"กีรติพงศ์ เกษมสัมพันธ์” …ผมหากิน “เพื่อ” โรงเรียน

ชีวิตการทำงานที่เริ่มต้นในระบบราชการ ไม่เพียงทำให้ “กีรติพงศ์ เกษมสัมพันธ์” ได้เห็น “ภาพใหญ่” ในโครงสร้างของ “งานบริหาร” ตามที่ตั้งใจไว้ หากแต่ “ภาพใหญ่ของสังคม” ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการสัมผัสปัญหาอันซับซ้อนของสังคมกลายเป็นสารตกค้างทางความรู้สึก ที่นำซีอีโอหนุ่มมาสู่การสร้างสรรค์โมเดลธุรกิจบนพื้นฐานของการเกื้อกูลสังคม … “The Benign Group” บริษัทบริหารพื้นที่สื่อโฆษณาในโรงเรียนจึงเกิดขึ้นภายใต้ชื่ออันสื่อถึง “ความเมตตา (benign)” ซึ่งเกิดขึ้นทั้งในฐานะผู้รับและผู้ให้

การศึกษาต่อในสิงคโปร์ตั้งแต่จบชั้นประถมปีที่ 6 สอนให้กีรติพงศ์มีความรับผิดชอบต่อตัวเองตั้งแต่วัยเยาว์ เขาเข้าเรียน ป.5 ใหม่เพื่อปรับพื้นฐานภาษาอังกฤษ เมื่อจบชั้นประถม (เป็นครั้งที่ 2) จึงมีโอกาสได้เข้าศึกษาต่อในโรงเรียนมัธยมชื่อดังของสิงคโปร์ด้วยคะแนนระดับท็อปกระทั่งจบชั้น ม.4 (เทียบเท่า ม.6 เมืองไทย) จึงเดินทางกลับบ้าน

“ใจผมอยากเรียนต่ออเมริกา แต่ตอนนั้นทางบ้านทำธุรกิจขายอุปกรณ์เครื่องครัวให้โรงแรม เลยอยากให้ไปสวิสฯ” ทว่าเมื่อเอนทรานซ์เข้าคณะบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ภาคภาษาอังกฤษ (BBA) ได้ เขาจึงตัดสินใจศึกษาต่อในประเทศ “ผมได้พื้นฐานทางธุรกิจจาก BBA เยอะ ผมว่าธุรกิจเป็นเครื่องมืออันนึงนะ มันขึ้นอยู่กับเราว่าจะเอาไปประยุกต์ใช้ยังไง”

“ไม่เก่งก็ไม่เป็นไร แค่ได้สัมผัสก็พอ” …ในรั้วมหาวิทยาลัย กิจกรรมและพฤติกรรมอยากรู้อยากเห็นของกีรติพงศ์เป็นสารกระตุ้นให้เขาผุดไอเดียทางธุรกิจใหม่ๆ อยู่เสมอ “ของผมฮาแต่ได้สาระ…” ดังเช่นโจทย์ของอาจารย์ครั้งหนึ่งที่ให้งบ 100 บาท บวกเวลาครึ่งชั่วโมงในการหาสินค้ามานำเสนอ

“ผมซื้อสารส้มมาพรีเซนต์เป็น Miracle Crystal อาจารย์ยิงกระจาย แต่ผมแฮปปี้นะ มันคุ้มที่จะได้เรียนรู้มุมมองของอาจารย์ในแง่ต่างๆ ผมว่ามันน่าเบื่อที่จะทำอะไรซ้ำๆ เพื่อให้มั่นใจว่าได้คะแนนดี อย่างธุรกิจร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านเน็ต มันมีอยู่ในตำราอยู่แล้ว” แทนที่จะเตะบอลหรือกินเหล้า เขาและกลุ่มเพื่อนจึงมักจับเข่าคุยเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ธุรกิจของทางบ้านและผุดโปรเจกต์ใหม่ๆ อย่างสนุกสนาน

