โฮเรก้า สแควร์ VS แม็คโคร บนสมรภูมิค้าส่งของสองเจ้าสัว “เจริญ-ธนินท์”

“โฮเรก้า สแควร์” เป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของกลุ่มบริษัท ทีซีซี แอสเซ็ทส์ ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของ “ปณต สิริวัฒนภักดี” ลูกชายคนเล็กของเจ้าสัวเจริญ

จัดเป็นศูนย์ค้าส่งสินค้าและบริการที่เข้ามาสนับสนุนพอร์ตธุรกิจค้าปลีกและค้าส่งของตระกูลสิริวัฒนภักดีให้แข็งแรงขึ้น นอกจากจะรองรับตลาดโรงแรม 2 – 4 ดาว (HO-tel) ร้านอาหาร (RE-staurant) ร้านกาแฟ (CA-fe) และธุรกิจจัดเลี้ยงแล้ว ยังคอยสนับสนุนการจัดหาอุปกรณ์ต่างๆ ให้ธุรกิจในเครืออีกด้วย

ปณต สิริวัฒนภักดี โฮเรก้า สแควร์

บริษัท ทีซีซี แอสเซ็ทส์ (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท เอเชีย โฮเรก้า จำกัด ได้เปิดตัว โฮเรก้า สแควร์ แอท ซีดับเบิลยู ทาวเวอร์ ริมถนนรัชดาภิเษก อย่างเป็นทางการ ใช้งบลงทุน 350 ล้านบาท เฉพาะพื้นที่ชั้น 3 – ชั้น 5 ซึ่งเป็นที่ตั้งของศูนย์ค้าส่ง ใช้งบประมาณ 200 ล้านบาท ขนาดพื้นที่ 1.2 หมื่นตารางเมตร

ศูนย์ค้าส่งเฉพาะทางแห่งนี้ มีพื้นที่เช่าสำหรับร้านค้าทั้งในและต่างประเทศ จำนวน 14 หมวดหมู่หลัก ที่เกี่ยวข้องกับ 1. Bedding & Furniture 2. Porcelain & Glasswear 3. Coffee & Bakery 4. Electonic & Appliance 5. Cooking School 6. Amenity 7. Lighting 8. Hotel Supply 9. Utensil 10. Packaging 11. Software & POS 12. Consultant 13. Kitchen Equipment และ 14. Uniform

ที่ผ่านมาโฮเรก้าเป็นธุรกิจที่มีมูลค่ามหาศาล จากการขยายตัวของธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร ที่เป็นผลพวงจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยปี 2559 มีรายได้จากการท่องเที่ยว 2.51 ล้านล้านบาท ธุรกิจโรงแรมและที่พัก นำมาเป็นอันดับ 1 ประมาณ 5.8 แสนล้านบาท ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ประมาณ 4.48 แสนล้านบาท รวมกันแล้วเกือบครึ่งหนึ่งของรายได้จากการท่องเที่ยว

เคยมีการคาดการณ์ว่าธุรกิจโฮเรก้าในไทยมีมูลค่าราว 1.1 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นธุรกิจโรงแรม 5.27 แสนล้านบาท ธุรกิจร้านอาหาร 3.85 แสนล้านบาท ธุรกิจกาแฟ เบเกอรี ไอศกรีม และบริการจัดเลี้ยง 6.2 หมื่นล้านบาท มีอัตราการเติบโต 10-20%

พงษ์ศักดิ์ นันตวรรณกุล กรรมการบริหาร บริษัท เอเชีย โฮเรก้า จำกัด กล่าวจุดยืนของโฮเรก้า สแควร์ ว่าจะ เน้นค้าส่งในแวดวงธุรกิจกับธุรกิจด้วยกัน เราขายของล็อตใหญ่เท่านั้น ไม่ได้ขายแยกชิ้น

แต่ต้องยอมรับว่าโฮเรก้า สแควร์ เข้ามาปักธงธุรกิจค้าส่งในเซกเมนต์เดียวกับห้างแม็คโคร โดยโฮเรก้าฯ จะวางตำแหน่งทางการตลาดเป็นศูนย์ค้าส่งเฉพาะทาง (niche market) เน้นจำหน่ายของชิ้นใหญ่ อย่าง เตียงและเฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์ตกแต่งร้าน วัสดุสิ้นเปลือง ครอบคลุมงานที่ปรึกษาและการวางระบบ

