บัณฑิตภาควิชาการธนาคารและการเงิน จุฬาฯ คว้ารางวัล Best Student Researcher Award ระดับนานาชาติ

คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานเชิดชูเกียรติ “เรียง 100 ความภูมิใจ Chulalongkorn Business School ประจำปี 2560” ซึ่งงานนี้มีเหล่าคณาจารย์และนิสิตที่สร้างชื่อเสียงให้แก่คณะบัญชีฯ โดยหนึ่งในนั้นมี บัณฑิตภาควิชาการธนาคารและการเงิน หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิศวกรรมการเงิน ปวริศ สุวรรณเพทาย ได้รับการเชิดชูเกียรติในครั้งนี้ด้วย จากการได้รับรางวัลงานวิจัยระดับนานาชาติ Best Student Researcher Award จากงานประชุม Sixth Asia-Pacific Conference on Global Business, Economics, Finance and Social Sciences

ปวริศ สุวรรณเพทาย เผยว่า “ได้ทำวิจัยและคิดค้นสูตรคำนวณหาทิศทางการปรับตัวของค่าเงิน โดยสูตรคำนวณนี้จะเป็นพื้นฐานที่สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดเป็นเครื่องมือที่ให้ผู้ประกอบการส่งออก สามารถบริหารจัดการความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ช่วยให้ธุรกิจส่งออกไทยมีความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น”

ปวริศเผยสาเหตุที่ทำให้เขาสนใจทำวิจัยในเรื่องนี้ว่า “เพราะช่วงที่ตัวเองเทรดค่าเงินอยู่นั้น สังเกตว่าช่วงที่มีการประกาศข่าวอะไรที่เกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์มหภาค ค่าเงินจะมีความผันผวนสูงมาก เขาจึงคิดอยากหาเครื่องมือที่ใช้ในการจับสัญญาณที่แม่นยำมากขึ้น เพื่อโอกาสในการสร้างผลกำไรสูงสุด หรือทำให้ขาดทุนน้อยที่สุด

คือปกติถ้าข่าวดีประกาศออกมา ตลาดจะทำปฏิกิริยากับข่าวในลักษณะ Over-react ทำให้ราคาโดดขึ้นไปเกินมูลค่าที่แท้จริง เราก็ต้องรีบขายออกมา แต่เราจะรู้ได้ยังไงว่าตัวเลขที่เท่าไร ถึงเรียกว่า ‘Over’ จากงานวิจัยของผมเมื่อมีการประกาศข่าวดีออกมา ราคาจะขึ้นไปประมาณ 1-2% ก็ทำการขายได้แล้ว ถ้าเกินจากนี้จะเป็น Over-price ต้องรีบทยอยขายไม่อย่างนั้นจะมีความเสี่ยงสูงมาก เช่นเดียวกันข่าวร้ายก็ประมาณ 1-2% เหมือนกัน คือถ้าลงมาประมาณนี้ก็ให้ซื้อ จะได้ราคาที่ต่ำกว่าราคาที่แท้จริง” ปวริศ กล่าวเสริม

ทั้งนี้ ปวริศสนใจเรื่องการเก็งกำไรค่าเงินตั้งแต่เรียนอยู่ระดับปริญญาตรี และทดลองเทรดด้วยตัวเอง แต่เพราะความรู้ที่ไม่มากพอ ทำให้สูญเสียเงินไปเป็นจำนวนมากเพื่อแลกกับบทเรียน นั่นก็ทำให้เขารู้ว่าความรู้ที่มียังไม่เพียงพอ จึงกลับมาเรียนเพิ่มในระดับปริญญาโท ภาควิชาการธนาคารและการเงิน หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิศวกรรมการเงิน คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เขาบอกว่าความรู้ที่ได้จากคณะบัญชีฯ จุฬาฯ ไม่เพียงช่วยให้เขารู้วิธีการใช้เครื่องมือที่ถูกต้องกับสภาพตลาดที่เป็นอยู่จริง แต่ยังช่วยให้เขาสามารถคิดค้นสูตรที่จะเป็นพื้นฐานในการพัฒนาต่อยอดเป็นเครื่องมือทางการเงินที่จะช่วยให้ธุรกิจส่งออกไทยมีความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น รางวัลที่ได้รับ จึงถือเป็นรางวัลแห่งเกียรติยศของมหาวิทยาลัย ซึ่งเขาภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสะท้อนภาพความสามารถนี้ให้ทั่วโลกได้รับรู้ผ่านที่ประชุมวิชาการระดับนานาชาติ ซึ่งมีคนไทยเพียงแค่ 2 คนที่ได้เข้าไปร่วมงาน และมีเขาเพียงคนเดียวเท่านั้นที่ได้รับรางวัลกลับมา