กลเกมบะหมี่หมื่นล้าน

ขณะที่ตลาดอาหารกึ่งสำเร็จรูปกำลังคึกคักไปด้วยผู้เล่นรายใหญ่พร้อมรบเต็มที่ เพื่อรับกับวิถีชีวิตที่ต้องเร่งรีบ และประหยัดมากขึ้น เศรษฐกิจขาลงแบบนี้ก็ยิ่งเป็น Opportunity ให้ตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป สินค้าที่ได้ชื่อว่า เป็นดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจ…ยิ่งดัชนีดิ่งลงมากเท่าใด บะหมี่สำเร็จรูปยังคงเป็นทางเลือกของการอิ่มท้องแบบประหยัดสตางค์มากขึ้นเท่านั้น

ในสถานการณ์เช่นนี้ ย่อมผลักดันให้การสัประยุทธ์ของผู้เล่นในตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปร้อนแรงขึ้นเป็นเงาตามตัว กลเกมการตลาดของผู้นำอย่าง “มาม่า” และเบอร์สองผู้ไล่ตามอย่าง “ไวไว” จึงสามารถฉายภาพเทรนด์การแข่งขันในตลาดหมื่นล้านที่ร้อนแรงนี้ได้เป็นอย่างดี

มาม่า รักษาฐาน แก้เกมอืดด้วยนิวโปรดักส์

การที่แบรนด์ “มาม่า” ได้กลายเป็น Generic Name ที่ใครๆ ต่างใช้เรียกขานแทนบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ย่อมสะท้อนความสำเร็จที่ไม่ธรรมดา เพราะแม้ว่ามาม่าจะเข้าตลาดตามหลังผู้เล่นรายใหญ่อย่าง “ยำยำ” และ “ไวไว” แต่กลับทะยานขึ้นกลายเป็นเจ้าตลาดและสามารถครองมาร์เก็ตแชร์เกินครึ่งมาได้อย่างยาวนาน

การขยับตัวของผู้นำเกมอย่างมาม่าจึงเป็นสัญญาณบ่งชี้ได้เป็นอย่างดีว่า ตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปกำลังจะขับเคลื่อนไปในทิศทางใด

MAMA, instant noodles from Positioning Magazine on Vimeo.

จากการศึกษาตัวเลขสถิติการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของคนไทย บวกกับยอดขายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบซองของทุกค่ายที่เริ่มอืดจนเหลืออัตราเติบโตแค่ตัวเลขหลักเดียวต้นๆ ในปี 2546 ทำให้ “เพชร พะเนียงเวช” ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจของ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) เริ่มปรับกลยุทธ์ในการออกสินค้า จากเดิมที่แข่งขันกันออกรสชาติใหม่กันแทบทุกเดือน

ทำให้เขาสรุปบทเรียนได้ว่าโปรดักส์รสชาติใหม่แต่ละตัวต้องใช้งบประมาณ 50 ล้านในการทำตลาด แต่โอกาสประสบความสำเร็จมีแค่ 10% เท่านั้น

ส่งผลให้มาม่าเริ่มหันมาคิดกับการพัฒนารสชาติสินค้ามากขึ้น โดยลดการออกรสชาติใหม่ให้เหลือเพียงปีละไม่เกิน 2 รสชาติ พร้อมกับการหันมาโฟกัสไปที่สินค้าเดิมที่ขายดีอย่างรสต้มยำกุ้ง เพื่อรักษาฐานที่มั่นใหญ่คือบะหมี่รสจัดจ้านที่ผู้เล่นเบอร์สองอย่าง “ไวไว” จ้องเจาะด้วยซับแบรนด์ “ไวไว ควิก” อย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกันก็ซุ่มพัฒนาโปรดักส์ “ถ้วยกระดาษ” จากเดิมที่ใช้ถ้วยพลาสติก ซึ่งได้รับการพิสูจน์ในเวลาต่อมาว่า เป็นการยิงนกหลายต่อ เพราะนอกจากยอดขายจะเติบโตแบบตูมตามเกินร้อยละ 30 ต่อปี หลังจากเปิดตัวไปเมื่อต้นปี 2548 ผู้บริโภคให้การตอบรับเป็นอย่างดีแล้ว