ขณะที่ตำแหน่งทางการตลาดของแม็คโคร จะกินแนวรอบด้าน (mass market) ทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค อุปกรณ์ตกแต่งร้าน และอาหารสด

ภารกิจหลักของโฮเรก้า สแควร์ คือการดึงดูดผู้ประกอบการต่างชาติมาเจรจาการค้า ขณะเดียวกันก็ให้โฮเรก้า สแควร์เป็นเวทีกลาง นำสินค้าและบริการจากผู้ประกอบการไทยสู่เวทีโลก ผลักดันให้กรุงเทพฯ และประเทศไทยเป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อธุรกิจจากไทยไปอาเซียน และเติบโตในระดับเอเชียต่อไป

โดยบริษัท อินเตอร์ โฮเรก้า จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ จะเป็นผู้เชื่อมโยงคู่ค้าทั้งในไทยและต่างประเทศด้วยกัน ด้วยการต่อสายพันธมิตรที่จีน ไต้หวัน เกาหลี ญี่ปุ่น อิตาลี ฝรั่งเศส และสเปน เพื่อนำเสนอสินค้าและบริการที่หลากหลาย เอามาสร้างความแตกต่างให้ลูกค้า

ทีซีซี แอสเซ็ทส์ กำหนดให้ทั้งสามโครงการที่อยู่ในความดูแล เป็นยุทธศาสตร์การค้าบนถนนรัชดาภิเษก ได้แก่ โครงการ ซีดับเบิลยู ทาวเวอร์โครงการ เดอะสตรีท รัชดา และโครงการ ซี-อาเซียน (C-ASEAN) โดยโครงการทั้งหมดจะเชื่อมถึงกันด้วยทางเดินขนาดใหญ่ที่ต่างสร้างมูลค่าเพิ่มให้กันและกัน

ซีดับเบิลยู ทาวเวอร์ เป็นออฟฟิศให้เช่า มีคนทำงานอยู่มากมาย ซี-อาเซียนก็อยู่อีกปีกของอาคาร ขณะที่เดอะสตรีท รัชดา เป็นแหล่งชอปปิ้งรองรับไลฟ์สไตล์คนเมือง

ดังนั้น การเปิดตัวโฮเรก้า สแควร์ จึงเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญในการพัฒนาพื้นที่ในย่าน รัชดาภิเษก เพื่อปั้นให้เป็น “แลนด์มาร์ก” ในระดับอาเชียน ดึงเอาผู้ประกอบการจากต่างประเทศเข้ามาทำธุรกิจ และนำสินค้าของไทยไปขายต่างประเทศ แล้วยังทำให้ธุรกิจค้าปลีกและธุรกิจค้าส่งของกลุ่มเบียร์ช้าง ครบเครื่องมากยิ่งขึ้น

ทางด้าน “แม็คโคร” เจ้าตลาดเดิม หลังเข้ามาอยู่ในพอร์ตธุรกิจเครือซีพี ภายใต้การดูแลของเซเว่น-อีเลฟเว่น ก็เดินหน้าให้ความสำคัญกับธุรกิจโฮเรก้ามากขึ้น ทั้งการขยายสาขารูปแบบเดิมไปในต่างจังหวัด และที่บุกหนักในปีนี้ คือ จะใช้เงินลงทุน 3-4 พันล้านบาท ขยายสาขาในรูปแบบ ฟูด เซอร์วิส และ ฟูด ชอป เพิ่มเติมอีก 7 แห่ง

โมเดลธุรกิจฟูด เซอร์วิส และ ฟูด ชอป จะมีขนาดเล็กกว่าสาขาแบบดั้งเดิม โดยแม็คโครพยายามเข้าไปยึดพื้นที่ชุมชนที่มีร้านอาหารหนาแน่น และไปอยู่ในย่านที่มีศูนย์การค้าขนาดเล็กแบบคอมมูนิตี้มอลล์ซึ่งเป็นแหล่งรวมร้านอาหารน้อยใหญ่

