ถอดตำราฟาสต์ฟูด ‘สิงห์ เอสเตท’ ไม่แข่งหวือหวา มองหาจุดได้เปรียบ

ตลอดระยะเวลาปีมานี้สิงห์ เอสเตทใช้วิธีแจ้งเกิดในวงการอสังหาริมทรัพย์ด้วยการเข้าซื้อกิจการ จากจุดเริ่มต้นที่เข้าเทกโอเวอร์ บมจ. รสาพร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์มูลค่ากว่า 8 พันล้านบาท ทำให้สิงห์ เอสเตท ได้กรีนการ์ดผ่านเข้าตลาดหลักทรัพย์โดยปริยาย

สิงห์ เอสเตท กระโจนครั้งเดียว ก็มีจุดยืนที่ชัดเจนในวงการอสังหาริมทรัพย์ โดยตลอดระยะเวลา 2-3 ปีมานี้ บริษัทใช้วิธีถ้าไม่ซื้อธุรกิจก็จับมาเป็นมิตรทำธุรกิจร่วมกัน ช่วยกันทำ ช่วยกันโต แบบเดียวกับโครงสร้างธุรกิจเบียร์สิงห์กับเอเย่นต์ที่ยืนยาวข้ามกาล

ด้วยการเข้าไปซื้อหุ้นบริษัท ไดอิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์รั้วสำเร็จรูป อิฐบล็อก และประตูหน้าต่างจากญี่ปุ่น ในปี 2559 ในสัดส่วน 55.63% และทำการแลกหุ้นกับบริษัท เนอวานา ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด บริษัทพัฒนาบ้านหรูในเครือของสิงห์ หวังผนึกกำลังทั้งเครือ

การเน้นกลยุทธ์ควบรวมมาจากการประเมินว่าคงไม่คุ้มถ้าจะลงทุนเองเพราะแต่ละโครงการต้องใช้เวลา 2 ปีกว่าจะเสร็จสมบูรณ์ การซื้อกิจการหรือหาพันธมิตร ทำให้ธุรกิจเติบโตเร็วขึ้น ไม่ต้องเสี่ยงกับการลงทุน

โดยแนวทางหลักของสิงห์เอสเตทจะเน้นการพัฒนาและการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ทุกรูปแบบ แต่ขีดวงเฉพาะไว้ที่ตลาดระดับบนเพราะไม่มีความเสี่ยงเวลาเศรษฐกิจชะลอตัว

นริศ เชยกลิ่น ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) บอกถึงแนวทางบริหารธุรกิจว่า บริษัทจะไม่เข้าไปแข่งขันในทำเลที่โอเวอร์ซัพพลาย เพราะทำธุรกิจยาก และจะเลือกเฉพาะทำเลที่เป็นจุดได้เปรียบในการแข่งขันเท่านั้น

ไม่ว่าจะเหนือ กลาง อีสาน ใต้ หรือไกลอย่างเกาะมัลดีฟส์ลากยาวไปถึงเกาะอังกฤษ ถ้าสร้าง value ได้ สิงห์ เอสเตทก็พร้อมไป

โดยหลักการพิจารณาทำเล จะไม่เลือกพื้นที่ใจกลางเมืองที่การจราจรหนาแน่น หรือเป็นทำเลทองที่ต้องแข่งขันรุนแรง อย่างเช่น สีลม หรือสุขุมวิท แต่จะเลือกพื้นที่ที่อยู่ห่างออกมา เช่น การซื้อตึกซันทาวเวอร์ ที่อยู่ทำเลปากทางลาดพร้าว มีรถไฟใต้ดินอยู่ใกล้ๆ และนำมาปรับปรุงพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่า โดยขยายพื้นที่ศูนย์อาหารให้มีขนาดใหญ่กว่าศูนย์อาหารในห้างสรรพสินค้า รองรับคนทำงานที่อยู่ในอาคารสำนักงานใกล้เคียง 5-6 อาคารบริเวณโดยรอบ

ขณะที่ทำเลต่างจังหวัดก็จะพิจารณาทำเลที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวจริงๆ อย่างเช่น เกาะสมุย เกาะพีพี หรือเกาะมัลดีฟส์ ที่อยู่ระหว่างการพัฒนา

โครงการที่เลือกไปจึงล้วนแล้วแต่เป็นตลาดหรูติดดาว เห็นได้จากโครงการสันติบุรี เรสซิเดนซ์ บนถนนประดิษฐ์มนูธรรม ขนาดเนื้อที่ 45 ไร่ มูลค่าโครงการ 5,000 ล้านบาท บ้านเดี่ยวหรู 6 ดาว ราคาขาย 200 ล้านบาทต่อยูนิต มีแค่ 24 ยูนิต

