทรัล เป็นจุดจอดจักรยานในการใช้งาน

โมไบค์ใช้จุดเด่นที่เป็นธุรกิจแบบ IoT ใช้เวลาพัฒนาจักรยานอยู่ปีครึ่งเพื่อให้เป็นจักรยานที่มีนวัตกรรมใหม่ เช่น จักรยานไร้โซ่ ยางไร้ลมไม่มีวันแบน ใช้วัสดุจากอะลูมิเนียม ล้อแบบห้าแฉกแบบรถยนต์ ทำให้ลดต้นทุนในการบำรุงรักษา โดยที่จักรยานแต่ละคันมีเป้าหมายของการใช้งานอยู่ที่ 4 ปีโดยไม่ต้องซ่อมแซม

โจ เซี่ย ผู้ร่วมก่อตั้ง และผู้บริหารฝ่ายเทคโนโลยี โมไบค์

โจ เซี่ย ผู้ร่วมก่อตั้ง และผู้บริหารฝ่ายเทคโนโลยี โมไบค์ ได้บินตรงจากประเทศจีนมางานเปิดตัวในประเทศไทยด้วยตนเอง พร้อมกับเล่าให้ฟังว่า “โมไบค์เป็นแพลตฟอร์มที่จะเข้ามาแก้ปัญหาเรื่องการเดินทางในเมืองได้ เหมาะกับประเทศไทยที่มีการจราจรติดขัด แต่ยังอยู่ในช่วงทำการศึกษาตลาด ได้เริ่มจากในพื้นที่แคบๆ อย่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเซ็นทรัลเวิลด์ก่อน เส้นทางถนนทั่วไปยังยอมรับว่าในกรุงเทพฯ ยังไม่รองรับพวกเลนจักรยาน แต่พบว่าในหลายๆ ประเทศที่เข้าไปทำตลาดแล้วได้รับการตอบรับดี ทางรัฐบาลก็ทำการสนับสนุนสร้างเลนจักรยานให้ มองว่าในประเทศไทยก็จะสามารถทำได้ในอนาคตถ้าผู้บริโภคตอบรับดี”

จริงๆ แล้วในกรุงเทพฯ เคยมีโครงการเช่าจักรยานอย่าง “ปันปั่น” จะมีจุดให้บริการส่วนใหญ่อยู่ในเมืองอย่างสยาม สามย่าน สีลม แต่ด้วยจำนวนจักรยานน้อย และระบบที่ยุ่งยากทำให้โครงการนี้จึงยังไม่ได้รับความนิยมเท่าไหร่ ต้องดูว่าหลังจากโมไบค์เข้ามาทำตลาดจะได้รับผลตอบรับอย่างไรบ้าง

เบื้องต้นโมไบค์จะเริ่มให้บริการที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน ในช่วงเดือนตุลาคม จำนวน 360 คัน หลังจากนั้นช่วงเดือนพฤศจิกายนจะขยายมาที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ จำนวน 20 คัน ส่วนพื้นที่อื่นๆ ยังอยู่ในช่วงศึกษาตลาดอยู่

อัตราค่าบริการอยู่ที่ 10 บาท/30 นาที มีค่ามัดจำที่ 99 บาท ชำระเงินผ่านอีเพย์เมนต์ เมื่อตอนลงทะเบียนจะต้องผูกบัญชีธนาคาร หรือบัตรเครดิตเพื่อทำการชำระเงิน แต่ในช่วง 2 เดือนแรกจะให้ใช้บริการฟรีเพื่อเป็นการทดลองใช้

ปัจจุบันโมไบค์มีผู้ลงทะเบียนใช้งานกว่า 100 ล้านคน มีผู้ใช้งานกว่า 25 ล้านครั้ง/วัน มีจักรยาน 7 ล้านคัน แต่ละวันมีข้อมูลกว่า 20 TB ที่เกิดขึ้นบนแพลตฟอร์มโมไบค์ ตอนนี้โมไบค์มีกำลังการผลิตจักรยานมากกว่า 10 ล้านคัน/ปี

โมไบค์มีนักลงทุนรายใหญ่ ได้แก่ เทนเซ็นต์ ฟ็อกซ์คอนน์ เบอร์เทลส์แมนน์ เทมาเส็ก วอร์เบอร์ก พินคัส ซีคัวญา แคปิตอล และอื่นๆ ล่าสุดเพิ่งระดมทุนได้ 600 ล้านเหรียญสหรัฐ ตั้งเป้าขยายตลาดเพิ่มเป็น 200 เมืองในสิ้นปีนี้