ฟูด เซอร์วิส และ ฟูด ชอป เน้นวางจำหน่ายเฉพาะอาหารสด วัตถุดิบประกอบอาหาร และอุปกรณ์ทำอาหาร มีขนาดพื้นที่ 1,000-3,000 ตารางเมตร และจะไม่ขายสินค้าทั่วไปแบบโชห่วย

เป้าหมายของการขยาย ฟูด เซอร์วิส และ ฟูด ชอป

1. ต้องการติดสปีดในการขยายสาขา เพราะศูนย์ค้าส่งแบบดั้งเดิม Cash & Carry ที่ขายส่งสินค้าทุกอย่างสำหรับร้านค้าโชห่วย และร้านอาหาร ใช้พื้นที่มากเฉลี่ย 10,000 ตารางเมตร ยิ่งนานวันยิ่งหาทำเลยาก การทำขนาดให้เล็กลงทำให้ขยายได้มากขึ้น แทรกซึมไปในพื้นที่ชุมชนได้ง่าย

2. ลูกค้ากลุ่มร้านอาหารหรือธุรกิจโฮเรก้ามีการเติบโตสูง เพราะคนยุคนี้ชอบประกอบธุรกิจส่วนตัวทั้งร้านอาหาร เบเกอรี และร้านกาแฟ แม็คโครจึงพยายามเจาะกลุ่มนี้มากขึ้น โดยปกติแล้วลูกค้ากลุ่มนี้เป็นลูกค้ากลุ่มใหญ่ของแม็คโครเช่นกัน มีสัดส่วน 30% รองจากลูกค้าร้านโชห่วยที่มีสัดส่วน 50% และอื่นๆ อีก 20% เป็นกลุ่มบริการ โรงงาน ปั๊มน้ำมัน และรถทัวร์ เป็นต้น

ฟูด เซอร์วิส และ ฟูด ชอป เปรียบเหมือนร้านสะดวกซื้อแบบค้าส่งวัตถุดิบของกลุ่มร้านอาหาร พฤติกรรมของลูกค้ากลุ่มนี้จะเข้าร้านถี่แต่มียอดการใช้จ่ายไม่สูง เน้นอาหารสดวันต่อวัน ทำเลที่ตั้งจะเน้นในชุมชน แหล่งที่มีร้านอาหารตั้งอยู่เป็นจำนวนมากประเภทเป็นตึกแถวเรียงต่อกันก็มี ส่วนลูกค้าร้านโชห่วยจะมาที่ร้านไม่ถี่ แต่ซื้อจำนวนมากๆ เพราะจะได้คุ้มค่ารถ ทำเลที่ตั้งจึงเน้นเดินทางสะดวก

ภาพรวมจำนวนสาขาทั้งหมดของแม็คโครสิ้นปี 2559 มีทั้งหมด 115 สาขาทั่วประเทศ แบ่งเป็นรูปแบบคลาสสิก 76 สาขา ฟูดเซอร์วิส 17 สาขา อีโค พลัส 11 สาขา แม็คโคร ฟูดชอป 3 สาขา และร้านสยามโฟรเซ่น 8 สาขา

ดังนั้น การก้าวเข้ามาของโฮเรก้า สแควร์ในตลาดห้างค้าส่ง จึงมีหลายเซกเมนต์ที่คาบเกี่ยวกันกับแม็คโคร ทั้งธุรกิจร้านอาหาร ร้านกาแฟ เบเกอรี ธุรกิจโรงแรมขนาดเล็ก รวมถึงบูติก โฮเทล ความท้าทายของโฮเรก้า สแควร์สำหรับตลาดในประเทศ คือ จะยึดกลุ่มลูกค้าตลาดบนอย่างเหนียวแน่นไว้ได้อย่างไร ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ซบเซา ทำให้บรรดาผู้ประกอบการต้องรัดเข็มขัด

