ภารกิจ ‘สเตเดี้ยม วัน’ พลิกโฉมโลกเก่าสู่โลกใหม่

การก้าวเข้ามาของคอมมูนิตี้มอลล์ “สเตเดี้ยม วัน” บนแนวถนนบรรทัดทองจนถึงถนนจุฬาฯ ซอย 12 เป็นการสานต่อโครงการ “ซียู สปอร์ต โซน” ของสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ริเริ่มเอาไว้ หลังบริษัท เดอะสปอร์ต โซไซตี้ จำกัด ผู้บริหาร สเตเดี้ยม วัน เข้ามารับช่วงต่อ ก็ควักเงินลงทุน 300 ล้าน พัฒนาพื้นที่ 10 ไร่ ภายใต้แนวคิด ศูนย์รวมค้าปลีก กีฬาและไลฟ์สไตล์ของคนรักการออกกำลังกายครบวงจร “สเตเดี้ยม ออฟไลฟ์” มีกำหนดเปิดปลายปี 2560 นี้

ภายในโครงการประกอบด้วยร้านค้าปลีก 129 ร้าน พื้นที่ค้าปลีก 5,000 ตารางเมตร แบ่งพื้นที่เป็น 2 ส่วนหลัก คือ 1) ส่วนของร้านค้าปลีก (Sport Retail) 2) ส่วนของศูนย์บริการการออกกำลังกาย (Active Box) และการจัดกิจกรรม (Active Lifestyle) โดยแบ่งออกเป็น 6 โซน ได้แก่ 1. โซนค้าปลีก 2. โซนวิ่งและปั่นจักรยาน 3. โซนร้านสินค้าเกี่ยวกับกีฬาทุกประเภท 4. โซนอาหารและเครื่องดื่ม 5. โซนเพื่อสุขภาพ และ 6. โซนเกี่ยวกับครอบครัว

สเตเดี้ยม วันพยายามดึงเครือข่ายแม่เหล็ก อย่าง วอริกซ์ (Warrix) ผู้จำหน่ายเสื้อผ้าและอุปกรณ์กีฬา ที่จะมาเปิดพื้นที่ Flag Ship Store แห่งใหม่ หรือช้างศึก Official Store ขนาดพื้นที่ราว 1,500 ตร.ม. รวม 9 ห้องคูหา ประกอบด้วยอาคาร 3 ชั้น โดยชั้น 1-2 เป็นสโตร์สินค้า ส่วนชั้น 3 จัดสรรเป็น Stock Hub รวมถึงแบรนด์ Mizuno ผู้จำหน่ายรองเท้าและเสื้อผ้ากีฬา สัญชาติญี่ปุ่น ที่มีแผนจะเปิด Flag Ship Store เช่นกัน

นอกจากนี้ศูนย์ฯ ยังได้ เอสซีจี เอ็กซ์เพรส ธุรกิจบริการส่งพัสดุย่อยแบบเร่งด่วน จะมาเปิดบริการพัสดุภัณฑ์สินค้าเสื้อผ้า อุปกรณ์กีฬา และอื่นๆ รวมถึงรองรับตลาดซื้อขายออนไลน์ที่ขยายตัวสูงขึ้นทุกปี โดยในอนาคตเอสซีจี เอ็กซ์เพรส จะเปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง

สิทธิชัย ศรีสงวนกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เดอะสปอร์ต โซไซตี้ จำกัด กล่าวว่า หลังจากเปิดให้บริการแล้ว ในช่วงแรกจะมีลูกค้าเข้ามาเดินวันละ 2,000 – 4,000 คน และในช่วงวันหยุด 10,000 คนต่อวันมีลูกค้าสลับหมุนเวียนกันมาทั้งแฟนพันธุ์แท้สายกีฬา และกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่รักสุขภาพ

“ปีแรกคาดว่าจะมีรายได้ประมาณ 100 ล้านบาท โดย 90% จะมาจากค่าเช่าพื้นที่ร้านค้าย่อย และ 10% มาจากค่าโฆษณาและค่าเช่าพื้นที่จัดกิจกรรม อัตราค่าเช่าแบ่งเป็น 2 ส่วน พื้นที่ในโซนอาคารเดิม 40,000-60,000 บาทต่อเดือน ส่วนพื้นที่ในอาคารใหม่ 1,000 บาทต่อตารางเมตร” ผู้บริหารกล่าว

ในภาพรวมของตลาดดูแลสุขภาพ 1.6 แสนล้านบาทเติบโตปีละ 8% แบ่งเป็นตลาดอุปกรณ์กีฬา 3.7-3.8 หมื่นล้านบาท มีอัตราเติบโตปีละ 10%

สเตเดี้ยม วัน เข้ามาพัฒนาพื้นที่ค้าปลีกดั้งเดิม ที่เป็นแหล่งรวมสินค้าและอุปกรณ์กีฬารายย่อย ถือเป็นตำนานย่านธุรกิจเก่าแก่ที่ยาวนานกว่า 20 ปี แบรนด์ดังอย่างแกรนด์สปอร์ตก็เคยแจ้งเกิดในย่านนี้ จนปัจจุบันแกรนด์สปอร์ตกลายเป็นตราสินค้าที่รู้จักกันทั่วโลก ในยุคหลังๆ ตลาดหลังสนามศุภชลาลัย มีร้านค้าปลีกเกิดใหม่มากขึ้นเช่น สปอร์ต รูม, ซอคเกอร์ สตูดิโอ, ไทเกอร์ สปอร์ต เจแปน รวมถึงอดีตนักร้องสาวเอเอฟ “ซีแนม สุนทร” ก็เข้ามาเปิดร้านขายเสื้อบอล “fabric z club 89” ที่จุฬาฯ ซอย 4

การเปิดตัว สเตเดี้ยม วัน นอกจากสร้างมูลค่าเพิ่มให้พื้นที่เศรษฐกิจโดยรอบสนามกีฬาแห่งชาติ ศุภชลาศัย ได้งอกเงยอย่างเป็นล่ำเป็นสันแล้ว ยังเป็นการพัฒนาพื้นที่ค้าปลีกเก่าแก่ย่านนี้ ที่เคยทรุดโทรม แต่มีความพร้อมในเรื่องของทำเล เพราะเป็นสถานีปลายทางบีทีเอสสายสีลม จุดเชื่อมต่อพื้นที่ค้าปลีกใจกลางเมืองย่านปทุมวัน

อนาคตจากนี้ไปของสเตเดี้ยม วัน มีแค่ทางเลือกเดียว คือต้องทำให้ศูนย์ฯ แห่งนี้ติดตลาดให้ได้ เพื่อล้มล้างข้อจำกัดเดิมๆ และกลายเป็นจุดหมายปลายทางค้าปลีกเฉพาะทาง เป็นแม่เหล็กที่สามารถดึงดูดกำลังซื้อจากนักท่องเที่ยวทั่วโลก