วีแชท ครองจีนเบ็ดเสร็จ ต่อไปคือโลก

นักท่องเที่ยวจีนคนหนึ่ง กำลังใช้แอพพลิเคชัน วีแชท (WeChat) สำหรับซื้อสินค้าในร้านสะดวกซื้อให้หนึ่งในกรุงเทพ ประเทศไทย (ภาพซินหัว)

ใครๆ ต่างก็กล่าวขานกัน ถูกบ้างผิดบ้าง ว่าหนึ่งในทักษะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของจีน ซึ่งทำให้ก้าวขึ้นมามีอำนาจยิ่งใหญ่ได้ในโลกทุกวันนี้ คือการทำของเลียนแบบของคนอื่นๆ ตั้งแต่ กระเป๋าปลอม ไปจนถึงขั้นปลอมเมืองท่องเที่ยวริมทะเลสาบปลอม

เช่นเดียวกับ แอพพลิเคชั่นในโซเชียล อย่าง เวยปั๋ว ที่ตอนแรกๆ คนก็บอกว่า มันคือทวิตเตอร์ของจีน หรือ เหรินเหริน ซึ่งแม้วันนี้จะไม่ค่อยนิยมกันนัก แต่ก็เคยถูกเรียกว่า เฟสบุ๊คของจีน

ในเทคโนโลยีโซเชียลมีเดียนั้น ใครนำใครตาม ใครทำใครลอก อาจจะเป็นอย่างที่เห็นมา แต่วันนี้ จีนกำลังพลิกกระดานโซเชียลมีเดีย และตะวันตกกำลังเฝ้าจับตาดูความสำเร็จของสื่อโซเชียลสังคมออนไลน์จีน กับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ยุค 4.0 

วีแชท น่าจะเป็นแพลตฟอร์มภาษาจีน ที่บริษัทและกิจการด้านสื่อสังคมออนไลน์ตะวันตกอย่างเฟสบุ๊ค กำลังอิจฉา

ทำไมหรือ ก็เพราะวีแชท มีดีพอให้ต้องทึ่ง

ตามที่รู้ๆ มา วีแชท เป็นแพลตฟอร์มที่ใช้งานได้อเนกประสงค์ ทุกอย่างครบจบในแอพฯ เดียวได้ โดยผู้ใช้สามารถส่งข้อความ พูดคุย ส่งรูป เรียกแท็กซี่ ถ่ายทอดคลิปสดๆ โทรศัพท์ หรือส่งวิดีโอ ไม่เสียค่าบริการ ประหยัดเงิน

ประหยัดค่าใช้จ่าย คือกุญแจสำคัญ 

ทุกวันนี้ วีแชท เป็นเหมือนสถาบันหลักแห่งหนึ่งในประเทศจีน ซึ่งมีบทบาทในการเปลี่ยนชีวิตชาวจีน เปลี่ยนการใช้จ่ายเงินสดไปเป็นสังคมไร้เงินสด จนถึงเปลี่ยนธรรมเนียมอั่งเป่า ซองแดง

ในอดีตที่ผ่านมา คนจีนจะส่งซองแดง ให้ครอบครัว ในโอกาสสำคัญๆ อันเป็นมงคล ไม่ว่าจะวันเกิด วันแต่งงาน วันปีใหม่ หรือวันฉลองมงคลอื่นๆ แต่ปัจจุบัน ซองแดงแบบดิจิทัล นับพันๆ ล้านใบ ได้ถูกส่งกันทางวีแชทแล้ว

แอพพลิเคชั่น วีแชท กลายเป็นแอพฯ ที่ทุกคนจะต้องมีไว้ใช้ และไม่ใช่เพียงแค่ในประเทศจีนเท่านั้น แต่ยังเป็นหนึ่งในแอพพลิเคชั่นโซเชียลมีเดีย ที่ได้รับความนิยมสูงที่สุดในโลก ล่าสุดมีผู้ลงบัญชีใช้แล้วกว่า 963 ล้านราย

ตอนนี้ วีแชท ยังได้นำเสนอฟังก์ชั่นวีแชทเพย์ (WeChat Pay) สำหรับใช้ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งไม่เพียงเป็นนิมิตหมายในการบุกตลาดโลก ในทางตรงข้าม ฟังก์ชั่นนี้ ยังมุ่งเป้าให้บริการชาวจีนขณะเดินทางออกไปนอกประเทศด้วย