ยังได้ภาพลักษณ์ที่ดีในการใส่ใจสิ่งแวดล้อม แถมช่วยประหยัดต้นทุนในระยะยาว จากการที่มาม่าใช้กลยุทธ์ขยายตัวในแนวดิ่งด้วยการลงทุนเปิดโรงงานกระดาษเป็นของตัวเอง โดยมองว่า เมื่อราคาน้ำมันอาจพุ่งกระฉูดจนทำให้ยากต่อการควบคุมต้นทุนถ้วยพลาสติก ซึ่งก็เป็นจริงตามนั้นในอีกไม่กี่ปีให้หลัง

“เรามองว่าถ้าราคาน้ำมันแพงขึ้นราคาพลาสติกที่ใช้ทำบรรจุภัณฑ์ก็ต้องแพงขึ้น เราจึงเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์เป็นกระดาษและตั้งโรงงานทำเองเพื่อป้องกันไม่ให้ซัพพลายขาดแคลน และยังได้ประโยชน์ในแง่การโฆษณาบนตัวบรรจุภัณฑ์ด้วย”

Trend Setter สไตล์ Blue Ocean

มาม่าเริ่มขยับไปในทิศทางที่สำคัญอีกครั้งในปี 2549 ด้วยการต่อยอดโปรดักส์ใหม่ภายใต้ Sub brand ที่มีชื่อว่า Oriental Kitchen ซึ่งเป็นเส้นบะหมี่สไตล์เกาหลีและญี่ปุ่นที่มีความใกล้เคียงกับบะหมี่เส้นสดขึ้นไปอีกระดับ โดยวาง Positioning ให้สูงกว่าแบรนด์มาม่าทั้งราคาและคุณภาพ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดูพรีเมียมพร้อมๆ ไปกับการกินมาร์จิ้นที่สูงกว่าตามทฤษฎี Blue Ocean ที่กำลังฮิตติดตลาด

“การแข่งเรื่องราคา มันได้ระยะสั้น เพราะคู่แข่งทุกรายต่างเดินอยู่บน SWOT เดียวกัน มี External Factor เหมือนกัน เราจึงพยายามหนี Red Ocean ด้วยการพัฒนาสินค้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าทุกกลุ่ม อันนั้นเป็นการต่อยอดที่ยั่งยืนมากกว่า”

เพชร มองว่า ราคายังคงเป็นตัวแปรหลักในการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค ซึ่งคงหนีไม่พ้นหากต้องการกระตุ้นยอดขายในระยะสั้น ส่วนในอนาคต “มาม่า” จะพยายามออกผลิตภัณฑ์ที่ไม่ต้องเล่นกับเรื่องราคามาก แต่เล่นกับเรื่องคุณค่าของผลิตภัณฑ์มากขึ้น เช่น การเปลี่ยนสโลแกนจาก “มาม่า อร่อย” เป็น “มาม่า อร่อยมีประโยชน์” พร้อมๆ กับการใส่วิตามินและแร่ธาตุเข้าไปเพิ่มคุณค่าให้กับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแต่ละซอง

ยิ่งในภาวะเศรษฐกิจถดถอยเช่นนี้ คู่แข่งบางรายหันไป เน้นเรื่องของ “ปริมาณ” มาม่าเลือกจุดยืนของตัวเอง โดยเน้นเรื่องของคุณค่าอาหาร มาจากการวิจัยผู้บริโภค พบว่า นอกจากผู้บริโภคต้องการรสชาติใหม่ๆ สิ่งที่อยากได้รองลงมาคือ คุณค่าของอาหาร จึงเป็นที่มาของแคมเปญโฆษณา อร่อยมีประโยชน์

“เราเชื่อว่า นี่คือการสร้างความแตกต่าง จากคู่แข่ง ซึ่งยังไม่ได้ทำ และหากคิดจะทำ ก็จะเป็นแค่ผู้ตาม เราสร้างความจดจำให้ผู้บริโภคไปก่อนหน้านั้นแล้ว” สุรัตน์ เกตุรัตนกุล ผู้จัดการฝ่ายผลิตภัณฑ์ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) บอก เขา ประเมินแล้วว่า ยิ่งในภาวะที่สินค้าไม่มีความแตกต่าง ทันกันหมด ทั้งวิวัฒนาการการผลิตทันกันหมด รสชาติ แพ็กเกจ เครื่องจักรก็ซื้อได้เหมือนกัน สิ่งที่จะสร้างความแตกต่างได้ก็คือ ภาพลักษณ์ และรายละเอียด เช่น เรื่องของสารอาหาร

