เปิด 3 เทรนด์โฆษณาจาก YouTube Ads Leaderboard เอเชียแปซิฟิก“เพลง-เล่าเรื่อง-รู้ใจกลุ่มเป้าหมาย” ทำให้แบรนด์ปัง

Google ประกาศผล Asia-Pacific YouTube Ads Leaderboard เผยรายชื่อ 10 อันดับโฆษณาในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่ได้รับความนิยมสูงสุดบน YouTube ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่งาน Spikes Asia 2016ระหว่างเดือนกรกฎาคม 2559 – เดือนสิงหาคม 2560โดยพิจารณาจากความนิยมเเละความชื่นชอบของผู้ชม

งาน Spikes Asia เป็นเทศกาลโฆษณาและประกวดโฆษณาประจำปีของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยแบรนด์ที่ติดอันดับสามารถสร้างสรรค์โฆษณาให้น่าสนใจจนเป็นที่ชื่นชอบของผู้ชม ซึ่งโฆษณาบางชิ้นมีผู้เข้าชมมากกว่าหลายล้านครั้ง ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา

ซันซิล-เมย์เบลลีน คว้า 2 รางวัล

ในปีนี้พบว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลายเป็นแหล่งสร้างสรรค์วิดีโอซึ่งช่วยกระตุ้นการมีส่วนร่วมของผู้ชม โดย 7 ใน 10 ของโฆษณาที่ได้รับความนิยมสูงสุดมาจากเวียดนาม 4 ผลงานไทย 2 ผลงานและฟิลิปปินส์ 1 ผลงานเป็นการนำเสนอวิดีโอออนไลน์ให้มีเอกลักษณ์เฉพาะในแต่ละท้องถิ่น

โดยโฆษณาสองชิ้นจากเวียดนามใช้ธีม เต็ด (Tết) หรือการฉลองปีใหม่ของเวียดนาม ซึ่งแสดงให้เห็นถึงผลตอบรับที่แบรนด์จะได้รับจากการนำเอางานเฉลิมฉลองประจำชาติเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโฆษณา แต่ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงเรื่องความเหมาะสมทางวัฒนธรรมด้วย

วินนามิลค์ (Vinamilk) ซึ่งคว้าอันดับ 1 ไปครอง ได้นำโฆษณายอดนิยมในปี 2558 มาทำใหม่ นำแสดงโดยนักร้องดาวรุ่ง Le Manh Quynh โดยโฆษณาของวินนามิลค์นำเสนอเรื่องราวสุดคลาสสิกของการปะทะคารมระหว่างลูกสะใภ้กับแม่สามี บวกกับเนื้อเพลงที่มีความสร้างสรรค์ ทำให้โฆษณาชิ้นนี้มีความสนุกสนานและสามารถดึงดูดความสนใจจากผู้ชมได้เป็นอย่างดี

10 โฆษณา ยอดนิยมเวทีYouTube Ads Leaderboard เอเชียแปซิฟิก

1. วินนามิลค์ ประเทศเวียดนาม

2. แอลจี ประเทศอินเดีย

3. บิโอเร ประเทศเวียดนาม

4. เนสท์เล่ ประเทศฟิลิปปินส์

5. ชาทีพลัส ประเทศเวียดนาม

6. เนสกาแฟ ประเทศเวียดนาม

7.  แคดเบอรี ประเทศอินเดีย

8. ซันซิล ประเทศไทย

9. แคลช รอยัล

10. เมย์เบลลีน นิวยอร์ก (ประเทศไทย)

เทรนด์ที่น่าสนใจจากโฆษณายอดนิยม

เน้นการเล่าเรื่องมากกว่าการขาย

สิ่งที่เชื่อมโยงโฆษณาเหล่านี้เข้าด้วยกันคือการเล่าเรื่องในรูปแบบต่างๆ อย่างเช่นวินนามิลค์ โดยปกติแล้วผู้ชมจะเข้า YouTube เพื่อรับความบันเทิง หรือเพื่อหาข้อมูล ไม่ใช่การขายที่เน้นขายแบบตรงๆ ซึ่งโฆษณา 10 อันดับนี้ทำออกมาได้อย่างดี โดยมีสไตล์การเล่าเรื่องและความสั้นยาวของโฆษณาที่แตกต่างกันออกไป ตั้งแต่ 46 วินาที ไปจนถึง 3 นาทีกว่าๆ นั่นหมายความว่า ไม่ว่าโฆษณาจะสั้นหรือยาวแค่ไหน หากมีเนื้อหาที่ดีและน่าสนใจ ผู้ชมก็จะเลือกดู

เพลงติดหู

โฆษณาที่ไม่มีเพลงหรือดนตรีประกอบจะไม่ค่อยได้รับความสนใจ สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันของโฆษณาส่วนใหญ่ใน 10 อันดับนี้ก็คือการนำเพลงยอดนิยมมาใช้ เพื่อให้เรื่องราวดึงดูดและตรึงความสนใจจากผู้ชม ซึ่ง 6 ใน 10 ของโฆษณเหล่านี้เป็นมิวสิควิดีโอที่ทำขึ้นมาโดยเฉพาะเพื่อให้ผู้ชมมีส่วนร่วม ทั้งนี้ 95% ของโฆษณาบน YouTube เป็นโฆษณาที่มีเสียง นั่นหมายความว่าแบรนด์ต่างๆ สามารถมั่นใจได้ว่าข้อความที่ต้องการสื่อสารออกไปจะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างแน่นอน

การรู้ใจผู้ชมของตัวเอง

ถึงแม้ว่า YouTube จะเป็นสื่อใหม่ ก็ไม่ได้หมายความว่าเทคนิคการทำโฆษณาแบบเก่าๆ จะไม่ได้ผล การที่แบรนด์รู้จักผู้ชมหรือกลุ่มเป้าหมายของตนจะช่วยให้มีคนสนใจดูโฆษณาชิ้นนั้น ไม่ว่าจะบนช่องทางออนไลน์หรือออฟไลน์ก็ตาม โดย 6 ใน 10 ของแบรนด์เหล่านี้เลือกใช้บุคคลที่มีชื่อเสียงเพื่อช่วยดึงดูดความสนใจจากผู้ชมกลุ่มเป้าหมายบน YouTube.