Functional Drinks แรงเพราะ “Marketing” หรือ “Demand”

นิยามอย่างง่ายของ Functional Drink ก็คือเครื่องดื่มที่ให้ Benefit กับร่างกายของผู้ดื่มไม่ว่าจะเพื่อช่วยย่อยอาหาร ผิวสวย บำรุงสมอง ทั้งหมดล้วนจัดอยู่ใน Functional Drink ทั้งสิ้น

แม้มีความพยายามอย่างมากในการรวบรวมมูลค่าตลาด แต่ดูเหมือนว่าความคลุมเครือของเครื่องดื่มประเภทนี้ในเมืองไทยซึ่งเป็นเซ็กเมนต์ที่เกิดขึ้นไม่นาน ที่อาจครอบคลุมไปถึงน้ำผลไม้ และเครื่องดื่มประเภทนม หรือแม้กระทั่งน้ำอัดลม 0 แคลอรี ทำให้ภาพรวมตลาดที่ออกมาไม่ค่อยชัดเจนมากนัก

มีเพียงบริษัท ที.ซี. ยูเนี่ยน โกลบอล ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เล่นของ Functional Drink ที่มุ่งเน้นในเรื่องความสวยงาม ออกมาให้รายละเอียดเกี่ยวกับมูลค่าตลาดนี้ว่า ในปี 2551 มูลค่าตลาด Functional Drink น่าจะอยู่ที่ 2,000 ล้านบาท โดยแต่ละปีมีอัตราการเติบโตมากกว่า 100%

ขณะที่ทิปโก้ ซึ่งกลายเป็นผู้เล่นใหม่ในตลาดหลังจากส่งเครื่องดื่มดาการะสู่ตลาดไม่นาน ก็คาดว่ากระแสคนใส่ใจสุขภาพที่ยังค้นหาวิธีใหม่ๆ เพื่อดูแลสุขภาพท่ามกลางไลฟ์สไตล์ที่ต้องใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบ โดยคาดว่าสิ้นปี 2552 ตลาดรวมเครื่องดื่ม Functional Drinks จะมีมูลค่าประมาณ 2,400 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม การเติบโตของตลาดแบบก้าวกระโดดน่าจะเกิดจากการมีผู้เล่นเข้ามาในตลาดนี้อย่างต่อเนื่อง ตามกระแสสุขภาพที่ไม่มีทีท่าว่าจะจางหายในเร็ววัน มากกว่าการขยายตัวของผู้บริโภคในวงกว้าง

ในต่างประเทศ Functional Drink ถูกแบ่งออกเป็น 4 ประเภทใหญ่ๆ ด้วยกัน ประกอบด้วย 1.Enriched Beverages อย่างเช่น น้ำผลไม้ และน้ำที่มีวิตามินผสม 2.Sport Drinks 3.Energy Drinks และ Nutraceuticals หรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมเพื่อให้ประโยชน์ทางร่างกายหรือทางการแพทย์โดยเฉพาะ ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การย่อยอาหารและดีท็อกซ์ จนถึงการช่วยลดคอเรสเตอรอลในเส้นเลือด และทำให้ดูอ่อนวัยขึ้น

แต่ตลาด Functional Drinks ในไทยไม่ได้นับรวมเครื่องดื่มประเภท Sport และ Energy Drinks รวมอยู่ด้วย ทำให้เหลือเพียงแค่สองเซ็กเมนต์ใหญ่ๆ เท่านั้น

ในเซ็กเมนต์ Enriched Beverages เต็มไปด้วยผู้เล่นระดับบิ๊กเพลเยอร์ที่ต่างพากันร่วมเกาะกระแสเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพกันในเซ็กเมนต์นี้กันถ้วนหน้า

เริ่มจากยูนิฟ ที่ปล่อยยูนิฟ ไอเฟิร์ม เข้าสู่ตลาดเป็นรายแรก โดยเรียกตัวเองว่า เครื่องดื่ม Functional Sport น้ำผลไม้ที่มีส่วนผสมของแอล-คาร์นิทีน (L-Carnitine) ตามมาด้วยเครื่องดื่มอะมิโน-โอเค จากโออิชิ ที่มีส่วนผสมของกรดอะมิโน