เป็นที่ทราบกันว่านักท่องเที่ยวจีน ใช้จ่ายเงินเป็นคันๆ รถ สำรวจที่ไหน ก็พบว่า นักท่องเที่ยวที่จ่ายเงินมากที่สุดในแต่ละประเทศคือ กลุ่มนักท่องเที่ยวจีน โดยประมาณกันว่า ในช่วงวันหยุดปี พ.ศ.2568 การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวจีน จะทะลุไปถึง 2.25 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

เทนเซนต์ กิจการยักษ์ใหญ่อินเทอร์เน็ตจีนเอง ซึ่งเป็นเจ้าของวีแชท ก็คงอยากได้ส่วนแบ่งนี้เช่นกัน 

ความเคลื่อนไหวของเทนเซ็นต์ในครั้งนี้มุ่งเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนที่มีการจับจ่ายใช้สอยในยุโรปเป็นหลัก จึงไม่ใช่คู่แข่งที่บริการอย่างแอปเปิลเพย์ (Apple Pay) หรือซัมซุงเพย์ (Samsung Pay) จะต้องวิตกกังวล โดยคนที่จะต้องกังวลน่าจะมีเพียงรายเดียวนั่นคือ อาลีเพย์ ที่จะไม่ได้เป็นผู้ให้บริการรายเดียวในตลาดยุโรปอีกต่อไป

สำหรับนักท่องเที่ยวชาวจีนนั้น มีตัวเลขจากองค์การการท่องเที่ยวโลกของสหประชาชาติ (the United Nations World Tourism Organization) ว่า เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่มีการใช้จ่ายสูงที่สุดในปี 2016 โดยพบว่า นักท่องเที่ยวจีนได้ใช้จ่ายเงินในการเที่ยวต่างประเทศมากถึง 261,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยที่ 8.9 ล้านล้านบาท ซึ่งตัวเลขนี้เองที่ทำให้เทนเซ็นต์ต้องการเข้ามามีส่วนแบ่งด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อาจจะยังต้องใช้เวลานาน สำหรับวีแชท ในการครองโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่ผู้ใช้งานชาวตะวันตก ซึ่งมีแอพพลิเคชั่นโซเชียลมีเดียของตัวเองอยู่แล้ว 

ทั้งนี้ แอพพลิเคชั่นโซเชียลมีเดีย จำเป็นต้องอิงกับแนวคิดใหม่ๆ ฟังก์ชั่นใหม่ๆ เช่น Snapchat ที่สามารถถ่ายรูปและกำหนดระยะเวลาให้รูปโชว์ได้ระหว่าง 1 ถึง 10 วินาทีก่อนที่รูปนั้นจะถูกระบบลบทิ้งไป ซึ่งกำลังได้รับความนิยมในหมู่วัยรุ่น ด้วยเหตุผลว่ามันถูกใช้งานไปในการส่งรูปที่ไม่ควรเก็บไว้ในเครื่องฯ

สัจธรรมโซเชียลมีเดีย ที่ทุกคนเข้าใจได้คือ ความนิยมนั้น ถ้าไม่เพิ่มขึ้น ก็มีแต่ลดลง ไม่เว้นแม้กระทั่งเฟสบุ๊ค และความที่วีแชท พัฒนาขึ้นมาเป็นแอพพลิเคชั่นอเนกประสงค์ในตัวมันเองได้เร็วเท่าไหร่ จะยิ่งเป็นที่นิยมในหมู่ผู้ใช้ จนอาจจะถึงขั้นเป็นตัวดึงรวบกลุ่มผู้ใช้แอพฯ ต่างๆ มาที่ตน เพราะพลังสำคัญของวีแชท คือพลังมวลชนจำนวนมหาศาลในจีน ที่ยังรอการปลดปล่อยศักยภาพอีกมาก

นี่คือสิ่งที่อาจทำให้ใครหลายๆ คนที่เคยมองจีนว่าเก่งก้อปปี้ ลอกชาวบ้านเกือบจะมองไม่ทันแล้วว่า จีนมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร


ที่มา : mgronline.com/china/detail/9600000096147