ยีนส์ ไม่มีวันตาย

เหล่าดาราชายหญิงหลายสิบชีวิตเดินเฉิดฉายอยู่บนเวทีแคตวอล์กบริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน เพื่ออวดโฉมยีนส์ลีวายส์รุ่นล่าสุด ท่ามกลางเสียงเพลงระทึกใจ และเหล่าเซเลบริตี้ รวมทั้งสื่อมวลชนที่มาร่วมงานกันอย่างคับคั่ง เป็นกิจกรรมการตลาดครั้งยิ่งใหญ่ แบบ “ฉีกกฎ ปลดกระดุม” ของลีวายส์ 501 ในรอบหลายปี เป็น เสมือนการลั่นกองรบของ “ลีวายส์” แบรนด์ยีนส์เก่าแก่อายุ 150 ปี เพื่อรับมือกับคู่แข่งที่ถาโถมเข้าสู่ตลาดแฟนชั่นยีนส์มูลค่านับหมื่นล้านบาท ชนิดตาต้องไม่กะพริบ

แม้จะไม่มีการสำรวจและลงลึกว่าจริงๆ แล้วมูลค่าตลาดรวมของกางเกงยีนส์ของไทยจะอยู่ที่เท่าไร แต่หลายค่ายต่างเชื่อว่าสภาพตลาดของยีนส์ในทุกวันนี้ไม่น่าจะต่ำกว่า 10,000 ล้านต่อปี แบ่งแยกเป็นมูลค่าของยีนส์ที่ขายในห้างสรรพสินค้า ติดแบรนด์ และเป็นที่รู้จักกึ่งหนึ่ง ที่เหลือเป็นมูลค่าแฝงของกางเกงยีนส์ของแผงแบกะดินทั่วไป

มูลค่าตลาดที่มากโข ทำให้การแข่งขันของแต่ละค่ายยีนส์กลับรุนแรงขึ้นทุกขณะ การปรับตัวของแต่ละแบรนด์เพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งให้มาอยู่ในมือของตนเองเห็นชัดถึงขนาดที่มีการจัดงานแถลงข่าวเปิดตัวสินค้าใหม่ กิจกรรมโปรโมตแบรนด์ถึง 3 ยี่ห้อในเดือนเดียวกัน

หลายคนมองว่าการแข่งขันของตลาดยีนส์ในปีนี้จะรุนแรงสวนทางกับสภาพตลาดที่คนไม่ได้อยู่ในอารมณ์ซื้อของกันสักเท่าไร เพราะขณะที่คนสนใจแบบแฟชั่นใหม่เพื่อไม่ให้ตกเทรนด์ แต่อัตราการซื้อซ้ำกลับน้อย เพราะซื้อยีนส์หนึ่งตัวคุ้มค่าไปนาน ไม่เพียงแค่นั้นการไม่จงรักภักดี อันเป็นนิสัยของกลุ่มลูกค้าวัยรุ่นที่กำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ หลายคนสามารถเลือกแบรนด์ยีนส์อะไรก็ได้เมื่อถูกใจในตัวแบบและราคา ทำให้ผู้ผลิตหลายค่ายต่างต้องทำงานหนักกว่าที่เป็นมาก่อนหน้า

แต่ใช่จะหมดหวังไปเสียเลยทีเดียว เพราะจากงานวิจัยของ COTTON USA เมื่อไม่นานมานี้เปิดเผยว่า จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างในไทยที่มีอายุระหว่าง 18-65 ปี จำนวน 500 คน พบว่า กลุ่มคนเหล่านี้มีความนิยมในกางเกงยีนส์สูงขึ้นตลอดระยะ 5 ปีที่ผ่านมา ในปีที่ผ่านมาเฉลี่ยแล้วมีกางเกงยีนส์ในตู้ของกลุ่มคนเหล่านี้ถึง 10 ตัว เพิ่มจากปี 2549 ซึ่งจะมียีนส์พับหรือแขวนในตู้เสื้อผ้าเพียง 6 ตัวเท่านั้น

กางเกงยีนส์ยังได้รับความนิยมเป็นพิเศษในกลุ่มผู้หญิงอายุ 24-35 ปี โดยคนกลุ่มนี้จะเลือกยีนส์สำหรับใส่เป็นชุดลำลองสูงถึง 44% ที่เหลือเป็นชุดทำงานที่ไม่ใช่สูท 27% ชุดเครื่องแบบพนักงาน 17% และชุดสูทเป็นทางการ 3%