การสื่อสารทางการตลาดในแง่ Emotional จะถูกนำเสนอมากขึ้น เช่น พัฒนาการของโฆษณามาม่ารสต้มยำกุ้งที่เริ่มบอกว่าอร่อยเหมือนคุณแม่ทำให้กิน ต่อมาสื่อว่ามาม่าต้มยำกุ้งเป็นทุกจังหวะของชีวิต ทุกจังหวะที่คุณประสบความสำเร็จจะมีมาม่าต้มยำกุ้งอยู่เคียงข้างเสมอ และไม่นานมานี้เพิ่งเปลี่ยนเป็น Theme ความเป็นที่หนึ่งไม่ใช่ได้มาง่ายๆ เพื่อสื่อถึงความเป็นผู้นำในตลาด เป็นต้น

ล่าสุดมาม่าวางแผนต่อยอดผลิตภัณฑ์ใหม่ภายใต้แนวคิด Blue Ocean อีกครั้ง ด้วยการทำตัวเป็น Trend Setter ชิงเปิดตัวบะหมี่เส้นอบ (Non-fried noodle) ก่อนใครในปี 2552 เพื่อสื่อถึงความเป็นผู้นำตลาดในการพัฒนาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปให้มีความใกล้เคียงบะหมี่เส้นสดเข้าไปอีกระดับ ซึ่งทำให้ได้เรื่องของสุขภาพ เพราะบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปชนิดนี้ไม่ต้องผ่านกระบวนการทอดด้วยน้ำมัน ทำให้ภาพลักษณ์ของแบรนด์มาม่าดูพรีเมียมขึ้น

มาม่า เชื่อว่า ในภาวะเศรษฐกิจขาลง คนจะปริโภคมาม่ามากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนชั้นกลางที่ต้องทำงานแข่งกับเวลา และความไม่แน่นอนในเรื่องของรายได้ ทำให้ต้องประหยัดเงินในกระเป๋า บะหมี่สำเร็จรูปจึงเป็นทางเลือกในการบริโภค

และนั่นหมายความว่า การบุกตลาดพรีเมียมของมาม่าจะยิ่งทวีความคึกคักเข้มข้นขึ้นอีกในปี 2552 เพราะบะหมี่เส้นอบถูกวาง Positioning ไว้ไม่ต่ำกว่า Oriental Kitchen เพียงแต่ตะลุยเจาะกันคนละเซ็กต์เมนต์ คือ Oriental Kitchen เจาะกลุ่มคนที่ชื่นชอบรสชาติสไตล์เกาหลีและญี่ปุ่น ส่วนบะหมี่เส้นอบเจาะกลุ่มคนที่รักสุขภาพ

“มาม่าเปิดเกมก่อน เมื่อทุกคนเห็นว่ามีช่องก็ตามมา คอนเซ็ปต์พรีเมียมแบรนด์ผมเริ่มมา 2 ปีแล้ว ด้วยแบรนด์ Oriental Kitchen คู่แข่งผมเพิ่งเริ่มตามมา ปีหน้าผมขยับไปที่เส้นอบแล้ว ผมบุกตลาดพรีเมียมไปอีกสเต็ปหนึ่งแล้ว เขาตามไม่ทันแน่นอน”

พร้อมๆ กับที่ “เพชร” ตอกย้ำเกมของมาม่าอย่างหนักแน่นว่า “ณ วันนี้แม้ผมเป็นผู้นำ ผมก็ไม่หยุด”

อย่างอื่น แพ้ เส้นไม่แพ้

แม้เรื่องจำนวนรสชาติจะสู้มาม่าไม่ได้ ขณะที่จุดเด่นเรื่องความประหยัดก็เป็นรองยำยำ แต่ในฐานะเบอร์สองก็ย่อมต้องมีทีเด็ด

กฤษณะ ธนธนานนท์ หัวหน้าหน่วยบริหารผลิตภัณฑ์ บริษัท โรงงานผลิตภัณฑ์อาหารไทย จำกัด กล่าวถึงโจทย์ในการทำตลาดของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไวไว ว่า