“จนถึงทุกวันนี้ สิ่งที่ผมได้ใช้ในการทำงานจริงมาจากเรื่องราวที่ได้แชร์กับเพื่อนและอาจารย์ ไม่ใช่สูตรที่เค้าบังคับให้ท่องจำ”

“การเรียนบ้านเรายังเป็นกรอบอยู่เยอะ ผมว่ากรอบเดียวที่ควรมีคือกรอบทางด้านศีลธรรม ที่สิงคโปร์เค้าสนับสนุนการเปิดโลกทัศน์ให้เด็ก บุคคลในรัฐบาลระดับสูงสละเวลามาบรรยายให้เด็กมัธยมฟัง บริษัทใหญ่ๆ มาช่วยส่งเสริมการศึกษา ผมว่าเมืองไทยต้องอาศัยการทุ่มเทจากหน่วยงานต่างๆ ให้มากขึ้น”

ฉากแรกในชีวิตการทำงานของกีรติพงศ์เริ่มต้นที่ “กระทรวงแรงงาน” ในส่วนโครงการพัฒนาฝีมือแรงงานของ Asian Development Bank การได้ทำงานใกล้ชิดกับผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ เป็นโอกาสให้เขาเก็บเกี่ยวความรู้โดยเฉพาะด้านการพัฒนาทรัพยากรบุคคลกระทั่งนำมาใช้บริหารองค์กรในปัจจุบัน …เหตุแห่งความล่าช้าในระบบบริหารราชการก็ถูกเก็บเป็นโจทย์หนึ่งในใจเขา

กีรติพงษ์มีโอกาสได้ทำงานในสหประชาชาติในเวลาต่อมา การคลุกคลีกับ “แรงงานเด็กในอุตสาหกรรมเครื่องหนัง” ทำให้เขาเห็นตั้งแต่ปัญหาภายในชาติที่รอการแก้ไข ตลอดจนการเอาเปรียบทางการค้าระหว่างประเทศ ด้วยไทยส่งออกเครื่องหนังมากติดอันดับโลก มหาอำนาจทุนนิยมจึงกีดกันโดยอ้างรายงานจากสหประชาชาติเป็นเครื่องมือ การเข้าไปพูดคุยถึงโรงงานทำให้เขาเห็นปัญหาที่แท้จริง

“ถ้ามองมุมเดิมๆก็จะเห็นเพียงว่า โรงงานพวกนี้เลวสาหัส ทำให้เด็กไม่ได้เรียนหนังสือ แต่จริงๆ แล้วเด็กพวกนี้เป็นคนหารายได้เข้าบ้าน การที่นายจ้างให้งานเป็นการช่วยเขาออกมาจากสลัม ยาเสพติด ขโมย และโสเภณี ยูเอ็นไม่ควรแค่มาจับผิด แต่ควรให้วิธีการแก้ไขด้วย” รายงานของกีรติพงศ์จึงแปลกกว่าคนอื่นตรงที่เขาเสนอทางออกของปัญหาต่อท้ายรายงานหลักเสียยาวจนหัวหน้าใหญ่ของยูเอ็นมาพบ “ยังไงมดก็งัดกับช้างลำบาก แต่ผมไม่ท้อนะ คิดว่าเสียงของเราต้องไปถึงซักวัน”

หลังจากนั้น เขาเดินทางไปศึกษาต่อยังออสเตรเลีย ทว่าปรับแผนการเรียนโดยให้ความสำคัญกับการอ่านตำรามากขึ้น ทั้งนี้เพื่อพิสูจน์สมมติฐานที่ว่า การที่เขาสนใจเฉพาะการ interaction กับอาจารย์นั้น เป็นเพียงข้อแก้ตัวเพื่อปกปิดความโง่หรือความขี้เกียจอ่านหนังสือของตัวเองหรือไม่ กระทั่งได้ผลการเรียนที่ดีเป็นคำตอบกลับมา และพาตัวเองเข้าสู่ “สภาพัฒน์” ในส่วนงานที่ปรึกษาของคณะกรรมการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศซึ่งมาพร้อมกับแพ็กเกจโปรเจกต์ในคำสวยหรูต่างๆ