กลุ่มคนรุ่นใหม่กลายเป็นเป้าหมายใหม่ของแบรนด์ยีนส์ทั้งหลาย เพื่อเจาะใจให้กลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงเหล่านี้มาซื้อยีนส์ตัวใหม่ในยี่ห้อของตัวเอง หลายแบรนด์ปรับอายุของเป้าหมายลง พอๆ กับกลุ่มผู้หญิงที่คนมองว่าเป็นลูกค้าเป้าหมายที่พลาดไม่ได้ เพราะใช้ยีนส์เปลืองกว่าใคร

ลีวายส์ รีเทิร์น

แม้ลีวายส์จะบอกว่าครองแชมป์เบอร์หนึ่งในตลาดยีนส์ไทยมานานหลายปี และยังคงจะครองแชมป์แบบนี้ไปอีกนาน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าลีวายส์กำลังถูกกระแสความ “แก่” เข้าสิง และกำลังจะเป็นแบรนด์ที่อยู่ในใจของคนแก่อายุ 30 อัพแทนแบรนด์รุ่นใหม่อย่าง Diesel DKNY หรือแม้แต่ Guess ซึ่งกำลังรุกหนักในกลุ่มวัยรุ่นอย่างปฏิเสธไม่ได้

ชนวนการแก่ไปกับกลุ่มเป้าหมายเดิมกำลังรุมเร้าลีวายส์ในหลายประเทศทั่วโลก ถึงขนาดยอดขายที่ต่ำลงเกือบครึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมาทำให้ลีวายส์ต้องปรับโครงสร้างบริษัท แตกแบรน์ลูกเข้ามาขยายกิจการของตัวเอง ลดความเสี่ยงกับการผูกติดกับแบรนด์ลีวายส์เอาไว้เพียงอย่างเดียว

แม้ลีวายส์ในไทยทุกวันนี้จะมีสัดส่วนยอดรายได้ของกางเกงลีวายส์ 501 ประมาณ 50% รองลงมาจะเป็นรุ่นรีมแดง (Red Tab) และกางเกงยีนส์ทำรายได้ทั้งสิ้น 60% เมื่อเทียบกับเสื้อยืดหรือ Accessories อื่นๆ ในร้าน

แต่ทว่ายอดขายที่ทำให้ลีวายส์เป็นอันดับหนึ่งกำลังสวนทางกลับภาพลักษณ์ของแบรนด์อย่างเห็นได้ชัด และนั่นคงเป็นสัญญาณที่ไม่ดีนักในแง่ของการขายระยะยาวของลีวายส์เอง

การพยายามปรับภาพลักษณ์ไม่ให้แก่ไปกับชื่อ “ลีวายส์” ที่มายาวนาน 150 ปี ทำให้ลีวายส์รื้อแผนรับผู้บริหารฝ่ายการตลาดเข้ามาเสริมทัพ โดยเฉพาะการรับ พรศีล บุทกัสกา ผู้จัดการฝ่ายการตลาด กลุ่มเสื้อผ้าแฟชั่น บริษัท ดีทแฮล์ม เข้ามาคุมเกมลีวายส์นับจากนี้

พรศีล อายุเพิ่งจะ 33 ปี ถือว่าอายุน้อยที่สุดเท่าที่ลีวายส์เคยรับเข้ามาอยู่ในตำแหน่งนี้ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นความตั้งใจตั้งแต่แรกของลีวายส์

ภาพลักษณ์ของพรศีลที่ออกแนวเป็น “Brand Ambassador” หรือ “Celebrity” เขาใส่กางเกงยีนส์ลีวายส์แทบทุกวัน แถมยังขายไอเดียในการรุกตลาดกลุ่มนักเรียนที่เพิ่งถอดกางเกงขาสั้นมาใส่กางเกงยีนส์ หรือกลุ่ม 18 ปี แทนที่จะเป็น 25 ปีขึ้นเหมือนที่ลีวายส์เคยสนใจมาก่อนหน้า และถือโอกาสในการขยายฐานของกลุ่มลูกค้าให้กว้างขึ้นไปในตัว