“ที่ผ่านมา คนมักจะมองว่าการจะมี Movement ทางการตลาด ต้องมีการออกรสชาติใหม่ๆ ซึ่งเรามาคุยกันว่าไวไวมีจุดเด่นเรื่องเส้นที่มีความเหนียวนุ่มไม่อืด ทำไมเราไม่หยิบยกเรื่องเส้นมาเป็นประเด็นสื่อสารกับผู้บริโภค ว่าเส้นแต่ละยี่ห้อไม่เหมือนกัน”

โฆษณาที่มีภาพหญิงสาวเจ้าเนื้อที่นั่งเรียงรายอยู่ในถ้วยบะหมี่ ต่อด้วยด้วยภาพหญิงสาวเอวบางร่างน้อยที่นั่งอยู่ในคอมโพสเดียวกัน จึงสื่อถึง Product Positioning ของ “ไวไว” ว่า “เส้นนุ่มไม่อืด” คือจุดเด่นที่แบรนด์นี้ไม่ยอมเป็นสองรองใคร

ขณะเดียวกันก็เตรียมลุยตลาดพรีเมียมแบบหายใจรดต้นคอมาม่าเข้าไปติดๆ ด้วยการออกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสชาติใหม่ คือ รสหมูแดงฮ่องกง เมื่อปลายปี 51 ที่ผ่านมา โดยใส่เนื้อหมูแดงจริงๆ เข้าไปในซอง พร้อมเซตราคาไว้ที่ 12 บาท เพื่อทดลองชิมลางในตลาดพรีเมียม หลังจากที่ปล่อยให้มาม่าทำตลาดอย่างเดียวดายมานานกว่า 2 ปี

แยกกันตีด้วย Sub brand

นอกจากการเล่นประเด็นเรื่องเส้นไม่อืด ที่เป็นหนึ่งในแผนการสร้างความโดดเด่นให้แบรนด์ไวไว จนคาดหวังว่าจะสามารถยืนตระหง่านขึ้นมาเป็น Generic Name แทนมาม่าได้สักวันหนึ่งแล้ว อาวุธทรงพลังอีกชนิดที่ไวไวนำมาใช้ต่อกรกับมาม่าอย่างได้ผล ก็คือ Sub brand “ไวไว ควิก” ที่เริ่มทำตลาดมาตั้งแต่ปี 2540 และสามารถเพิ่ม Market Share ให้ไวไวได้ถึง 5% ในปี 2545

จากผลวิจัยของค่ายไวไวที่พบว่า ผู้บริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปส่วนมากเป็นกลุ่ม “วัยรุ่น” เพราะฉะนั้น ไวไวจึงวาง Positioning ให้ “ไวไว ควิก” เป็นหัวหมู่ทะลวงฟันเพื่อเจาะตลาดวัยรุ่นให้อยู่หมัด พ่วงด้วย Segment ของคนที่ชอบรสชาติจัดจ้านซึ่งเป็นฐานที่มั่นของค่ายมาม่าที่มีมาม่ารสต้มยำกุ้งเป็นเจ้าตลาด

ไวไว ควิก จึงเปลี่ยนสโลแกนจาก “จัดจ้านสะใจ” เป็น “แสบเข้าเส้น” เพื่อเล่นกับ Emotional ในตัวผู้บริโภค กลุ่มวัยรุ่นซึ่งเป็น Target หลัก โดยสื่อถึง Insight ในตัวผู้บริโภค ที่ไม่ต้องหล่อหรือสวย แต่สามารถมีความแสบในตัวได้ ขณะเดียวกันก็ไม่ทิ้งกลุ่มเป้าหมายรอง คือ กลุ่มผู้ใหญ่ที่บางอารมณ์ก็ไปดูคอนเสิร์ตคาราบาว หรือขับขี่ฮาเล่ย์บนท้องถนน

ล่าสุด ไวไว ควิก ออกรสชาติใหม่คือ “กิมจิชิเก” ที่อิงกระแสเกาหลีฟีเวอร์ โดยวาง Positioning ให้เป็นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปพรีเมียม ออกแบบ Packaging ให้ดูวัยรุ่นทันสมัยด้วยวัสดุชนิดใหม่คือ OPP MAP หรือฟิล์มแบบด้าน มาทดแทน Packaging แบบเดิมที่เป็นพลาสติกธรรมดาและเมทัลไลซ์ ที่แม้ต้นทุนการผลิตจะสูงขึ้น แต่ก็ดูพรีเมียมและอินเทรนด์ขึ้นตามราคาที่เซตไว้ 12 บาท