“…เอาเข้าจริงผมรู้สึกว่ารัฐใช้เงินหมื่นแสนล้านเพื่อทำอะไรไร้สาระ อย่างดีทรอยต์ออฟเอเชีย เราเป็นแค่ผู้ผลิตอะไหล่รายใหญ่ ไม่ได้มีแบรนด์รถเป็นของตัวเอง ส่วน FTA ผมมองว่าเราไม่ได้อะไร เปิดกับจีน ของถูกทะลักเข้าไทย เปิดกับนิวซีแลนด์ อุตสาหกรรมโคนมเราตาย เค้ามีแต่ได้ เรามีแต่เสีย กรุงเทพเมืองแฟชั่นจัดกี่พันล้าน ไม่เห็นว่าได้อะไรเป็นรูปธรรม”

เมื่อพาตัวเองออกจากระบบราชการ ด้วยอาการผิดหวังในความกันดารแห่งความเอื้อเฟื้อของภาครัฐ เขาจึงมองหาธุรกิจที่ชดเชยความต้องการมีส่วนช่วยเหลือสังคม…โดยเฉพาะในภาคการศึกษา หลายโปรเจกต์ที่เคยนั่งจับเข่าคิดกับเพื่อนๆ จึงถูกนำมาทำเป็นรูปเป็นร่าง กระทั่งเกิดเป็นโมเดลธุรกิจผลิตและสัมปทานพื้นที่สื่อในโรงเรียน โดยสื่อหลักที่ใช้คือ “ไตรวิชั่น” ใน 70 โรงเรียนร่วมกับ “สื่อบนแป้นบาส” ซึ่งมีการจดลิขสิทธิ์และติดตั้งแล้วกว่า 100 แห่ง การหุ้มสติกเกอร์บนโต๊ะโรงอาหาร ห้องน้ำ ฯลฯ รวมถึงการจัดโรดโชว์/อีเวนต์ในโรงเรียน

สามปีของบีนายน์ได้ผลตอบรับเป็นอย่างดี ด้วยเป็นช่องทางใหม่ที่เปิดโอกาสให้แบรนด์เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นวัยรุ่นได้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็ช่วยสร้างรายได้ให้กับโรงเรียนเพื่อนำไปพัฒนาการศึกษาได้อย่างเป็นรูปธรรม กระทั่ง “สันต์ ภิรมย์ภักดี” ทายาทสิงห์เล็งเห็นถึงความตั้งใจดีจึงมาร่วมแจมด้วย “ถึงเราจะเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ที่จะช่วยสังคม แต่ก็ยังดีกว่าไม่ได้เริ่มทำ จริงมั้ยครับ”

“…ผมเห็นแม่ฝ่าฟันทำธุรกิจมาด้วยตัวเอง เริ่มจากศูนย์เหมือนกัน แต่ด้วยความที่แม่เป็นคนเก่งและขยันมากจึงประสบความสำเร็จ …แม่เป็นแรงบันดาลใจอย่างนึงในชีวิตของผม…” เขากล่าวถึงมารดาเมื่อวางสายโทรศัพท์”…ไม่ต้องเขียนก็ได้นะครับ ผมเขินเวลาแม่อ่าน”

Profile

Name : กีรติพงศ์ เกษมสัมพันธ์
Age :32 ปี
Education
– Victoria School (Singapore)
– Bachelor of Business Administration – Thammasat University
– Master of Business Administration (Adelaide, Australia) – University of South Australia
Career Hilight :
หน่วยงานราชการ : กระทรวงแรงงาน, สหประชาชาติ, สภาพัฒน์ และกระทรวงยุติธรรม
ธุรกิจครอบครัว : บริษัท E.S. Bangkok จำกัด และบริษัท Global Cargo Care
Top-of-mind Brand : สิงห์, Seiko, Apple, Brand’s (กิจกรรมของ Brand’s Gen)
interest : รถยนต์และสัตว์ (ชอบดู National Geographic และ Discovery Channel)