แท้ที่จริงแล้ว พรศีลถือเป็นอีกหนึ่งแรงในการเข้ามาช่วยรื้อแบรนด์ลีวายส์ในไทย ซึ่งปักหลักในการ “รื้อภาพลักษณ์” เพราะหัวหอกสำคัญในการทำตลาดลีวายส์ในปีนี้คงอยู่ที่การดึงภาพลักษณ์ของตนเองกลับมา ผ่านกิจกรรมที่มีพรศีลเป็นคนคิด

โดยในปีๆ หนึ่งลีวายส์เคยควักเงินในกระเป๋าจัดกิจกรรมกับกลุ่มเป้าหมายอย่างน้อย 5 ครั้ง แต่ก็ยังไม่สามารถที่จะทำให้ลีวายส์เอาภาพลักษณ์กางเกงยีนส์ที่อยู่ในหัวใจวัยรุ่นกลับคืนมาได้

ลีวายส์จึงหันมาจัดกิจกรรมทางการตลาดที่ลีวายส์ไม่เคยทำมาก่อน โดยเฉพาะการเลือกที่จะให้ดาราหญิงชายมาเดินโชว์แบรนด์ลีวายส์แทนนายแบบและนางแบบ เพราะเชื่อว่าดาราสร้างอิมแพคได้แรงกว่านางแบบ ทำแล้วเห็นผลคุ้มค่ากับเม็ดเงินที่ลงไป

งานอีเวนต์ โปรโมตแคมเปญ ฉีกกฎ ปลดกระดุม ของ ลีวายส์ 501 : LIVE UNBUTTONED ซึ่งทำพร้อมๆ กับลีวายส์ 110 ประเทศ ที่มีแขกเป็น ศิลปิน ดารา คนบันเทิง รวมถึง Celebrity และสื่อมวลชน รวมแล้วเกือบพันเข้าร่วม เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นความพยายามอย่างหนักในการสร้างภาพลักษณ์ของลีวายส์ และพรศีลบอกว่านับจากนี้จะเห็นงานแบบนี้ถี่ขึ้น และใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ

สิ่งที่ลีวายส์ต้องทำมากกว่านั้น คือ การเข้าถึงพฤติกรรมผู้บริโภค ด้วยการทำสำรวจกลุ่มเป้าหมาย เก็บข้อมูลรายละเอียดของพฤติกรรมผู้ซื้อซึ่งลีวายส์ในไทยไม่ได้ทำเป็นเรื่องเป็นราวนักในช่วงก่อนหน้านี้ เพื่อที่จะดูว่ากลุ่มวัยรุ่นต้องการอะไร และลีวายส์ต้องทำกิจกรรมอะไรให้เข้าถึงกลุ่มเหล่านั้นในอนาคต

ส่วนเรื่องขยายสาขา ปรับปรุงร้าน กลายเป็นรองของลีวายส์ไปในทันที เพราะสิ่งสำคัญเร่งด่วนของลีวายส์ในเวลานี้คือ ทำอย่างไรให้คนรู้จักลีวายส์ ไปเสียแล้ว

Mass เข้าไว้ สไตล์ของ Mc

เมื่อปีที่ผ่านมา Mc แบรนด์กางเกงยีนส์ที่มีรากเหง้าเดียวกันกับ “ซินไฉฮั้ว” บริการรับซักแห้งที่เคยแตกไลน์มาเป็นธุรกิจฟอกและออกแบบยีนส์ ถึงกับต้องเปิดช็อปแบบ Stand Alone ที่ทุ่งสงและปราณบุรี และจะทยอยเปิดช็อปในภูมิภาคต่างๆ อีกว่า 20 แห่งภายในปีนี้ปีเดียว ทั้งๆ ที่ก่อนหน้า Mc มีช็อปแบบ Stand Alone เพียง 3 แห่งเท่านั้น และทั้งหมดอยู่ในกรุงเทพฯ ส่วนที่เหลือเป็นเคาน์เตอร์ที่แฝงอยู่ในห้างกว่า 280 แห่ง

เมื่อนับแล้วจนถึงสิ้นปีนี้ Mc จะมีจุดกระจายสินค้ารวม 300 แห่งในการส่งยีนส์ตัวเองไปขาย เพิ่มขึ้นจากในอดีตชนิดไม่เห็นฝุ่น

แม้ Mc จะเป็นแบรนด์ไทยแท้ ไม่เคยคิดแม้แต่จะส่งออกไปต่างประเทศ แต่หลังจากปีที่ผ่านมาเจ็บตัวกับค่าเงินบาทในการส่งขายที่เวียดนาม แต่ก็มั่นใจว่า ตนนั่งอยู่ในเบอร์สองของตลาดยีนส์ของไทยในปัจจุบัน