เมื่อมีทั้งค่ายใหญ่ทั้งในและต่างประเทศร่วมเล่นในเซ็กเมนต์นี้ โคคา-โคลา ก็ไม่ยอมพลาดขบวนเช่นกัน โดยส่ง อไลฟ์ เครื่องดื่มสปาร์คลิ่ง ผสมน้ำผลไม้และวิตามิน รวมทั้งสิงห์ คอปอเรชั่น กับบีอิ้ง เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพแนวใหม่ที่ได้ไอเดียจากพันธมิตรอย่างอาซาฮี ที่มีเครื่องดื่มประเภทนี้อยู่ในพอร์ตและได้รับความนิยมมากในญี่ปุ่น และปิดท้ายด้วย ดาการะ ที่วางตำแหน่งสินค้าเป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพที่สมดุล

แม้ยังไม่มีแบรนด์ไหนประสบความสำเร็จในเซ็กเมนต์นี้อย่างชัดเจน แต่ทุกค่ายก็ยังสู้กันอย่างเหนียวแน่น มีเพียงอไลฟ์ จากค่ายโคคา-โคลาเท่านั้นที่ถอดใจไปก่อน

ส่วนเซ็กเมนต์ Nutraceuticals นั้น ปีที่ผ่านมาดูจะได้รับความนิยมจากผู้ผลิตต่างๆ เป็นจำนวนมาก และทยอยเปิดตัวสินค้ากันค่อนข้างคึกคัก โดยเฉพาะ Beauty Drinks และอาหารสมอง

สำหรับ Beauty Drinks มีบริษัท ทรัพย์อนันต์ เยนเนอรัลฟู้ด จำกัด เป็นผู้บุกเบิกตลาดรายแรกๆ และถือเป็นรายใหญ่ในตลาดนี้ ด้วยผลิตภัณฑ์เซปเป้ บิวตี้ดริงค์ ตั้งแต่ปี 2549 ซึ่งเป็นน้ำผลไม้ที่มีส่วนผสมของคอลลาเจน เพื่อเอาใจสาวรักผิว และส่วนผสมของใยอาหารและแอล-คาร์นิทีน เจาะกลุ่มผู้ที่ห่วงใยในรูปร่าง หลังจากนั้นจึงออกแบรนด์บิวติชอต ผสมคอลลาเจนและไฟเบอร์ กับสูตรโคเอ็นไซม์คิวเท็น และไลโคปีน และ ST.ANNA เครื่องดื่มผสมคอลลาเจน และโคเอ็นไซม์คิวเท็น เพื่อเพิ่มเติมความหลากหลายให้กับพอร์ตเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ

ก่อนที่สหพัฒนพิบูลย์จะเพิ่มความคึกคักให้กับตลาดผ่านแบรนด์ ไอ-เฮลท์ธี คิวเท็น เครื่องดื่มเสริมอาหาร โคเอ็นไซม์ มุ่งเจาะกลุ่มผู้หญิง เจาะกลุ่มเป้าหมายคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจสุขภาพทั้งผู้หญิงและผู้ชายอายุตั้งแต่ 25 ปีขึ้นไป ตามมาด้วยการรีโพสิชันนิ่งของเครื่องดื่ม บริ๊งค์ และเวคกี้ ของที.ซี. ยูเนี่ยน โดยบริ๊งค์ วางตำแหน่งเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อความงาม ขณะที่เวคกี้ รีลีฟ ตั้งเป้าเป็นเครื่องดื่มดีท็อกซ์ หรือล้างสารพิษ

ส่วนฝั่งอาหารสมองก็แข่งขันอย่างรุนแรงในปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะเบรนฟิตจากอายิโนะโมะโต๊ะ คาลพิส เบเวอเรจ และเปปทีน จากค่ายโอสถสภา ที่ทุ่มงบการตลาดมากกว่า 400 ล้านบาทในการสร้างสินค้าให้เป็นที่รู้จักของผู้บริโภคในวงกว้าง และยังมี Smatishot จากทรัพย์อนันต์ฯ ที่เปิดตัวสินค้าในตลาดนี้อย่างเงียบๆ

ทั้งหมดล้วนเป็นผู้เล่นหลักในตลาด Functional Drinks ที่มีความเชื่อมั่นว่ากระแสสุขภาพจะช่วยผลักดันให้ตลาดนี้เติบโตได้อย่างสวยงาม แต่ด้วยราคาที่ค่อนข้างสูงตั้งแต่ 20 – 50 บาท และผู้บริโภคไม่ได้รู้สึกถึงประโยชน์ในทันที ซึ่งสวนทางกลับสภาพเศรษฐกิจที่ส่งผลถึงการระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น อาจกลายเป็นกับดักของ Functional Drinks ได้ในอนาคต