“ตลาดพรีเมียมจะไม่เน้นแย่งแชร์กับเจ้าตลาดเดิมอย่างมาม่าที่มี Oriental Kitchen ทำตลาดอยู่ก่อนแล้ว แต่จะเน้นขยายตลาดด้วยการสร้างดีมานด์ใหม่ขึ้นมา”

สำหรับกลยุทธ์ของ “ไวไว ควิก” ในปี 2552 จะเน้นการทำตลาดเพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมายให้เข้มข้นขึ้น โดยการใช้แบรนด์ “ควิก” แทน “ไวไว ควิก” เพื่อความคล่องตัวในการทำตลาดและแบ่งเซ็กเมนต์การทำตลาดให้ชัดเจนระหว่างแบรนด์ “ไวไว” ที่มีกลุ่มเป้าหมาย Mass และ “ควิก” ที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นวัยรุ่นที่ทันสมัย เพื่อชนกับเจ้าตลาดอย่าง “มาม่า” ที่ลงมาเล่นกับกลุ่มวัยรุ่นได้ไม่สะดวกนัก เพราะต้องรักษาฐาน Mass ที่เป็นตลาดในภาพรวม

ขณะที่แนวรบด้านการสร้างแบรนด์ก็มีการเปลี่ยน Brand Agency จาก Brainforce ที่ดูแลแบรนด์ให้ไวไวมานานนับสิบปี มาเป็น Y&R ซึ่งเป็นบริษัทท็อปเท็นของไทยในการสร้างแบรนด์ ด้วยโจทย์สุดท้าทายคือ การทำให้ไวไวโค่นบัลลังก์แชมป์ของมาม่าให้ได้ หรืออย่างน้อยต้องทำให้ระยะห่างระหว่างแบรนด์ไวไวและมาม่าเหลือน้อยที่สุด

ส่วนแบรนด์ “ควิก” ก็มีการปรับเปลี่ยน Brand Agency จากบริษัท โอกิลวี่ แอนด์ เมเธอร์ แอดเวอร์ไทซิ่ง มาเป็น Laser Fish ที่ควิกให้เหตุผลว่าแม้จะเป็นบริษัทที่เล็กกว่าโอกิลวี่ แต่มีความยืดหยุ่นกว่า โดยมอบโจทย์ที่สำคัญให้คือต้องเจาะตลาดวัยรุ่นที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของควิกให้ได้

การเปลี่ยน Brand Agency พร้อมกันของทั้งไวไวและควิก จึงเป็นดั่งการส่งสัญญาณลั่นกลองรบที่ทำให้มาม่าต้องคิดหนักไม่น้อย
แต่มาม่าก็คงเบาใจไปได้ส่วนหนึ่งว่า นวัตกรรมเส้นอบที่เตรียมเปิดตัวในปีนี้นั้น ค่ายไวไวยังไม่มีแผนกระโดดลงมาเล่นในปี 2552 คงปล่อยให้เบอร์ 1 อย่างมาม่าลองทำตลาดและทุ่มงบประชาสัมพันธ์ไปก่อน ซึ่งถ้าเวิร์คก็คงกระโจนลงไปลุยแย่งแชร์ตามหลัง เหมือนที่เคยปล่อยให้ Oriental Kitchen ทดลองตลาดพรีเมียมไปสักพัก แล้วไวไวจึงค่อยเล่นบทผู้ตาม ด้วยการแสวงหาจุดเด่นที่แตกต่างในการทำตลาดต่อไป

ส่วนแบ่งการตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปปี 2551 จากมูลค่าตลาดรวมประมาณ 12,000 ล้านบาท
มาม่า 52-55%
ไวไว และ ไวไว ควิก 25-30%
ยำยำ 19-23%

พฤติกรรมการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของคนไทยแยกตามประเภทรสชาติ
รสจัด 68%
รสไม่จัด 32%

3 อันดับรสชาติขายดีของแบรนด์ มาม่า ไวไว และ ควิก
มาม่า ไวไว ควิก
อันดับ 1 ต้มยำกุ้ง ปรุงสำเร็จ (รสดั้งเดิม) ต้มยำมันกุ้ง
อันดับ 2 หมูสับ หมูสับต้มยำหอยลาย ต้มโคล้ง
อันดับ 3 ต้มยำกุ้งน้ำข้น ต้มยำกุ้งน้ำข้น ต้มยำกุ้ง