ขณะที่ในเมื่อแม็คโครเองก็พยายามโฟกัสเป้าหมายมาที่กลุ่มธุรกิจโฮเรก้ามากขึ้น ข้อได้เปรียบทางด้านต้นทุนทำให้มีโอกาสอย่างมากที่แม็คโครอาจหันมาอัปเกรดสินค้าในกลุ่มโฮเรก้า เพื่อสร้างคุณค่าให้กับลูกค้าของตัวเอง ดังนั้น ในอนาคตช่องว่างสำหรับตลาดโฮเรก้าสำหรับห้างค้าส่งซึ่งเป็นตัวแทนของสองเจ้าสัว “เจริญ” และ “ธนินท์” อาจหดแคบลง จนกลายเป็นการเผชิญหน้าในสักวัน

โฮเรก้า สแควร์พยายามฉีกตัวเองออกจากการแข่งขัน ด้วยการกำหนด 3 กลยุทธ์เพื่อให้ตัวเองสามารถเติบโตและแข่งขันได้ คือ

1. การกำหนดให้โฮเรก้า สแควร์เป็นแลนด์มาร์กธุรกิจโฮเรก้าแห่งแรกในไทย ใหญ่ที่สุดในอาเซียน

2. การจัดงานแสดงสินค้าและบริการสำหรับผู้ประกอบการ (Business to Business : B2B) ระดับนานาชาติ โดยจัดครั้งแรกเมื่อเดือนกรกฎาคม 2560 ที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการสนใจมาออกร้าน 80 คูหา มีผู้เข้าเยี่ยมชม 5,000 ราย แบ่งเป็นกลุ่มผู้ซื้อต่างประเทศ 20% จากประเทศจีน ไต้หวัน เกาหลีใต้ อินเดีย อินโดนีเซีย และกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) สร้างมูลค่าเงินสะพัด 30 ล้านบาท ที่เหลืออีก 80% เป็นกลุ่มเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัปในประเทศ

3. การขยายตัวไปสู่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ซึ่งยังอยู่ในช่วงพัฒนา

ลัดดา มงคลชัยวิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเชีย โฮเรก้า จำกัด ระบุว่า โอกาสทางธุรกิจของโฮเรก้า    สแควร์ จากการปักธงว่าเป็นแห่งแรก จะสามารถดึงกำลังซื้อที่เคยกระจายตัวอยู่หลายที่ เช่น ถ้าอยากได้ของประเภทนี้ต้องไปเจเจ ถ้าอยากได้สินค้ากลุ่มนี้ต้องไปแพลทตินั่ม หรือสินค้าหลายชนิดก็ต้องไปซื้อยกลังที่สำเพ็ง ซึ่งเพิ่มภาระให้ผู้ประกอบการ

การเปิดเป็นศูนย์รวม โฮเรก้าพร้อมบริการให้คำปรึกษาธุรกิจ จะช่วยเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการสามารถทำธุรกิจให้ไปได้ตลอดรอดฝั่ง ขณะที่โฮเรก้า สแควร์เองก็มีโอกาสได้ลูกค้าที่กระจัดกระจายดึงเอามาเป็นฐานประจำ

เรากำหนดกลยุทธ์ราคาสินค้าที่เน้นคุณภาพ ราคาสมเหตุสมผล ถ้าลูกค้าอยากได้อะไร แล้วเรายังไม่มี เราจะหาให้ เป็นรูปแบบการให้บริการครบวงจรจริงๆ

ลัดดา กล่าว

ภาพรวมกลุ่มธุรกิจโฮเรก้าในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ พบว่า โรงแรมและร้านอาหารมีการเติบโตเพิ่มขึ้น 7.5% โดยรายได้จากการท่องเที่ยว 6.25 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.4% มาจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 3.95 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.8% และนักท่องเที่ยวในประเทศ 2.3 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.4%

สำหรับเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง คาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวทั่วโลกจาก อเมริกา ยุโรป ตะวันออกกลาง และอาเซียน เข้ามาเที่ยวไทยมากขึ้น ทำให้ภาพรวมธุรกิจโฮเรก้ามีแนวโน้มว่าจะทำรายได้สูง 1.96-2 ล้านล้านบาท

โฮเรก้าจึงเป็นธุรกิจที่มีมูลค่ามหาศาล ที่กลุ่มเบียร์ช้างไม่อาจปล่อยมือได้ และเครือซีพีก็คงไม่พลาดงานเลี้ยงนี้เช่นกัน