ด้วยความเป็นแบรนด์ระดับกลาง ปฏิเสธไม่ได้ว่าความอยู่รอดของ Mc ไม่ได้อยู่ที่จุดกระจายสินค้าเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงการออกแบบสินค้าให้ตรงกับแฟชั่นที่เปลี่ยนเร็วกว่าช่วงปีก่อนหน้า รวมไปถึงการเอาราคาที่ถูกกว่าเข้าสู้

ปีนี้ Mc ทั้งรวมหน่วยงานในองค์กร ตั้งหน่วยงานเพื่อออกแบบของช็อปด้วยตนเอง หันมาใช้แก๊สในกระบวนการผลิตแทนน้ำมันเตา เพื่อลดต้นทุนของการผลิต ส่งผลต่อการคงราคาของสินค้าโดยเฉลี่ยให้อยู่ที่ราวๆ 1,200-1,800 บาท

Mc ยังเพิ่มไลน์กางเกงขาเดฟเข้าร้าน โดยปัจจุบันมีมากถึง 19 รุ่นวางขาย มีการขยายฐานกลุ่มลูกค้าให้กว้าง โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นและกลุ่มผู้หญิง โดยส่งสินค้าแฟชั่นร้านแทบทุกเดือน และหมุนเวียนให้มีอายุในร้านเพียง 3 เดือน ไม่เพียงแค่นั้น แบรนด์ Mc ถึงกับตั้งทีมตลาดแบรนด์แม็คเลดี้ เพื่อดูแลกลุ่มผู้หญิงโดยเฉพาะ เพื่อหวังเอาใจกลุ่มนี้ และปักธงสู้รบปรบมือกับรายอื่นอย่างตั้งใจ

ส่งยีนส์เข้าถึงโลกของหญิง

“ตลาดยีนส์ผู้หญิงมีอัตราการเติบโตถึง 10-15% ขณะที่ยีนส์ผู้ชายเติบโตเพียง 8%” วิสิฐ ผรณาปิติ ผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาด ของบริษัท เซ็นทรัลเทรดดิ้ง จำกัด หรือ ซีเอ็มจี ผู้จัดจำหน่ายยีนส์แบรนด์ Wrangler ในไทย บอกไว้ในงานแถลงข่าวเปิดตัวแคมเปญใหญ่ของ Wrangler เมื่อไม่นานมานี้

ซีเอ็มจี ยอมควักเงินในกระเป๋าร่วมสิบล้านบาทไปกับการประกวดแรงเลอร์ บลู เบลล่า ยีนส์ คอนเทสต์ ตามล่าหา 4 สาว ใส่ยีนส์สวย เพื่อหวังจะใช้เพิ่มเพิ่มสัดส่วนรายได้ของกลุ่มยีนส์ผู้หญิงจากเดิมที่เคยอยู่ที่ 30% เป็น 40% และยิ่งมองเห็นอัตราการเติบโตของกลุ่มคนซื้อผู้หญิงมากยิ่งขึ้น หลังจากกำลังซื้อยีนส์หรือเสื้อผ้าแฟชั่นของผู้หญิงลดลงในช่วงปีที่ผ่านมา

หลังจากที่ในช่วงปี 2547-2548 Wrangler มีรายได้ไม่เติบโตเลยถึงสองปีซ้อน นั่นเป็นเพราะ Wrangler ต้องพบกับปัญหาหนักอกในฐานะของการเป็นแบรนด์ที่คนติดภาพ “ผู้ชาย” ทั้งๆ ที่กระแสของตลาดกลับสวนทาง เพราะผู้หญิงมีกำลังซื้อและสนใจยีนส์อย่างเห็นได้ชัด โดยกลุ่มผู้หญิงนั้นมีอัตราการเติบโตถึง 15% ขณะที่ผู้ชายมีอัตราการเติบโตเพียง 10% ทำให้ Wrangle ต้องหันมาปรับกลยุทธ์อย่างเร่งด่วน

