ส่งนม “พรีเมียม” เพิ่มแชร์ตลาด

ในชั้นตู้เย็นที่วางกล่องนมพาสเจอร์ไรซ์ที่เคยมีแต่กล่องสีฟ้า สีเขียว สีน้ำตาล สีชมพูมานานนับสิบปีของ “ซีพี-เมจิ” ภายในไตรมาส 2 นี้ จะเห็น “กล่องสีทอง” เข้ามาต่อแถวเพื่อให้ลูกค้าเลือกซื้อด้วยจุดเด่นที่มีสารอาหาร และรสชาติเข้มข้นกว่าเดิม

นี่คือแผนการส่งผลิตภัณฑ์ใหม่ในกลุ่มนมพาสเจอร์ไรซ์ระดับ “พรีเมียม” เอาใจเซ็กเมนต์วัยรุ่น วัยทำงานของซีพี-เมจิล่าสุด เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งตลาดนมพาสเจอร์ไรซ์เพิ่มจาก 51% เป็น 53%

ความเป็น “พรีเมียม” จะเป็นจุดขายสำหรับทั้งสองเซ็กเมนต์ โดยเน้นคุณภาพ ให้สารอาหาร มีความเข้มข้น เพราะรีดน้ำออกมากขึ้น เพราะแนวโน้มพฤติกรรมผู้บริโภคให้ความสนใจดื่มนมที่ให้คุณประโยชน์มากขึ้น

นี่คือธงสำคัญสำหรับซีพี-เมจิในปี 2009 ที่ตั้งบริษัทมาครบ 20 ปี ซึ่ง “ไพศาล จงบัญญัติเจริญ” กรรมการผู้จัดการ บริษัทซีพี-เมจิ จำกัด บอกว่า ฝ่ายผู้ถือหุ้นญี่ปุ่นให้โจทย์มาแล้วว่าส่วนแบ่งตลาดพาสเจอร์ไรซ์ต้องเพิ่มขึ้น แม้ซีพี-เมจิมีส่วนแบ่งตลาดสูงสุดอยู่แล้วก็ตาม

ที่ผ่านมาการเพิ่มขึ้นแต่ละเปอร์เซ็นต์ค่อนข้างยาก อย่างปี 2549-2550 ก็สามารถเพิ่มส่วนแบ่งได้เพียง 1% จาก 49% เป็น 50% จากผลการโฆษณาอย่างหนัก แต่ปีนี้จะเพิ่มอีก 2% จำเป็นต้องออกสินค้าตัวใหม่ ซึ่งเป็นเวลาที่เหมาะกับเทรนด์ของไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคที่ต้องการดื่มนม หรือเครื่องดื่มให้สารอาหารมากขึ้น ซึ่งเห็นได้จากทิศทางของ Functional Drink ที่มีอยู่อย่างหลากหลายในตลาด

“ซีพี-เมจิ ต้องขยับ เพราะหากนิ่งเฉย ไม่เพียงส่วนแบ่งไม่เพิ่ม แต่อาจหายไปในที่สุด”

นอกเหนือจากนี้ในเครือของซีพี-เมจิ ยังมีผลิตภัณฑอีก 2 กลุ่ม คือกลุ่มโยเกิร์ต และกาแฟ โดยโยเกิร์ต ที่มี 3 ประเภท คือCulture Yogurt คือนมเปรี้ยวที่มีเชื้อจุลินทรีย์, Soft Yogurt โยเกิร์ตถ้วย และ Drinking Yogurt นมเปรี้ยว ซึ่งกลุ่มนี้จะมีโยเกิร์ตถ้วยตัวใหม่มาวางตลาดที่รสชาติดีขึ้น หวานลดลง เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งในตลาด Soft Yogurt ที่ซีพี-เมจิทำได้ดีอยู่แล้วหลังจากวางตลาดผลิตภัณฑ์เน้นเรื่องความงามตั้งแต่ปี 2008 และอีกกลุ่มคือกาแฟ เพิ่งเริ่มต้นแต่กำลังดีไซน์ถ้วยกาแฟใหม่ เพื่อให้ถูกใจวัยรุ่นมากขึ้น

การรุกในรอบนี้ใช้งบการตลาดประมาณ 100 ล้านบาท จากปี 2008 ใช้งบเพียง 30-40 ล้านบาทเท่านั้น ส่วนตัวเลขรายได้จะเติบโตแค่ไหน “ไพศาล” บอกว่ายังต้องลุ้นว่าจะถึงหลัก 10% หรือไม่ แต่ที่แน่ๆ การเปิดตัวโปรดักส์ใหม่ทั้งนทพาสเจอร์ไรซ์และ Soft Yogurt นอกจากเพิ่มผลิตภัณฑ์ในตลาดแล้ว ยังเป็นการตอกย้ำแบรนด์ ซีพี-เมจิให้กลุ่มเป้าหมาย มี Brand Awareness เพิ่มขึ้นเป็น 90% จากปัจจุบันอยู่ที่ 70% เท่านั้น

ผลิตภัณฑ์นม มูลค่าตลาดรวม (ล้านบาท) มูลค่าของซีพี-เมจิ (ล้านบาท)
นมยูเอชที 10,000 ไม่มีผลิตภัณฑ์
พาสเจอร์ไรซ์ 3,500 2,000
Culture Yogurt 8,000 500
(ยาคูลท์มีส่วนแบ่งเกิน 50%)
Soft Yogurt 2,500 400
(ดัชมิลค์ส่วนแบ่ง 60%)
Drinking Yogurt 1,500 100
(ดัชมิลค์ส่วนแบ่งเกิน 50%)

ที่มา : ซีพี-เมจิ

Did you know?
คนไทยดื่มนมเฉลี่ย 13 ลิตรต่อคนต่อปี ซึ่งน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ที่ดื่ม 50 ลิตร มาเลเซีย 20 ลิตร การดื่มนมน้อยเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนไทยเป็นโรคกระดูกพรุนมากกว่า
ที่มา : ซีพี-เมจิ

ส่วนแบ่งตลาดนมพาสเจอร์ไรซ์ (ณ สิ้นปี 2008)
1.ซีพี-เมจิ 51%
2.โฟรโมสต์ 27%
3.ดัชมิลค์ 10%
4.โชคชัย 10%
5.ที่เหลืออื่นๆ