Brand Target Product
มาม่า แมส ถ้วย 6 รสชาติ
ซอง 10 รสชาติ
เด็ก ต่ำกว่า 15 ปี ถ้วย 2 รสชาติ
คนกินเจ ถ้วย 2 รสชาติ
ซอง 2 รสชาติ
คนรักสุขภาพ ซอง 2 รสชาติ
พนักงานออฟฟิศ ซูเปอร์โบวล์ 2 รสชาติ

ออเรียนทัลคิตเชน พรีเมียมแมส ถ้วย 2 รสชาติ
ซอง 3 รสชาติ

ไวไว แมส ซอง 8 รสชาติ
เส้นหมี่ซอง 2 รสชาติ
เด็ก 8-12 ปี ซอง 1 รสชาติ
คนกินเจ ซอง 2 รสชาติ
พรีเมียมแมส 19-55 ปี ซอง 1 รสชาติ

ไวไว ควิก วัยรุ่น18-25 ปี ซอง 4 รสชาติ
ถ้วย 7 รสชาติ
พรีเมียมวัยรุ่น 18-25 ปี ซอง 1 รสชาติ

Time Line คู่สัประยุทธ์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไทย
2501 บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปถูกคิดค้นขึ้นโดย “โมโมฟูกุ อันโดะ”
2514 โมโมฟูกุ พัฒนาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปชนิดถ้วยขึ้นเป็นรายแรกของโลก
2515 ไวไว และมาม่า เริ่มเข้าสู่ตลาด
2540 ไวไว ออก Sub brand “ไวไว ควิก”
2540 การแข่งขันในตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเน้นการออกรสชาติใหม่
2544 ไวไว รุกตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบถ้วยด้วยแบรนด์ “ไวไว ควิก”
2545 ไวไว เพิ่มส่วนแบ่งตลาดได้ 5% ภายใน 1 ปี
2546 มาม่า ยุติสงครามรสชาติ
2548 มาม่า ออกผลิตภัณฑ์ “ถ้วยกระดาษ” ที่มีอัตราการเติบโตสูงถึงปีละกว่า 30%
2549 มาม่า ออก Sub brand ในชื่อ Oriental Kitchen เพื่อจับตลาดพรีเมียม
มิ.ย. 2551 มาม่า ออกผลิตภัณฑ์ “ซูเปอร์โบวล์” 2 รสชาติ เพื่อจับตลาดพรีเมียม
ต.ค. 2551 ไวไว ออกโฆษณา “เส้นไม่อืด” เพื่อชูจุดต่างเรื่องเส้นที่เหนียวนุ่มไม่อืด
ธ.ค. 2551 ไวไว กระโจนเข้าตลาดพรีเมียม ด้วยการออก 2 รสชาติใหม่
ม.ค. 2552 ไวไว แยกแบรนด์ “ควิก” ออกจากแบรนด์ “ไวไว” เพื่อความคล่องตัวในการทำตลาด
2552 มาม่า ชิงเปิดตัวบะหมี่เส้นอบก่อนใคร

10 อันดับประเทศที่บริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมากที่สุด (ปี 2007)
ประเทศ จำนวน (100 ล้านซอง)
จีน 501.1
อินโดนีเซีย 149.9
ญี่ปุ่น 54.6
สหรัฐอเมริกา 42.4
เวียดนาม 39.1
เกาหลีใต้ 32.2
ฟิลิปปินส์ 24.8
ไทย 22.2
รัสเซีย 16
บราซิล 14.3
ข้อมูลจาก World Instant Noodles Association (WINA)

10 อันดับประเทศที่มีอัตราการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปสูงที่สุดเมื่อเทียบกับจำนวนประชากร (ปี2007)
ประเทศ จำนวน (ซอง/คน/ปี)
อินโดนีเซีย 65.2
เกาหลีใต้ 64.4
เวียดนาม 43.4
ญี่ปุ่น 42
มาเลเซีย 40.7
จีน 37.7
ไต้หวัน 37
ไทย 31.7
สิงคโปร์ 30
ฟิลิปปินส์ 27.6
ข้อมูลจาก World Instant Noodles Association (WINA)