ในช่วงปีที่ผ่านมา Wrangler ปรับกลุ่มเป้าหมายลงจากที่เคยเป็นชายวัยกลางคนมาเป็นหญิงอายุ 16-18 ปี และชายอายุ 20-35 ปีหรือมากขึ้นกว่านั้น กินครอบคลุมกลุ่มวัยรุ่นมากกว่าที่เคยเป็นและวางสินค้าแฟชั่นอย่างหนัก มากกว่าสินค้ากลุ่มปกติ หรือทีเรียกว่า Basic เนื่องจาก กลุ่มผู้หญิงและผู้ชายในปัจจุบันให้ความสำคัญกับยีนส์แฟชั่นมากขึ้นนั่นเอง

โดย Wrangler เชื่อว่าการปรับตัวตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้รายได้ของตนเองเริ่มขยับและไม่ต้องอยู่นิ่งอีกต่อไป และเมื่อเห็นผลการเดินเกมไปข้างหน้าก็ยิ่งทำให้ Wrangler รู้สึกว่าคุ้มค่ากับการลงแรงไม่น้อย

ต่างคนต่างปรับตัว ต่างคนต่างปรับภาพลักษณ์ และกลุ่มเป้าหมาย แม้ตลาดยังเท่าเดิม แต่การปรับตัวเพิ่มของแทบทุกแบรนด์ อย่างน้อยก็ 3 เจ้ายักษ์ในตลาด ทำให้เห็นแล้วว่ากระแสการแข่งขันในตลาดยีนส์นับจากนี้จะคึกคักมากเพียงใด

เลือดใหม่ปั้นแบรนด์ยีนส์

ผู้จัดการฝ่ายการตลาดคนใหม่ของลีวายส์อายุน้อยที่สุดเท่าที่เคยมีมา หน้าตาดี มีดีกรีเคยเป็นถึงอดีตนายแบบ ขณะที่ผู้จัดการฝ่ายการตลาดของ Wrangler เป็นหญิงสาวอายุย่าง 31 ฝั่ง Mc ตัดสินใจแยก Business Unit เพื่อเจาะกลุ่มเลดี้โดยเฉพาะ นี่คือความเปลี่ยนแปลงล่าสุดของธุรกิจยีนส์ของไทย

ปั้นลีวายส์ให้เด็กลง

พรศีล บุทกัสกา หรือ โตโต้ ลูกครึ่งไทยลาวและเสี้ยวจีน แต่ไปเติบโตและถือสัญญาที่ออสเตรเลีย อายุเพิ่งจะก้าวย่าง 33 ปี เคยผ่านทั้งงานเป็นนายแบบ ลงปกนิตยสารแฟชั่นหลายฉบับ และยังเคยทำสัญญาเตรียมออกอัลบั้มกับแกรมมี่มาก่อน

พรศีล ได้รับการจับตาในทันทีเมื่อเปิดตัวในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายการตลาดของลีวายส์ไทย เพราะไม่เพียงแต่อายุยังน้อย แต่ยังจบเท็กซ์ไทล์มาด้วย อีกทั้งยังผ่านประสบการณ์กับแบรนด์เกาหลีอย่างซัมซุงมาก่อน ด้วยการรั้งตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายวิจัยและพัฒนาธุรกิจ หรือแบรนด์ยูนิลีเวอร์ ในฐานะผู้จัดการผลิตภัณฑ์อาวุโส หน่วยธุรกิจภาคพื้นอินโดจีนและมองโกเลีย ทำให้เขาน่าสนใจขึ้นอีกในทันที

ว่ากันว่า พรศีลไม่เพียงแต่มีพื้นฐานของการตลาดที่อาศัยงานวิจัยก่อนขายและอาศัยความหวือหวาเข้าสู้ แต่การขายภาพลักษณ์ของแบรนด์ การขายของก่อนงานแถลงข่าวจริงอย่างที่ซัมซุงเคยทำมาตลอด ทำให้เขาสามารถนำมาปรับใช้กับแบรนด์ลีวายส์ได้ในช่วงเวลานี้

พรศีลยอมรับว่าเขาได้ส่ง Press Release หรือข่าวแจกแคมเปญใหม่ของลีวายส์ออกไปให้สื่อก่อนที่มีจะมีงานแถลงข่าวเกิดขึ้นจริง นั่นเป็นเพราะอานุภาพของการทำ Pre press ที่เขาเคยพบเห็นมาตลอดระยะเวลาที่เคยอยู่ซัมซุง และพบว่สิ่งนี้ได้ผลจริง เช่นเดียวกันกับการยอมใช้เงินไปกับการจัดงานที่เรียกว่า “บิ๊กอีเวนต์” ด้วยหลักง่ายๆ “จัดแล้วไม่ได้อะไรจะจัดทำไม”