ผู้บริหารเล่าว่า มีลูกค้าสนใจซื้อตั้งแต่ยังไม่เปิดตัวโครงการ สะท้อนให้เห็นถึงการอ่านเกมขาดของสิงห์เอสเตทที่มองว่า ถึงแม้ภาพรวมอสังหาริมทรัพย์ในปี 2560 จะตึงตัว แต่ถ้าเลี่ยงจากการแข่งขัน แล้วเลือกทำเลที่เป็นต่อได้ ดีมานต์ของตลาดก็พร้อมตอบรับเสมอ

เข้าสู่ปีที่ 3 ของการทำธุรกิจ ปีนี้ผู้บริหารเริ่มจะยิ้มออกได้ เพราะหลายโครงการที่ตอกเสาเข็มไปหลายปีก่อนหน้า เริ่มทยอยหมุนกลับมาเป็นรายได้ปันผลกำไร

โดยผลประกอบการของ สิงห์ เอสเตท ในครึ่งปีแรก มีรายได้จากการขายและการให้บริการ 2,230 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 81% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2559 ซึ่งมีรายได้ 1,229 ล้านบาท และมีกำไร 465 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 76% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งมีกำไรอยู่ที่ 263 ล้านบาท

เป้าหมายทางธุรกิจของบริษัทภายในระยะเวลา 4 ปีจากนี้ (..2560-2563) บริษัทจะขยายการลงทุนในธุรกิจต่างๆ ได้แก่ ธุรกิจที่พักอาศัย ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจคอมเมอร์เชียล (ธุรกิจค้าปลีกและอาคารสำนักงาน) และธุรกิจใหม่ๆ ที่สร้างโอกาสในอนาคต คิดเป็นมูลค่าการลงทุนทั้งหมด 5.5 หมื่นล้านบาท พร้อมกับตั้งเป้าหมายสร้างรายได้ 2 หมื่นล้านบาท ภายในปี 2563

โดยในปีแรก 2560 

จะเน้นการพัฒนาธุรกิจต่างๆ ในพอร์ตโฟลิโอ ได้แก่ โครงการที่พักอาศัยระดับลักชัวรี ที่พัฒนาโดย สิงห์ เอสเตท 2 โครงการ คือ ดิเอสแอท สุขุมวิท 36 และสันติบุรี เดอะเรสซิเดนเซส และโครงการที่พัฒนาโดย บริษัท เนอวานา ไดอิ จำกัด 2 โครงการ ได้แก่ โครงการคอนโดมิเนียมซูเปอร์ลักชัวรีริมแม่น้ำเจ้าพระยา บันยันทรี เรสซิเดนเซส ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพฯ และโครงการทาวน์โฮม เนอวานา ดีฟายน์ กรุงเทพกรีฑา

ปีที่สอง 2561

เริ่มเก็บเกี่ยวรายได้จากที่ลงทุนไป จากการเปิดตัวโครงการ สิงห์ คอมเพล็กซ์

ปีที่สาม 2562

จะเป็นปีแรกที่บริษัทจะสามารถสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ จากทุกโครงการที่ทยอยเปิดตัวในปี 2560

ปีที่สี่ 2563

สร้างรากฐานที่แข็งแกร่งจากการเป็นนักลงทุนและนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เต็มตัว (Property Development and Investment Holding Company) เน้นการพัฒนาธุรกิจให้มีความแข็งแกร่งเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกัน บริษัทจะสร้างรายได้ให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง จากการขยายการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการที่เกาะมัลดีฟส์ ซึ่งเป็นเมกะโปรเจกต์มูลค่า 1.1 หมื่นล้านบาท

เราเน้นการพัฒนาธุรกิจแบบบูรณาการ เน้นผนึกกำลัง โดยแผนการลงทุนของสิงห์ เอสเตท จะสอดคล้องกับภาพรวมตลาด และเทรนด์ของธุรกิจปัจจุบัน การลงทุนของบริษัทจะมีหลายรูปแบบ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาด และกระจายความเสี่ยงในพอร์ตลงทุนนริศกล่าว

ตำราฟาสต์ฟูดธุรกิจฉบับ สิงห์ เอสเตท จะเน้นพอร์ตโฟลิโอที่อยู่ในจุดสมดุล ไม่มีการสุ่มเสี่ยง และจัดวางบนฐานที่มั่น มีข้อได้เปรียบจากการแข่งขันเท่านั้น