เขายังใช้ประสบการณ์ในการทำตลาดกับยูนิลีเวอร์ การทำสำรวจการตลาด ทำวิจัยและลงรายละเอียดเรื่อง Segment มาใช้กับลีวายส์ และเริ่มเก็บข้อมูลของผู้ซื้ออย่างเป็นจริงจัง พอๆ กับการขายภาพลักษณ์ของตัวเองในฐานะของ Brand Ambassador ไปในตัว

Profile

Name : สกุล พรศีล บุทกัสกา
Education :
– วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขา วิทยาศาสตร์สิ่งทอและการจัดการ มหาวิทยาลัยแห่งนิวเซาท์เวลส์ (University of New South Wales) ประเทศออสเตรเลีย
– บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต (MBA) สาขาการตลาดและการจัดการ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Career Hilights
2541 – 2543 เจ้าหน้าที่การตลาด บริษัท ยูนิค เท็กซ์ไทล์ จำกัด
2544 เป็น 1 ใน 3 ผู้สมัครที่ผ่านการคัดเลือกให้เข้าฝึกงานที่ประเทศสิงคโปร์ จากจำนวนผู้สมัครทั้งสิ้นกว่า 500 คน รับผิดชอบงานวิจัยตลาดของผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิว โอเลย์ ในบริษัท พรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล (พีแอนด์จี)
2545 – 2546 ผู้จัดการฝึกหัด บริษัทเอฟเฟ็ม ฟู้ดส์ (ประเทศไทย) จำกัด
2547 – 2548 ผู้จัดการผลิตภัณฑ์สำหรับผลิตภัณฑ์คอมฟอร์ทในทวีปเอเชีย บริษัท ยูนิลีเวอร์ ไทย เทรดดิ้ง จำกัด
2548 – 2550 ผู้จัดการผลิตภัณฑ์อาวุโส หน่วยธุรกิจภาคพื้นอินโดจีนและมองโกเลีย บริษัท ยูนิลีเวอร์ ไทย เทรดดิ้ง จำกัด
2550 – 2551 หัวหน้าฝ่ายพัฒนาธุรกิจ – ธุรกิจสู่ผู้บริโภค (B2C) บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด
ปัจจุบัน ผู้จัดการฝ่ายการตลาด กลุ่มเสื้อผ้าแฟชั่น (ผลิตภัณฑ์ ลีวายส์) บริษัท ดีทแฮล์ม จำกัด

ผู้หญิงของแรงเลอร์

เมื่อ 3 ปีทีแล้ว Wrangler ตัดสินใจรับเมธาพร ธรรมนุวัติ เข้ามานั่งตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายการตลาด ด้วยเหตุผลที่ Wrangler กำลังประสบปัญหาอย่างหนักในการเข้าไม่ถึงกลุ่มผู้หญิงและคนติดภาพของการเป็นกางเกงยีนส์ผู้ชายมากกว่า

ปัจจุบัน เมธาพร จบมาหลายปริญญา หนึ่งในนั้นคือ International Business จากมหาวิทยาลัย University of Wollongong จากรัฐนิวเซาท์เวลส์ ออสเตรเลีย ปัจจุบันอยู่ในวัย 31 ปี อยู่ในฐานะของการเป็น Brand Ambassador ให้กับ Wrangler ไปในตัว เธอมักจะนั่งขนาบข้าง วิสิฐ ผรณาปิติ ผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาดของซีเอ็มจี และตอบคำถามแทนได้อย่างฉะฉาน และกลายเป็นกำลังหลักในการบุกตลาดแฟชั่นในกลุ่มผู้หญิงให้กับ Wrangler

จุดกระจายสินค้า 3 เจ้าหลัก ตลาดยีนส์ไทย

Levies
ช็อป 121 แห่ง ช็อปในห้างสรรพสินค้า 100 แห่ง และ Stand Alone 21 แห่ง

Wrangler
ช็อป 140 แห่ง ช็อปในห้างสรรพสินค้า 138 แห่ง Stand Alone 8 แห่ง

Mc
ช็อป 273 แห่ง ช็อปในห้างสรรพสินค้า 270 แห่ง และ Stand Alone 3 แห่ง

Did you know?
จำนวนเงินของการซื้อยีนส์ต่อหัวต่อครั้งมักอยู่ที่ 1,500-1,800 บาท